"ประวิตร" หนุนบอร์ดดีอี ชูดิจิทัลไทยสู่มาตรฐานสากล

"ประวิตร" หนุนบอร์ดดีอี ชูดิจิทัลไทยสู่มาตรฐานสากล

ดำเนินการพัฒนาด้านดิจิทัลของประเทศเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกหน่วยงานต้องร่วมกันบูรณาการการทำงานให้เกิดผลเป็นรูปธรรม

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ การประชุมบอร์ดดีอี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) ครั้งที่ 3/2562 (28 พฤศจิกายน 2562) ห้องประชุมสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนของกระทรวงต่าง ๆ ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้แทนเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พร้อมด้วยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่าง ๆ และปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการ

พลเอกประวิตรฯ กล่าวว่าย้ำ "การทำงานร่วมกันของคณะกรรมการเพื่อเป็นการกำกับ ติดตาม และผลักดันการดำเนินงาน โดยคำนึงถึงเป้าหมายที่ได้กำหนดในนโยบายและแผนระดับชาติ มุ่งมั่นดำเนินการพัฒนาด้านดิจิทัลของประเทศเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกหน่วยงานต้องร่วมกันบูรณาการการทำงานให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป โดยเฉพาะการจัดระเบียบสายสื่อสารของประเทศ ขอให้มีแผนการดำเนินงานทั้งในระยะสั้น และระยะยาว โดยบูรณาการร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อทั้ง ด้านเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง สิ่งแวดล้อม ประชาชนผู้ใช้บริการ และเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยไม่ขัดต่อการแข่งขันในเชิงธุรกิจ และขอฝาก กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ช่วยกำหนดทิศทาง และผลักดันการพัฒนาด้านดิจิทัลของประเทศ ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ต่อไป วันนี้ฝากฝ่ายเลขานุการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเร่งรัดจัดประชุมหารือในเรื่องต่าง ๆ อาทิ การจัดทำนโยบายและแผนเฉพาะด้าน เพื่อให้เกิดความคืบหน้าของงานมากยิ่งขึ้น

157493168721

ที่ประชุมฯ ได้มีการทบทวนมติบอร์ดดีอี ในคราวประชุมครั้งที่ 5/2561 เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2561 ในเรื่อง แนวทางการดำเนินการนำสายสื่อสารลงใต้ดินตามนโยบายของรัฐบาล (กรุงเทพมหานคร) และได้มีมติเห็นชอบตามมติคราวที่แล้ว และมอบหมายให้กรุงเทพมหานคร ปฏิบัติตามมติโดยคำนึงถึงกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง อย่างเคร่งครัด พร้อมทั้ง ได้เร่งรัดดำเนินงานการจัดระเบียบสายสื่อสารของประเทศ ต้องมีแผนการดำเนินงานทั้งในระยะสั้น และระยะยาว บูรณาการร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง สิ่งแวดล้อม ตลอดจนประชาชนผู้ใช้บริการ มุ่งหมายเพื่อประโยชน์สาธารณะ และต้องไม่ขัดต่อการแข่งขันในเชิงธุรกิจ และจากรายงานผลการจัดอันดับดัชนีและตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องซึ่งครอบคลุมถึงดัชนีในระดับสากล ซึ่งเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้นทุกมิติจากปีก่อนหน้า โดยเฉพาะความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศ โดยจากรายงานประจำปี 2561 ซึ่งจัดทำโดย IMD ระบุว่า บระเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 39 ขยับขึ้น 2 อันดับ ส่วนสถานการณ์พัฒนาในมิติโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ตัวชี้วัดด้านโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี โดย IMD อยู่ในอันดับที่ 23 ขยับขึ้น 7 อันดับ ดัชนีชี้วัดในอันดับที่สูงขึ้นจากรายงานของ IMD สะท้อนความสำเร็จในการทำงานของกระทรวงดิจิทัลฯ ซึ่งดำเนินโครงการเน็ตประชารัฐ ครอบคลุมจำนวนหมู่บ้านให้สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเพิ่มเป็น 74,987 หมู่บ้าน อีกทั้งมีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาใช้ได้ดี และส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อและสารสนเทศของประชาชนไทย การพัฒนาด้านรัฐบาลดิจิทัล การพัฒนากำลังคนดิจิทัล และความเชื่อมั่นด้านดิจิทัล ในการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ ก็มีทิศทางการพัฒนาที่ดีขึ้นจากผลการจัดอันดับของตัวชี้วัดสากลต่างๆ

ในการประชุมครั้งนี้ ได้มีการรายงานผลการดำเนินงานของการศึกษาวิจัย Thailand Digital Outlook แนวปฏิบัติและกรอบความร่วมมือในการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากสื่อดิจิทัลในกลุ่มประเทศอาเซียน มีข้อเสนอแนะด้านนโยบาย แนวทาง และมาตรการขับเคลื่อนการพัฒนาการเข้าใจดิจิทัลของประเทศไทย (Digital Literacy) พิจารณา (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาสังคมดิจิทัล ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2563 - 2565) จัดทำโดยคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ปี 2562 มีมติให้ทบทวนแผนงาน/โครงการ ภายใต้ (ร่าง) แผนปฏิบัติการดังกล่าว ให้มีความครบถ้วนและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น กำหนดให้ (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ ให้แล้วเสร็จในเดือนธันวาคม 2562" นอกจากนี้ กระทรวงดิจิทัลฯ ยังได้จัดทำแนวทางการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเพื่อขับเคลื่อน 5G ซึ่งบอร์ดดีอีชุดที่ผ่านมาเห็นชอบเบื้องต้นแล้ว มีแนวทางดำเนินงานสำหรับประเทศไทย แบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ (1) ระยะเตรียมการ จัดทำแผนการจัดสรรคลื่นความถี่ การกำกับดูแล การกำหนดมาตรฐาน และแนวทางบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐาน (2) ระยะเปลี่ยนผ่าน 4G สู่ 5G ดำเนินการจัดสรรคลื่นฯ การทดสอบการวางโครงสร้างพื้นฐานให้ครอบคลุมและมีเสถียรภาพ การส่งเสริมการนำไปใช้ในอุตสาหกรรม วางมาตรการกำกับดูแลและคุ้มครองผู้บริโภคและเตรียมด้าน Cyber Security และ (3) ระยะเปิดให้บริการโครงข่ายเชิงพาณิชย์ กำหนดนโยบายการจัดสรรและขยายคลื่นความถี่ให้สามารถใช้กับ 5G

ทั้งนี้ ยังได้มีการรายงานความสำเร็จของกระทรวงดิจิทัลฯ ในการจัดงาน Digital Thailand Big Bang 2019 ระหว่างวันที่ 28 - 31 ตุลาคม 2562 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค โดยจัดขึ้นภายใต้แนวคิด "ASEAN Connectivity" ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก ในการสร้างภาพลักษณ์ของการพัฒนาด้านดิจิทัลของประเทศไทยสู่เวทีโลก และก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลต่อไป ยอดผู้เข้าชมงานตลอด 4 วัน ประมาณ 5 แสนคน ถือว่าเป็นปีที่เกิดแรงผลักดัน สนับสนุน ดิจิทัลสตาร์ทอัพและอุตสาหกรรมเกษตร ภาคธุรกิจดิจิทัลในการพัฒนาประเทศอีกด้วย

ด้านนางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการฯกล่าวว่า "บอร์ดดีอี ยังฝากให้กระทรวงดิจิทัลฯ กำหนดทิศทาง และผลักดันการพัฒนาด้านดิจิทัลของประเทศ ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ต่อไป ตลอดจนให้มีการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง และที่ประชุมวันนี้จะเร่งรัดให้จัดประชุมหารือในเรื่องการจัดทำนโยบายและแผนเฉพาะด้าน เพื่อให้เกิดความคืบหน้าของงานมากยิ่งขึ้น"