SUPER LOCK จับมือสตูดิโอออกแบบชื่อดัง ปรับภาพลักษณ์แบรนด์-ออกแบบคอลเลคชั่นใหม่
ไมครอน แวร์ จับมือ ยาคอบ เยนเซ่น ดีไซน์ สตูดิโอระดับโลก ปรับภาพลักษณ์แบรนด์และออกแบบคอลเลคชั่นใหม่ AMATAS ดึงอัตลักษณ์ความเป็นไทย ผสมผสานกับดีไซน์ที่เรียบง่ายแบบ สแกนดิเนเวีย เพื่อขยายธุรกิจสู่ตลาดนานาชาติ
หจก. เจ.ซี.พี. พลาสติก ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายกล่องถนอมอาหาร คุณภาพสูงแบรนด์ SUPER LOCK ที่มีเทคโนโลยีป้องกันแบคทีเรีย Microban จากสหรัฐอเมริกา และเครื่องใช้ภายในบ้านคุณภาพสูงสำหรับที่อยู่อาศัยแบรนด์ไมครอน แวร์ (MICRON WARE) ร่วมกับสตูดิโอ ยาคอบ เยนเซ่น ดีไซน์ (Jacob Jensen Design) สตูดิโอออกแบบชื่อดังจากเดนมาร์ก และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (KMUTT) จัดงานเสวนาหัวข้อ “การผนึกกำลังระหว่างแบรนด์ไทยและสตูดิโอออกแบบระดับโลก เพื่อขยายธุรกิจสู่ตลาดนานาชาติ” (Case study sharing | Collaboration of Thai Brand and World Class Design Studio for Global Expansion) เพื่อแบ่งปันความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับวิธีคิดและการทำงานด้านการสร้างแบรนด์ในระดับสากล ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเจ้าของธุรกิจและวงการนักออกแบบ
พลาวุฒิ เจริญจิตมั่น ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ หจก. เจ.ซี.พี. พลาสติก กล่าวว่า “บริษัทมีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์กว่า 25 ปี ในการผลิตเครื่องใช้พลาสติกคุณภาพสูงภายใต้แบรนด์ที่เป็นที่รู้จักกันดี เช่น MICRON WARE และ SUPER LOCK รวมถึงมีเป้าหมายในการเป็นผู้นำตลาดของใช้ไลฟ์สไตล์ภายในบ้านทั้งในและ ต่างประเทศ แต่ปัญหาที่พบคือ เมื่อนำสินค้าไปขายในตลาดโลก เช่น ยุโรปและอเมริกา
ผู้จำหน่ายเลือกที่จะใช้แบรนด์ของตัวเอง แทนที่จะเป็นแบรนด์ SUPER LOCK หรือ MICRON WARE จึงเริ่มคิดว่าจะทำอย่างไรให้ต่างชาติยอมรับในสินค้าที่เป็นแบรนด์ของเราเอง เพราะเราไม่ต้องการเป็นเพียงผู้รับผลิตสินค้าให้แบรนด์ต่างชาติ (OEM) แต่อยากให้สินค้าของเราสามารถไปวางจำหน่ายในระดับนานาชาติได้อย่างภาคภูมิว่า นี่คือแบรนด์ของคนไทย นำมาสู่การจับมือกับยาคอบ เยนเซ่น ดีไซน์ สตูดิโอออกแบบระดับโลกจากประเทศเดนมาร์ก ที่มาเปิดสาขาที่ 3 ในไทยในชื่อ Jacob Jensen design I KMUTT Bangkok ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (สจล.) เพื่อปรับภาพลักษณ์แบรนด์ ไมครอน แวร์ และแบรนด์ในเครือทั้งหมด รวมถึงออกแบบคอลเลคชันใหม่ภายใต้แบรนด์ AMATAS
ผู้บริหารไมครอน แวร์ ได้เล่าถึงความท้าทายที่เกิดขึ้นและวิธีการแก้ปัญหาในระหว่างการออกแบบแบรนด์และผลิตภัณฑ์ว่า ต้องคำนึงถึงทั้งรูปลักษณ์ที่สวยงามและความเป็นไปได้ในการผลิตด้วยเทคโนโลยีที่มีอยู่ เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งการออกแบบ การผลิต และความคิดสร้างสรรค์
มร.เซบาสเตียน มาลวีลล์ ครีเอทีฟไดเรคเตอร์ สตูดิโอ ยาคอบ เยนเซ่น ดีไซน์ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลากว่า 60 ปี ยาคอบ เยนเซ่น ดีไซน์ ได้ผสมผสานสไตล์การออกแบบแบบอินเตอร์เนชั่นแนลกับสไตล์มายา (MAYA: Most Advanced Yet Acceptable) มาสร้างสรรค์งานดีไซน์โมเดิร์นและมีเอกลักษณ์ในรายละเอียดอย่างน่าดึงดูดใจ และให้นิยามแนวทางแบบนี้ว่า “ไม่แปลกแยกทว่าแตกต่าง” ซึ่งแนวทางการออกแบบในลักษณะนี้ได้กลายมาเป็นภาษาดีไซน์ที่ถูกใช้อย่างต่อเนื่องในงานออกแบบของยาคอบ เยนเซ่น ดีไซน์ โดยมีหัวใจหลักสำคัญ 3 ข้อ คือ 1) การจดจำได้ในระยะไกล (Distance) ด้วยรูปทรงที่ชัดเจน โฉบเฉี่ยว ทันสมัย ผสานกับการใช้สีสันที่โดดเด่น 2) รายละเอียดระยะใกล้ (Closeness) ที่แสดงถึงความพิถีพิถันใส่ใจในรายละเอียดของแต่ละผลิตภัณฑ์ และ 3) ความน่าทึ่งเมื่อได้สัมผัส (Touch) ซึ่งเป็นความรู้สึกที่ผู้ใช้จะได้รับเมื่อสัมผัสกับผลิตภัณฑ์ของยาคอบ เยนเซ่น ดีไซน์
แนวคิดนี้ได้ถูกต่อยอดและประยุกต์ใช้กับแนวทางใหม่ๆ ไปพร้อมกับการเติบโตของบริษัทในระดับโลก สำหรับการร่วมงานกับไมครอน แวร์ บริษัทต้องการให้นักเรียนออกแบบรุ่นใหม่ได้มีประสบการณ์จากการทำงานจริงกับดีไซเนอร์ ระดับโลก ได้เรียนรู้ปรัชญาและขั้นตอนการออกแบบสไตล์สแกนดิเนเวีย พร้อมทั้งสนับสนุนให้นักศึกษาที่มีความสามารถโดดเด่นได้แจ้งเกิดในเวทีระดับนานาชาติ ซึ่งจะช่วยในการพัฒนางานในวงการออกแบบของไทยในระยะยาว เพราะคนไทยมีความคิดสร้างสรรค์ แต่ในไทยมีบริษัทออกแบบที่ทำเรื่องแบรนดิ้งได้อย่างลึกซึ้งตั้งแต่ขั้นตอนการศึกษาวิจัยข้อมูลอยู่ไม่มากนัก
นอกจากนี้ อัญญาภา อัตตะศิริ ดีไซน์เนอร์ชาวไทยของ ยาคอบ เยนเซ่น ดีไซน์ ได้เล่าถึงการออกแบบอัตลักษณ์ใหม่ของไมครอน แวร์ มาเป็น Lifestyle Solutions Provider Brand ว่าเป็นการผสมผสานอัตลักษณ์ของความเป็นไทยที่มีความประณีตละเอียดละออ กับแนวคิดการออกแบบที่เรียบง่ายแบบสแกนดิเนเวีย โดยนำอัตลักษณ์เดิมของแบรนด์แบบไทย มาพัฒนาให้มีความทันสมัยเป็นสากลมากขึ้น ตัวตนใหม่ของแบรนด์ให้ความรู้สึกถึงไลฟ์สไตล์ที่อบอุ่น เรียบง่าย เป็นกันเอง ผ่านองค์ประกอบรูปทรงเรขาคณิตที่มีรูปทรงชัดเจน ทันสมัย แต่สอดแทรกความน่าตื่นตาตื่นใจของวัฒนธรรมไทยในการออกแบบรวมถึงการใช้สีสันที่มีทั้งสีเข้มและสีสว่างสดใส โครงสร้างและอัตลักษณ์ของแบรนด์ได้ถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อให้แบรนด์ลูกที่มีอยู่แล้ว หรือที่จะเกิดขึ้นเพิ่มเติมในอนาคตมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แต่ยังคงความสอดคล้องได้อย่างกลมกลืนกับแบรนด์ใหญ่
อาจารย์พรเทพ ฉัตรภิญญาคุปต์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจและวิชาการของ ยาคอบ เยนเซ่น ดีไซน์และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวถึงความร่วมมือของทั้งสององค์กรว่า ยาคอบ เยนเซ่น ดีไซน์ ได้ตั้งสตูดิโอสาขาที่เมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน และในประเทศไทย โดยในประเทศไทยได้ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีในการก่อตั้งสตูดิโอ Jacob Jensen Design | KMUTT Bangkok ในปี 2556 เพื่อส่งผ่านวัฒนธรรมการออกแบบในสไตล์ของจาคอบ เจนเซ่น ดีไซน์ไปสู่คนรุ่นใหม่ โดยเปิดโอกาสให้นักศึกษาที่มีความสามารถและสนใจงานดีไซน์ได้เรียนรู้จากประสบการณ์การทำงานจริง เพื่อให้เข้าใจกระบวนการคิดและวิธีการทำงานภายใต้มาตรฐานของยาคอบ เยนเซ่น ดีไซน์ อีกทั้งจะได้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ของผลงานตัวเอง และได้รับส่วนแบ่งค่าลิขสิทธิ์ในผลงานนั้นๆ ด้วย ทั้งนี้ การทำงานร่วมกันระหว่างสตูดิโอ 3 แห่ง ช่วยในการต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ผ่านวัฒนธรรมที่หลากหลาย ช่วยยกระดับผลงานและโซลูชั่นใหม่ๆ ในการออกแบบที่ดียิ่งขึ้น