'เอ็นไอเอ'ผนึกองค์กรระดับโลก เปิดวิชั่น 'นวัตกรรมบริการ' สู่ภาครัฐ

'เอ็นไอเอ'ผนึกองค์กรระดับโลก เปิดวิชั่น 'นวัตกรรมบริการ' สู่ภาครัฐ

'เอ็นไอเอ' ดึงองค์กรระดับโลกร่วมเปิดวิชั่นนวัตกรรมบริการภาครัฐในงาน "GovInsider Live 2019" ชูโมเดลใหม่ปรับโฉมการทำงานระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการคิดค้นและออกแบบโอกาสใหม่ๆ ร่วมกัน เป้าหมายเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับ คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (UNESCAP) และ GovInsider จัดงาน "GovInsider Live 2019" ณ ศูนย์ประชุมองค์การสหประชาชาติ (UNCC) เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมจากทั่วโลก และแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการบริหารจัดการองค์กรภาครัฐในมิติและประเด็นต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพสูงด้วยนวัตกรรม

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า "กัฟอินไซเดอร์ ไลฟ์" มีการจัดขึ้นที่ประเทศสิงคโปร์มาเป็นเวลา 3 ปี ซึ่งนับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง โดยครั้งนี้เป็นปีแรกที่มีการนำมาจัดขึ้นในประเทศไทย เนื่องจากไทยมีการเติบโตด้านนวัตกรรมและเกิดความตื่นตัวอย่างกว้างขวางเรื่องวิสัยทัศน์นวัตกรรมของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในระดับภูมิภาค ซึ่งภายในงานมีกิจกรรมสำคัญที่เป็นประโยชน์อย่างมากในการพัฒนาหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น

การบรรยายความรู้และเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากนวัตกรและผู้บริหารที่ที่มีชื่อเสียงด้านการบริหารจัดการองค์กรนวัตกรรมภาครัฐ อาทิ เจ้าหญิงซีคันยีโซ ดลามีนี รัฐมนตรีด้านเทคโนโลยีข้อมูลและการสื่อสาร จากราชอาณาจักรแห่งเอสวาตินี

การเปิดตัวนวัตกรรมเพื่อการบริการภาครัฐและการแสดงตัวอย่างผลงานความร่วมมือในภารกิจเฉพาะที่มีเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อให้เห็นการทำงานระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการคิดค้นและออกแบบโอกาสใหม่ๆ ร่วมกัน อาทิ Google เปิดตัวผลงานใหม่ล่าสุดเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ (AI: Artificial Intelligence) ในการให้บริการสาธารณะ และการเปิดแพลทฟอร์มบริการใหม่ของ Amazon Web Services, Cisco, Visa 

การจัดแสดงธุรกิจของผู้ประกอบการสตาร์ทอัพของไทย เพื่อนำเสนอโซลูชั่นใหม่ๆ ให้กับนักลงทุนและผู้เข้าร่วมงานจากทั่วภูมิภาคที่จะสามารถนำผลิตภัณฑ์และบริการของไทยไปปรับใช้ในองค์กร ไม่ว่าจะเป็น Diamate แอปพลิเคชั่นเพื่อการควบคุมและรักษาสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานให้สามารถรักษาตนเองได้ที่บ้าน Lumio 3D ระบบสแกนหน้า 3 มิติ เพื่อใช้ในการออกแบบใบหน้าและขึ้นชิ้นงานประเภทต่างๆ อีกทั้ง System Stone แพลตฟอร์มเพื่อการแจ้งเตือนและวางแผนการซ่อมบำรุงรักษาในโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ซึ่งบริการต่างๆเหล่านี้สามารถนำไปใช้ได้ในหลากหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็น โรงพยาบาล หน่วยงานที่ให้บริการด้านโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งการจัดประชุมหรือแสดงผลงานของภาครัฐ เป็นต้น

1572443527100

พร้อมกันนี้ยังมีพิธีมอบรางวัล GovInsider Innovation Award เพื่อยกย่องความสำเร็จด้านการบริการสาธารณะระดับโลก สำหรับผู้ที่กล้าเสี่ยงที่จะลงมือทำโครงการใหม่ๆ สามารถเชื่อมโยงและสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐและประชาชนได้เป็นผลสำเร็จ ทั้ง 9 รางวัล คือ 

1. รางวัล Best Adaptation ได้แก่ Desa Digital (Digital Village) เทคโนโลยีจากอินโดนีเซีย ช่วยให้การทำฟาร์มในชนบท 2. รางวัล Best Citizen Engagement Project ได้แก่ Access 2 Information (A2I)'s '333' project แพลตฟอร์มวิดีโอคอลจากบังคลาเทศที่ช่วยให้รัฐบาลและประชาชนสื่อสารกันง่ายขึ้นแม้ในพื้นที่ห่างกัน 3. รางวัล Best Team Under 35ได้แก่ The Jabar Digital Service (JDS) จากอินโดนีเซีย ที่รวมคนรุ่นใหม่กว่า 60 คน มาพัฒนานวัตกรรมเพื่อการบริการให้ภาครัฐ 4. รางวัล Best Use of UI and UX Design ได้แก่ The National Informatics Centre of India ผู้พัฒนาเว็บไซต์สำหรับการบริการภาครัฐ ซึ่งมีข้อมูลของเมืองกว่า 600 เมืองในอินเดีย และมีถึง 18 ภาษาให้เลือกใช้บริการ 5. รางวัล Best Use of Dataได้แก่ Singapore's Ministry of Manpower (MOM) ใช้เทคโนโลยีในการรวบรวมข้อมูล และมาวิเคราะห์บริษัทต่าง ๆ เกี่ยวกับการจ้างงานชาวต่างชาติ 6. รางวัล Best Drones and Robotics Project ได้แก่ Public Service Division's (PSD) จากสิงคโปร์ ที่ใช้Robotic Process Automation (RPA) ในการพัฒนาศักยภาพบุคลากร 7. รางวัล Best Risk ได้แก่ Singapore's Home Team Academy แพลตฟอร์มเทรนนิ่งการจัดการความเสี่ยงแบบ 3D 8. รางวัล Rising Star ได้แก่ The Mandalay City Development Committee พัฒนาเซนเซอร์จัดการปัญหาท่อน้ำรั่วในพม่า 9. รางวัล Inspirational Leader ได้แก่ Ridwan Kamil, ผู้ว่าราชการWest Java ประเทศอินโดนีเซีย ผู้เปลี่ยนเมือง West Java ในเป็นเมืองแห่งดิจิตอล โดยมีแผนงานกว่า 700 โปรแกรม ในระยะเวลา5 ปี

ดร.พันธุ์อาจ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาประเทศไทยมีการปรับตัวด้านนวัตกรรมเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายในหลาย ๆ ด้าน ได้แก่ ด้านประชากร คือ คนมีอายุยืนขึ้น แต่อัตราการเกิดต่ำลง การขยายตัวของสังคมเมือง และความเลื่อมล้ำ ดังนั้น การสร้างสิ่งใหม่ ๆ หรือการเปลี่ยนกระบวนความคิดให้เกิดสิ่งใหม่ ๆ จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะพัฒนาประเทศให้ดีขึ้น นวัตกรรมจึงเป็นกุญแจสำคัญที่จะเร่งการเติบโตของเศรษฐกิจได้ ทั้งนี้ ในปี 2562 NIA จึงได้มีแคมเปญ Innovation Thailand ที่จะนำเสนอ innovation for crafted living หรือนวัตกรรมที่จะทำให้ชีวิตเรามีความประณีตยิ่งขึ้น ซึ่งนวัตกรรมภาครัฐก็เป็นส่วนสำคัญ ทั้งด้านการออกนโยบาย และการใช้นวัตกรรมในการบริการประชาชน

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการจัดกิจกรรม GovInsider Live 2019 NIA ยังได้ตระหนักถึงความท้าทายที่เกิดขึ้น และสิ่งที่จำเป็นต้องมุ่งเป้าในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นความเจริญและนวัตกรรมที่ยังกระจุกตัวอยู่แค่ในกรุงเทพ ซึ่งจะต้องมีการกระจายสิ่งเหล่านี้ไปสู่ภูมิภาค เพื่อเพิ่มโอกาส และการเติบโตทางเศรษฐกิจมากขึ้น โดย NIA ได้มีการพัฒนาทั้งย่านนวัตกรรม ระเบียงนวัตกรรม ที่ตอนนี้เน้นไปที่ภาคเหนือ ภาคใต้ชายแดน และ EEC ประการต่อมาคือ Social Innovation และgreen innovation หรือ การทำนวัตกรรมเพื่อสังคม ที่คำนึงถึงทั้งกำไร ผู้คน และสิ่งแวดล้อม การส่งเสริม Hospitality Service Business หรือนวัตกรรมเพื่อการบริการและการท่องเที่ยว เนื่องจากประเทศไทยมีจุดแข็งด้านการท่องเที่ยว อาหาร และการบริการ การให้ความสำคัญกับอนาคตศาสตร์ ที่จะต้องวางแผนว่าอนาคตของนวัตกรรมจะเป็นอย่างไร และเตรียมรับมือกับสิ่งต่างๆที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า ตลอดจนโครงการ Government Procurement Transformation (GPT) ซึ่งเป็นวิธีการเชื่อมต่อสตาร์ทอัพเข้ากับหน่วยงานภาครัฐ โดยปัจจุบัน NIA ได้ให้ทุน Startup นำเทคโนโลยีไปทดลองใช้กับหน่วยงานภาครัฐ และสนับสนุนในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างให้สะดวกขึ้น ทำให้ทั้ง Startup และหน่วยงานภาครัฐมีความเข้าใจในระบบการทำงานของกันและกันมากยิ่งขึ้น ดร.พันธุ์อาจ กล่าวสรุป