เปิดภารกิจ TbuS Excellent สะพานเชื่อม 'นักวิจัย-ธุรกิจเอกชน'

เปิดภารกิจ TbuS Excellent สะพานเชื่อม 'นักวิจัย-ธุรกิจเอกชน'

TbuS Excellent หรือ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการธุรกิจท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เป็น 1 ใน 17 ศูนย์ความเป็นเลิศทางวิชาการแห่งมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โชว์ตัวอย่างผู้ประกอบการที่เดินเข้าหานักวิจัยให้พลิกโฉมยกระดับกิจการ

TbuS พื้นที่สร้าง เศรษฐกิจสร้างสรรค์

เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) สามารถพลิกโฉมสร้างมูลค่าเพิ่มให้ “น้ำตาลทรายตรากุญแจคู่” ของกลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์ จากที่จำหน่ายเป็นกระสอบก็ยกระดับเป็นบรรจุภัณฑ์ถุงมีดีไซน์พร้อมชื่อใหม่ว่า BRUM แล้ววางขายบนเชลฟในซูเปอร์มาร์เก็ตระดับพรีเมียม เป็นตัวอย่างผลงานผลักดันการใช้ประโยชน์งานวิจัย โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการธุรกิจท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ TbuS Excellent มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) และที่สำคัญคือ การยกระดับสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ภาคเอกชนรับภาระค่าใช้จ่ายประมาณ 10-20% ของมูลค่าโครงการรวม 4 แสนบาท ส่วนที่เหลือเป็นการสนับสนุนจากภาครัฐ

TbuS เป็น 1 ใน 17 ศูนย์ความเป็นเลิศทางวิชาการแห่งมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เริ่มต้นจากการรวมกลุ่มวิจัยในปี 2554 ก่อนยกระดับเป็นหน่วยวิจัยการบริโภคและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ภายในปีเดียวของการจัดตั้งกลุ่มวิจัย และปี 2560 ขยับขึ้นเป็นศูนย์ความเป็นเลิศฯขับเคลื่อน 3 ภารกิจหลักคือ การพัฒนางานวิจัยและสร้างทีมงานวิจัย ขยายฐานงานวิจัยออกไปทั่วประเทศ, การพัฒนาผู้ประกอบการบนฐานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการครีเอทีฟ รวมไปถึงการบริการวิชาการที่ไม่ได้จำกัดพื้นที่เฉพาะ จ.นครศรีธรรมราช หรือภาคใต้ โดยมีเป้าหมายที่สำคัญที่สุดคือ การนำธง ม.วลัยลักษณ์ ไปปักทั่วประเทศให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น

157434855096

รศ.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารทรัพย์สินและนักวิจัย TbuS ที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาการตลาดและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังการสร้างแบรนด์ BRUM กล่าวว่า บมจ.น้ำตาลบุรีรัมย์ได้ทำวิจัยร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยในการพัฒนาน้ำตาลคาราเมลและน้ำตาลพรีเมียม เมื่อประสบความสำเร็จแล้วก็ส่งต่อมาที่ TbuS เพื่อให้ดำเนินการต่อด้านการสร้างภาพลักษณ์สินค้า ซึ่งรวมถึงการออกแบบบรรจุภัณฑ์และตั้งชื่อแบรนด์

“ทางทีมงานใช้เวลาเกือบ 2 ปี เรียนรู้และทำความรู้จักน้ำตาลบุรีรัมย์ โดยลงพื้นที่ไปดูการผลิตตั้งแต่ขั้นตอนการปลูกอ้อยของเกษตรกรในเครือข่ายจนถึงในโรงงานผลิต ทำให้ทราบถึงจุดเด่นของน้ำตาลตรากุญแจคู่ที่ได้รับความนิยมสำหรับการทำขนม และเหตุที่ต้องขายเป็นกระสอบ อีกทั้งได้รับรู้ถึงความพึงพอใจของเกษตกรเครือข่ายที่มีต่อเงื่อนไขบริษัท”

ข้อมูลเหล่านี้นำมาตกผลึกออกมาเป็นบรรจุภัณฑ์ที่มีสตอรี่จากน้ำตาลบุรีรัมย์ เช่นเดียวกับคำว่า BRUM ก็มาจากเสียงพำแห่งความสุขทั้งของเกษตรกรชาวไร่อ้อยและเสียงของผู้บริโภคที่ได้ลิ้มรสชาติความอร่อย ปัจจุบันผลิตภัณฑ์น้ำตาลทรายเคลือบคาราเมล บุรีรัมย์ มี 2 ขนาดคือ 300 และ 50 กรัมจำหน่ายผ่านตลาดธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคได้โดยตรง

จุดเปลี่ยนแบรนด์ท้องถิ่น

ศูนย์ฯ มีภารกิจหลักในการสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันและการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับผู้ประกอบการทุกระดับ รวมถึงธุรกิจชุมชน พื้นที่ที่คณาจารย์ไปวิจัยและบริการวิชาการไม่จำกัดเฉพาะในภาคใต้ แต่ดำเนินการทั่วประเทศ อาทิ อ.เชียงคาน จ.เลย เกาะช้าง จ.ตราด รวมถึงเพชรบูรณ์ เชียงใหม่ เชียงรายและราชบุรี เป็นต้น

“เราผลักดันชุมชนด้านการวางแผนการตลาดและออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงการออกแบบบรรจุภัณฑ์ไปจนถึงการสร้างแบรนด์ ซึ่งเราไม่พลาดโอกาสที่จะนำลูกศิษย์ที่เป็นนักศึกษาปัจจุบันลงพื้นที่และได้เรียนรู้ประสบการณ์จากสถานการณ์จริง เพื่อให้พวกเขาได้เรียนรู้และรับฟังมุมมองใหม่ๆ ที่จะตอกย้ำให้ได้เห็นว่า เด็กกำลังเรียนรู้หลักการวิชาการจากของจริง ประสบการณ์จริง” รศ.ศิวฤทธิ์ กล่าว

157434863085

ในเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์นั้น เน้นการต่อยอดภูมิปัญญา เพื่อสร้าง “คุณค่า” ซึ่งไม่ใช่ “มูลค่า” โดยนำศักยภาพด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะ วัฒนธรรมและประเพณีที่มีเอกลักษณ์และความโดดเด่น เป็น “ทุน” หรือ “คุณค่า” (Value) ที่สามารถนำมาสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ ดังนั้น การทำงานของศูนย์ฯ จึงเป็นเสมือนการติดกระดุมเม็ดแรกที่ถูกทาง เพราะเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น และการเรียนรู้ร่วมกันเพื่อให้ท้องถิ่นสามารถพัฒนาต่อยอดได้ในระยะยาวเกิดเป็นสินค้าและบริการ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ดีขึ้น

รศ.ศิวฤทธิ์ กล่าวอีกว่า ตัวอย่างที่นำเสนอจะเห็นได้ว่า มีตั้งแต่เอกชนรายใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์จนถึงวิสาหกิจชุมชน ที่เข้ามารับบริการงานวิจัยจากมหาวิทยาลัย ไม่ได้จำกัดอยู่ที่เอกชนรายใหญ่เท่านั้น นักวิจัยต่างยินดีช่วยเหลือเอสเอ็มอีและโอท็อป และที่สำคัญภาครัฐมีกลไกสนับสนุนค่าใช้จ่ายไม่น้อยกว่า 80% บางโครงการก็สนับสนุนถึง 100% หมายความว่า ผู้ประกอบการแทบจะไม่ต้องจ่ายอะไรเลย

ด้วยเหตุนี้ แผนงานในระยะสั้นจะเน้นเรื่องการสร้างกลไกให้ผู้ประกอบการโอท็อปซึ่งเป็นกลุ่มที่เข้าไม่ถึงงานบริการวิชาการ ให้เข้าถึงงานบริการของมหาวิทยาลัยมากขึ้น พร้อมทั้งเพิ่มสัดส่วนการให้บริการงานวิจัยแก่ผู้ประกอบการรายใหม่มากขึ้น

“ขอแค่มีความตั้งใจที่จะพัฒนาสินค้าและบริการ ต้องการที่จะสร้างแบรนด์ หรือมีโจทย์ปัญหาที่ต้องการแก้ไข ก็นำสิ่งเหล่านั้นมาพูดคุยกับนักวิจัย หรือไปที่ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.วลัยลักษณ์ จะช่วยประสานและอำนวยความสะดวกแก่ภาคเอกชนให้เข้าถึงองค์ความรู้จากงานวิจัยได้” รศ.ศิวฤทธิ์ กล่าว

สปาศรีวิชัยเชื่อมประวัติศาสตร์

157434861281

ส่วนตัวอย่างผลงานการพัฒนาอื่นๆ เช่น “การสร้างอัตลักษณ์และยกระดับมาตรฐานการบริการสปาศรีวิชัย” ในพื้นที่ อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับในตลาดสากล ทีมวิจัยพบว่าอำเภอขนอม มีฐานทรัพยากรสมุนไพรหมอยาพื้นบ้าน วิถีชีวิตท้องถิ่นที่มีเสน่ห์ ผนวกกับความโดดเด่นของการเป็นแหล่งท่องเที่ยวชายทะเลที่สงบผ่อนคลาย

แต่ในส่วนของธุรกิจสปาของขนอมยังไม่มีอัตลักษณ์ที่ชัดเจน ทางทีมนักวิจัยจึงพยายามที่จะสร้างอัตลักษณ์ขึ้น โดยได้นำผลการวิเคราะห์หลักฐานทางประวัติศาสตร์ศรีวิชัยร่วมกับผู้เชี่ยวชาญมากำหนดอัตลักษณ์และแบรนด์สปาศรีวิชัย ออกแบบตราสัญลักษณ์ รวมทั้งออกแบบบรรจุภัณฑ์ สอดคล้องกับความต้องการของตลาดผู้ประกอบธุรกิจสปา รวมทั้งวิสาหกิจชุมชนขนอม

แผนงานวิจัยนี้มุ่งยกระดับมาตรฐานทั้งด้านการบริการและการส่งเสริมสุขภาพภายใต้มาตรฐานทางการแพทย์ที่ได้รับการรับรอง พร้อมทั้งมีกลิ่นอายของประวัติศาสตร์ศรีวิชัยผสมผสานอยู่ในสปา จึงนำไปสู่การยอมรับจากผู้บริโภคและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้สปาศรีวิชัยมีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับในตลาดสากลต่อไป ขณะเดียวกันยังได้ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมสมุนไพรบนฐานภูมิปัญญาในรูปแบบของอีมัลเจล 3 สูตรได้แก่ น้ำมันมะพร้าวอีมัลเจล น้ำมันไพลอีมัลเจลและอีมัลเจลมะพร้าวกับไพล ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์สปาที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการนวดคู่กับน้ำมันนวดซึ่งได้พัฒนาขึ้นสำหรับสปาศรีวิชัย 5 สูตร ตลอดจนพัฒนา welcome drink จากกล้วยอีกด้วย

‘มู-มู่’สตอรี่จากเรื่องหมูหมู

157434891478

นอกจากนี้ยังมีผลงาน บริษัท ช. โปรเซสซิ่งฟู้ด จำกัด ทำฟาร์มเลี้ยงสุกรครบวงจรในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช ประสบปัญหาด้านราคาจำหน่ายเนื้อสุกรสด มีแนวคิดการแปรรูปสู่ผลิตภัณฑ์เพราะต้องการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าและสร้างธุรกิจให้เกิดความยั่งยืน จึงนำโจทย์ความต้องการเข้ามาปรึกษานักวิจัย จึงเกิดการสร้างแบรนด์ใหม่ชื่อ มู-มู่ (MooMoo) (facebook MooMoo" Fast Fresh Daily") ด้วยแนวคิด Fast Fresh Daily อาหารจานด่วน เน้นสดใหม่วันต่อวันและอร่อย

รศ.ศิวฤทธิ์ กล่าวถึงแนวคิดที่มาของคำว่า มู-มู่ มาจากคำพูดที่ผู้คนทั่วไปนิยมพูดว่า “เรื่องหมูหมู” ที่แปลว่าเรื่องง่ายๆ และจุดแข็งของการเป็นผู้ผลิตเนื้อหมูรายใหญ่จึงตั้งชื่อว่า Moo Moo แต่ออกเสียงว่า มู-มู่ อีกทั้งแนวคิดการวางตำแหน่งแบรนด์ให้สอดคล้องกับคำว่า “เรื่องหมูหมู” ออกมาเป็นความสนุกสนานของอาหารการกินที่มาพร้อมกับการดูแลสุขภาพ รวมถึงการดีไซน์บรรจุภัณฑ์ให้มีสไตล์ สีสันสดใสและมีเอกลักษณะเฉพาะตัวเหมาะกับคนรุ่นใหม่

ส่วนเป้าหมายเพื่อความยั่งยืนทางธุรกิจนั้น ทางผู้ประกอบการอาศัยงานวิจัยเป็นคีย์หลักผ่านหน่ยงานวิจัยต่างๆ รวมถึงสาขาวิชาอุตสาหกรรมเกษตร ม.วลัยวลัยลักษณ์ พัฒนาผลิตภัณฑ์ขบเคี้ยวจากเนื้อสุกรเพื่อสุขภาพสูตร natural antioxidant ขนมจีนและน้ำยาปักษ์ใต้พร้อมรับประทานบรรจุในซองรีทอร์ตเพา ผลิตภัณฑ์บักกุดเต้พร้อมรับประทาน และขาหมูพะโล้พร้อมรับประทาน ในโครงการการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลางในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้อง อยู่ใน อินโนเวทีฟ เฮ้าส์ ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบัน
ปักหมุดบริการทั่วประเทศ