สวทช.โชว์ 'ฟาร์มาเซฟ' หนุนจับคู่ 'รพ.-นวัตกรรมเฮลท์เทค'
สตาร์ทอัพสายสุขภาพส่ง “ฟาร์มาเซฟ” แอพพลิเคชั่นดูแลการใช้ยาส่วนบุคคลให้โรงพยาบาลกระบี่ ตั้งเป้าลดเสี่ยงการใช้ยาผิดส่งเสริมการเป็นโรงพยาบาลอัจฉริยะ อีกทั้งขานรับโมเดลบีซีจีเน้นการใช้ทรัพยากรคุ้มค่าที่สุด
โรงพยาบาลกระบี่ ขนาด 341 เตียง มีบุคลากร 1,085 คนให้บริการผู้ป่วยนอก เฉลี่ยวันละ 1,282 คนและผู้ป่วยใน 314 คน จำนวนผู้เข้าใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อการสื่อสารระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ป่วย โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ยาที่อาจเกิดความสับสนได้ จึงแสวงหาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเหลือตรงจุดนี้ กระทั่งได้พบกลับ แอพพลิเคชั่น “ฟาร์มาเซฟ” จากการแนะนำของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
รพ.กระบี่ขยับสู่สมาร์ท
นายแพทย์ สุพจน์ ภูเก้าล้วน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกระบี่ กล่าวว่า โรงพยาบาลให้ผู้ป่วยดาวน์โหลดใช้งานแอพฯ “ฟาร์มาเซฟ” เมื่อ ก.ย.ที่ผ่านมาส่วนใหญ่ใช้งาน ฟังก์ชั่นเตือนกินยาและข้อมูลยา นำร่องโดยกลุ่ม อสม. ผู้ป่วยวัณโรคและเบาหวาน ขณะเดียวกันก็มีผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง ที่ต้องกินยาต้านการแข็งตัวของเกล็ดเลือด ผู้ป่วยจิตเวชและกลุ่มโรคที่เกิดจากพฤติกรรม (NCDs)ที่ควบคุมไม่ดี โรงพยาบาลได้ลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลอย่างต่อเนื่องในปีงบประมาณ 2560-2562 เตรียมรองรับนวัตกรรมไอทีใหม่ๆที่จะเกิดขึ้นในเดือน ธ.ค. คือ ระบบตรวจรักษาแบบ Electronic medical record ระบบคิวอัตโนมัติ ระบบลงทะเบียนด้วยตัวเอง ระบบซักประวัติด้วยตัวเอง (Self-history taking) ระบบซักประวัติออนไลน์ เป็นต้น พร้อมกันนี้จะพัฒนาระบบบริการแ ละระบบงานต่างๆ เพื่อเข้าสู่ Smart hospital
ตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ People ware บุคลากรทุกกลุ่มวัยจะต้องได้รับความรู้ความเข้าใจด้านเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างทั่วถึง, การสร้าง Smart tools ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง และความพร้อมที่จะลงทุนด้านอุปกรณ์และเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อสนับสนุนการพัฒนางานขององค์กรและการให้บริการ เมื่อการดำเนินงานเป็นไปอย่างครบวงจรแล้ว ทางโรงพยาบาลก็จะขยายองค์ความรู้นี้สู่เชนร้านขายยา คลินิกและในชุมชนต่อไป เพื่อให้เกิดการบูรณาการร่วมกันเมื่อผู้ที่มาใช้บริการมีความจำเป็นต้องไปสถานที่รักษานอกเหนือจากโรงพยาบาล ข้อมูลเหล่านี้ก็จะทำให้การรักษาต่อเนื่องและเกิดประโยชน์สูงสุด
ด้าน จักร โกศัลยวัตร ซีอีโอบริษัท วายอิง จำกัด ผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่น PharmaSafe กล่าวว่า ฟาร์มาเซฟคือระบบผู้ดูแลการใช้ยาส่วนบุคคล ช่วยลดปัญหาการใช้ยาผิดไม่ว่าจะเป็น ผิดชนิด ผิดขนาด กินผิดวิธี ไม่ครบโดสตลอดจนเก็บรักษาผิดทำให้ยาเสื่อมสภาพ แอพฯ จะให้ข้อมูลและเตือนเวลาการใช้ยาอัตโนมัติทางสมาร์ทโฟน ซึ่งเชื่อมข้อมูลจากโรงพยาบาลที่ใช้ระบบ ผู้ป่วยยังสามารถบันทึกและตั้งเตือนการใช้ยาเพิ่มได้ด้วยตัวเอง สามารถแชร์ข้อมูลการใช้ยาให้กับคนในครอบครัว ซึ่งเป็นประโยชน์ในกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน “ตอนนี้ร่วมกับสถาบันมะเร็งแห่งชาติซึ่งทดลองใช้กัญชารักษา จึงต้องการทราบผลตอบรับจากผู้ป่วยที่นำกัญชากลับไปกินที่บ้านว่าเกิดภาวะผิดปกติหรือไม่ โดย แอพฯ สามารถรายงานกลับมาที่โรงพยาบาลได้ ทำให้แพทย์สามารถติดตามการรักษาได้อย่างใกล้ชิด”
ทั้งนี้ ประเทศไทยควรจะมีระบบกลางที่เชื่อมต่อข้อมูลการใช้ยาจากทุกแหล่ง โดยการเก็บข้อมูลจะไม่ระบุตัวตนของผู้ป่วย มีเพียงรายการยา จำนวนยา วิธีการใช้ หรือวันเดือนปีเกิด นับเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเฮลท์เทคได้นำเทคโนโลยีต่างๆ มาช่วยเสริมศักยภาพด้านการแพทย์ของประเทศ ที่จะทำให้ค่าใช้จ่ายด้านยาของประเทศลดลง สวทช.จับคู่สตาร์ทอัพ-ผู้ใช้จริง
ฐิตาภา สมิตินนท์ รองผู้อำนวยการ สวทช. และผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี กล่าวว่า บริษัทวายอิง เป็นผู้ประกอบในโครงการสร้างผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยีนวัตกรรม (Startup Voucher) ที่ปัจจุบันมีอยู่กว่า 300 ราย สามารถสร้างรายได้รวม 354 ล้านบาท ด้านการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมทางการแพทย์และสุขภาพได้ดำเนินโครงการพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรในโรงพยาบาล (2P Safety Tech) โดยร่วมกับสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. มีโรงพยาบาลทั่วประเทศที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ 18 แห่งพร้อมด้วยบริษัทเทคโนโลยีการแพทย์ 12 แห่ง พัฒนานวัตกรรมต้นแบบได้ 15 ผลงานในปีถัดไปจะมุ่งเน้นในเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์สำหรับแก้ปัญหาในโรงพยาบาล,ด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ)สำหรับแก้ปัญหาในสาธารณสุข และด้านโลจิสติกส์ในโรงพยาบาล ดังนั้น การขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวจะเป็นหนึ่งในฟันเฟืองเพื่อสนับสนุนนโยบายส่งเสริมโรงพยาบาลอัจฉริยะของรัฐบาล และตอบโจทย์บีซีจีในโมเดลของ Bio economy มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าที่สุด