'Speed 5G-ไฮบริด' กรอบงานใหม่หนุนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
วช.เปิดเวทีเสวนาดึงนักวิชาการสายสังคม สายเศรษฐศาสตร์และภาคอุตสาหกรรม แชร์ไอเดียวางกรอบวิจัยไทยตอบโจทย์ท้าทายขับเคลื่อนระบบวิจัยไทยหนุนยุทธศาสตร์ชาติ ส.อ.ท.ระบุนักวิจัยรุ่นใหม่ต้อง “ไฮบริด” เร็วและรู้ทุกศาสตร์ที่ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จับมือบรรดานักวิจัย ร่วมเปิดมุมมองในการเสวนา New NRCT:Next Research Challenges to Transformation ความท้าทายของการวิจัยเพื่อการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านสังคม การเกษตร และเทคโนโลยี เพื่อให้การวิจัยและนวัตกรรมเป็นระบบและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ที่ต้องการพัฒนาให้ไทยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันบนเวทีโลกที่กำลังขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยเทคโนโลยี
ศ.สนิท อักษรแก้ว ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า ในสภาวการณ์ที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จําเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทบทวนกรอบการวิจัยและพัฒนา เพื่อปรับเปลี่ยนให้ก้าวทันต่อสภาวการณ์โลกและสามารถขับเคลื่อนประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมใน 7 ประเด็นหลัก คือ 1.การจัดทำฐานข้อมูลสารสนเทศงานวิจัยที่สมบูรณ์ เพื่อให้รู้สถานะของงานวิจัย 2.การพยากรณ์และตั้งโจทย์งานวิจัยล่วงหน้า 3.สร้างนักวิจัย ที่สามารถนำงานวิจัยมาใช้ในภาคอุตสาหกรรมได้อย่างแท้จริง อีกทั้งต้องปลูกฝังให้มี Passion และความรู้ที่หลากหลาย 4.การลงทุนวิจัย ที่จะต้องดึงนักธุรกิจหรือผู้ประกอบการเข้ามามีส่วนร่วมกับงานวิจัย ซึ่งจะส่งผลให้เกิดนวัตกรรมที่สามารถยกระดับภาคอุตสาหกรรมในประเทศ 5.การนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่าและตรงจุด 6.กฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยมีข้อจำกัดสูง จึงต้องหาวิธีการที่ทำให้กฎระเบียบคล่องตัวมากยิ่งขึ้น 7.การประเมินผล จะต้องมีการพิจารณาอย่างจริงจังว่า นวัตกรรมและงานวิจัยในอดีตจนถึงปัจจุบัน สอดคล้องกับนโยบายของประเทศ และมีการนำไปใช้ประโยชน์จริงอย่างไรบ้าง
ด้าน ศ.มิ่งสรรพ์ ขาวสะอาด ประธานมูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่จะช่วยส่งเสริมการวิจัยในอนาคต ดังนี้ 1.แก้ไขจุดอ่อนด้านการศึกษาด้วยโครงการวิจัยในโรงเรียน 2.ควรจัดการความรู้และประเมินผลตอบแทนจากการวิจัยเป็นระยะ เพื่อให้ได้แนวทางที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของสังคม 3.กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ควรตั้งตัวชี้วัด (KPI) ที่เชื่อมโยงกันทั้งในระดับบุคคลและระดับสถาบันการศึกษาที่ทำผลงานวิจัยรับใช้สังคมและอุตสาหกรรม 4.รัฐบาลอาจสร้างแรงจูงใจโดยให้มี Block grant เป็นรางวัลสำหรับหน่วยงานวิจัยที่มีผลงานความคุ้มค่าสูง 5.รัฐอาจพิจารณาเก็บค่าธรรมเนียมสินค้าส่งออกจากสินค้าเกษตรมูลค่าสูงเพื่อนำมาเป็นกองทุนเพื่อการวิจัย 6.ควรจัดทำแนวทางการคิดค่าตอบแทนเทคโนโลยีจากการลงทุน R&D ในมหาวิทยาลัย
“ประเด็นวิจัยในอนาคตที่ควรให้ความสำคัญ คือ บูรพาภิวัฒน์ซึ่งเป็นการศึกษาจีนและอินเดียที่ขณะนี้ก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีและงานวิจัย, การท่องเที่ยว จะต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อบูรณาการอย่างตรงจุด ไม่ใช่จะส่งเสริมในเชิงพื้นที่เท่านั้น, สังคมสูงวัย เช่น ผลิตภัณฑ์ทางการเงินเมื่อเข้าสู่สูงวัย, ความเหลื่อมล้ำที่จะช่วยเกษตรกรให้เข้าถึงข้อมูล เงินทุนและเทคโนโลยี, การศึกษาต้องก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัย 4.0 และสุดท้ายคือ การปฏิรูประบบราชการไทย”
เปิดเส้นทางต่อยอดสู่ภาคธุรกิจ
ทางด้านผู้ประกอบการ สุวิทย์ ธรณินทร์พานิช เลขาธิการกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 ปี 2504 ประเทศไทยได้พัฒนาอย่างต่อเนื่องจนสามารถหลุดพ้นความยากจน แต่เมื่อก้าวขึ้นมาเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางแล้ว กลับไม่สามารถก้าวต่อไปเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่มีรายได้สูง เกิดภาวะ “สุญญากาศของการพัฒนา” เพราะแนวทางการพัฒนาแบบเดิมที่เคยใช้ได้ผลนั้นใช้ไม่ได้อีกต่อไป
ดังนั้น จึงต้องมี Speed เพื่อที่จะขับเคลื่อนประเด็นเหล่านี้ ท่ามกลางเทคโนโลยี อุตสาหกรรมและภาคธุรกิจ ส่วนด้านของอุตสาหกรรมพลังงานโลก ปัจจุบันมีการเปลี่ยนกลไกของระบบไฟให้ครัวเรือนผลิตเองได้ แบตเตอรี่มีราคาถูกลง เกิดพลังงานจากแหล่งอื่นๆ เรียกได้ว่าพลังงานดีมานด์และซัพพลายเท่าเทียมกัน จึงต้องมีระบบการบริหารจัดการ มี IoT แพลตฟอร์มพลังงานดิจิทัล มีระบบที่สามารถควบคุมได้ทั้งหมด
“เหล่านี้คือระบบธุรกิจและอุตสาหกรรมใหม่ที่เพิ่งกำเนิดมาไม่นาน นับว่าคือช่องว่างที่สามารถสร้างสรรค์งานวิจัยให้เกิดขึ้นได้และพลิกโฉมประเทศได้ในที่สุด ดังนั้น การขับเคลื่อนให้งานวิจัยสำเร็จผล เราจึงต้องเป็น “ไฮบริด” รู้ทุกอย่างในอุตสาหกรรมและเน้นความเร็ว เช่น งานวิจัยหลายชนิดที่ต้องใช้ระยะเวลานาน ก็ต้องปรับเปลี่ยนให้เร็วขึ้น หากมองในภาพอุตสาหกรรมไม่มีเทคโนโลยีไหนที่สำเร็จ 100% เช่นเดียวกันกับงานวิจัยไม่ควรรอให้สำเร็จ 100% แต่ต้องนำมาใช้งานก่อนแล้วค่อยๆ ต่อยอดจนเกิดผลสำเร็จในที่สุด เพราะโลกไม่มีเวลาให้กับการรอคอยอีกต่อไป"
‘วช.’แจงทิศทางวิจัยใหม่
ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า ในปี 2563 รับภารกิจที่สำคัญคือ 1.จะต้องเปลี่ยนจากการ “ได้ทำ” เป็นการ “ทำแล้วเกิดผล” 2.แต่ละหน่วยงานที่เป็นหน่วยงานหลักในการให้ทุนจะรับผิดชอบประเด็นนั้นๆ เพื่อให้เกิดผลจากการดำเนินงาน 3.ประสิทธิภาพและประสิทธิผลการดำเนินงานจะเร็วขึ้นกว่าเดิม
วช.ได้รับมอบหมายให้เป็น Funding Agency หลักของประเทศ ทำหน้าที่ในการให้ทุนวิจัยและนวัตกรรมแก่หน่วยงานในระบบวิจัยและสถาบันอุดมศึกษา ครอบคลุมทั้งการวิจัยพื้นฐาน วิจัยประยุกต์ ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ รวมทั้งสหสาขาวิชาการ โดยผลการวิจัยจะต้องมีเป้าหมายของผลผลิตและใช้ประโยชน์ได้จริง มุ่งเน้นความสอดคล้องกับกลุ่มเรื่องหลัก รวมถึงเป้าหมายในระดับผลผลิตและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในด้านความคุ้มค่า มีคุณภาพ เวลา และต้นทุน ตลอดจนมีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน
วช.มีบทบาทหน้าที่ใหม่ 7 ด้านคือ 1.ให้ทุนวิจัยและนวัตกรรมหลักของประเทศ ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ทั้งภายในและภายนอกกระทรวงการอุดมศึกษาฯ 2.ขับเคลื่อนโครงการริเริ่มสําคัญของประเทศ 3.จัดทําฐานข้อมูลและดัชนี ว & น 4.จัดทํามาตรฐานและจริยธรรมการวิจัย 5.การส่งเสริมและถ่ายทอดความรู้เพื่อใช้ประโยชน์ 6.สนับสนุนการพัฒนาบุคลากร ว & น 7.ให้รางวัล ประกาศเกียรติคุณบุคคลหรือหน่วยงาน
ที่ผ่านมาการบริหารจัดการงบประมาณวิจัยของประเทศอยู่ที่ประมาณ 1 พันล้าน ซึ่งกลไกใหม่ที่อยู่ในภารกิจปี 2563 คาดการณ์ปริมาณกรอบวงเงินงบประมาณไว้ที่ 2.5 พันล้านบาท เพื่อเป็นทุนวิจัยให้สอดคล้องกับนโยบาย และสำหรับการวิจัยที่จะให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นนั้นจะมีเรื่องพลังงานหมุนเวียน โดยใช้พลังงานชีวภาพ และเนื่องจาก วช.มีหน้าที่ดูแลระบบข้อมูลของระบบการวิจัยทั้งหมดของประเทศ ดังนั้น ในปี 2563 จึงได้รับภารกิจที่สำคัญคือ 1.จะต้องเปลี่ยนจากการได้ทำเป็นการทำแล้วเกิดผล 2.แต่ละหน่วยงานที่เป็นหน่วยงานหลักในการให้ทุนจะรับผิดชอบประเด็นนั้นๆ เพื่อให้เกิดผลจากการดำเนินงาน 3.ประสิทธิภาพและประสิทธิผลการดำเนินงานจะเร็วขึ้นกว่าเดิม”
ปัจจุบัน วช. มีความพร้อมในวิธีการทำงานแบบใหม่ โดยได้ยกระดับการทำงานตามภารกิจใหม่โดยแนวทาง “วช.5G” ประกอบด้วย Speed ทำงานได้รวดเร็วขึ้น Start เริ่มทำงานได้ทันที ตอบสนองฉับพลัน Scope ขยายขอบข่ายการทำงาน ในระดับชาติ และนานาชาติ Connectivity เชื่อมโยงการทำงานระหว่างหน่วยงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ Efficient ทำงานคุ้มค่า ใช้ต้นทุนต่ำ ได้ผลผลิตสูง Smooth ลดขั้นตอนการทำงานที่ไม่จำเป็น และทำงานโดยไม่มีข้อจำกัด ซึ่งแนวทางทำงาน 5G ดังกล่าว วช. จะเป็นส่วนราชการที่มีประสิทธิภาพสูง รวดเร็ว คล่องตัว เชื่อมโยงนโยบายสู่การปฏิบัติได้ทันที