เปิด 'เทรนด์ไอทีไทย' ปี2563 ไอเอ็มซีชี้ 'เอไอ' ขึ้นหิ้งดาวเด่น
สถาบัน “ไอเอ็มซี” เปิดเทรนด์ดิจิทัลไทยปี 2563 ชี้ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นพลิกโฉมองค์กร เอไอขึ้นแท่นเทคโนโลยีดาวเด่น บิ๊กดาต้า 5จี บล็อกเชน ไซเบอร์ซิเคียวริตี้ กระแสแรง
โดยประเด็นสำคัญเช่น การพัฒนาวัฒนธรรมองค์กร การสร้างแผนกหรือหน่วยธุรกิจใหม่ การจัดการองค์กร การพัฒนาประสบการณ์ลูกค้า รวมถึงการยกระดับความคิดของผู้นำ ฯลฯ
นอกจากนี้ องค์กรไทยจะตื่นตัวอย่างมากที่จะนำปัญญาประดิษฐ์(เอไอ) มาปรับใช้ในหลายมิติ, มีการดำเนินการใช้บิ๊กดาต้าอย่างเป็นรูปธรรม, มีการประมูลคลื่นความถี่พร้อมทั้งตื่นตัวและทดลองใช้เทคโนโลยี 5จี, บล็อกเชนจะมีการเริ่มต้นใช้งานจริงมากกว่าเรื่องของเงินดิจิทัล
เขากล่าวต่อว่า เทรนด์ที่น่าสนใจในปีหน้าต้องจับตามองเรื่อง เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี(NDID) ที่ใช้เพื่อพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ และขณะนี้ทุกภาคส่วนรอคอยว่าจะมาเปลี่ยนโฉมการระบุตัวตน นอกจากนั้นกระแสที่มาแรงคือไอทีซิเคียวริตี้และการป้องกันความปลอดภัยข้อมูล ความเสถียรของระบบ พรบ.ข้อมูลส่วนบุคคล เทรนด์สุดท้ายฟินเทครวมถึงโมบายเพย์เมนท์จะมีการใช้งานแพร่หลายมากขึ้น
จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างจำนวน 113 รายซึ่งประกอบด้วยองค์กรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ราชการ รัฐวิสาหกิจ และโรงงานอุตสาหกรรมพบว่า ปี 2562 ธุรกิจองค์กรในประเทศไทยเริ่มใช้เอไอมากขึ้น โดยเฉพาะระบบแชทบอท และอาร์พีเอ(Robot Process Automation)
ผลสำรวจชี้ว่า เอไอเริ่มเข้ามามีบทบาทในงานหลายด้านทั้งการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ เช่น วิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้า การแนะนำสินค้าให้ลูกค้าแบบเฉพาะเจาะจง การตรวจสอบการฉ้อโกงทางการเงิน การให้คำแนะนำการลงทุนในสถาบันการเงินผ่านระบบอัตโนมัติ และการวิเคราะห์ข้อมูลทางการแพทย์
นอกจากนี้ ยังมีการใช้เอไอเพื่อป้อนข้อมูลจำนวนมากแบบอัตโนมัติ การใช้งานประมวลผลภาษา เช่น การแปลภาษา หรือการทำแชทบอท รวมถึงเทคโนโลยีจดจำใบหน้า
ไอเอ็มซีพบด้วยว่า เมื่อองค์กรต้องการลงทุนด้านเอไอ กูเกิลคลาวด์เป็นระบบคลาวด์ที่จะถูกนำมาใช้งานมากที่สุด 64.29% รองลงมาจะเป็นคลาวด์มาตรฐานเปิดหรือโอเพ่นซอร์ท 48.21% ไมโครซอฟท์อาชัวร์ 41.07% และอะเมซอนเว็บเซอร์วิส 38.39%
อย่างไรก็ดี องค์กรไทยเกือบครึ่งหนึ่ง หรือราว 49.11% มีความรู้ความเข้าใจเอไอในระดับเริ่มต้น ขณะที่ 30.36% มีความรู้ความเข้าใจเอไอในระดับพอใช้ ที่เข้าใจอย่างดีมีเพียง 11.60% องค์กรที่ยังไม่มีความรู้ความเข้าใจเอไอเลยมีอยู่ประมาณ 8.93%
ขณะที่ 74.11% ของกลุ่มตัวอย่างยอมรับว่าเอไอจะมีผลกระทบทำให้อุตสาหกรรมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก โดยมีเพียง 16.07% เท่านั้นที่คิดว่ามีผลเพียงเล็กน้อย ส่วนที่เหลือตอบว่าไม่แน่ใจหรือคิดว่าไม่น่าจะเปลี่ยนแปลง
ด้านแนวโน้มการดำเนินการด้านเอไอขององค์กรไทย ส่วนใหญ่เป็นการจ้างบุคคลภายนอก(outsource) ราว 40.18% รองลงมาเป็นการดำเนินการเองในบริษัท(in house) 32.14% ขณะที่ 17.86% ของกลุ่มตัวอย่างใช้วิธีจัดหาซอฟต์แวร์สำเร็จรูป
เมื่อถามว่ามีการนำเอไอมาใช้ในองค์กรหรือยัง กลับพบว่ามีองค์กรเพียง 10.7% เท่านั้นที่ใช้งานเอไอแล้ว ขณะที่อีก 25.9% ระบุว่ากำลังอยู่ในแผนดำเนินการ และ 39.29% กำลังดำเนินการศึกษา โดยหากมีการนำเอไอไปประยุกต์ใช้ในองค์กร ราว 60.71% จะเลือกทำแชทบอท ตามมาด้วยระบบอัตโนมัติอาร์พีเอ 49.11% รองลงมาเป็นระบบแบ่งกลุ่มลูกค้า ระบบจดจำใบหน้า ระบบป้องกันการล่อลวง ระบบบริหารทรัพยากรบุคคล และระบบอื่นๆ
ในภาพรวมการสำรวจชี้ว่า ผู้บริหารระดับสูงในองค์กรไทย 50% เห็นความสำคัญของการนำเอไอมาประยุกต์ใช้เป็นพิเศษ ขณะที่ 35.1% ตอบว่าสำคัญปานกลาง และ 14.29% ยังไม่ให้ความสำคัญและยังไม่มีการกล่าวถึงเอไอในองค์กร
ในมุมของผู้บริโภค แนวโน้มที่ผู้ใช้ชาวไทยในปีหน้าจะได้พบคือ ผู้บริโภคจะทำธุรกรรมการเงินและการชอปปิงค้าออนไลน์ได้สะดวกโดยไม่ต้องเดินทาง ผู้บริโภคจะเข้าถึงได้มากขึ้น ท่ามกลางราคาเทคโนโลยีที่จะถูกลง แต่ความท้าทายคือผู้ใช้จะต้องใช้เทคโนโลยีให้เป็น
ผลสำรวจ “CIO Survey 2019” โดยการ์ทเนอร์ จากผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 2,791 คนเมื่อเดือนม.ค.ที่ผ่านมาพบว่า มีการนำเอไอมาใช้ในองค์กรเพิ่มขึ้นจากปี 2561 อย่างมาก จากเดิมที่ 72% ของกลุ่มตัวอย่างระบุว่าไม่มีการใช้งานเอไอและมีการประยุกต์ใช้งานเพียงเล็กน้อย แถมส่วนใหญ่ใช้งานด้านการป้องกันภัยล่อลวง แต่ในปีนี้กลุ่มตัวอย่างตอบว่าเริ่มนำเอไอมาใช้ในแชทบอท และการยกระดับกระบวนการทำงานในองค์กรอย่างละ 26%