‘นวัตกรรมสะอาด’ คีย์นำทางธุรกิจฝ่าวิกฤติ
กลุ่มอุตฯพลังงานหมุนเวียน ส.อ.ท. ยกเคสบริษัทไอทีข้ามชาติลงทุนซื้อพลังงานจากโซลาร์เซลล์ สร้างภาพลักษณ์ความเป็น “ธุรกิจสีเขียว” หวังเปิดโลกทัศน์วงการธุรกิจไทย หนุนนำแนวคิดความยั่งยืนของยูเอ็นแก้ภาวะวิกฤติโลกร้อน
สุวัฒน์ กมลพนัส ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวในงานสัมมนาหัวข้อ “นวัตกรรมสะอาด กับโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อมที่ท้าทายธุรกิจแบบยั่งยืน” ในงาน “Clean tech นวัตกรรมสู่เทรนด์ธุรกิจรักษ์โลก” ว่า ในโลกปัจจุบันหากธุรกิจไม่เกี่ยวกับนวัตกรรมสะอาดก็จะไม่เข้ากับมาตรฐานของสหประชาชาติ หรือยูเอ็น จึงจำเป็นต้องออกจากการใช้ทรัพยากรแบบไร้จุดหมายมุ่งสู่โมเดลการพัฒนาสีเขียว
กรอบแนวคิดภายใต้โมเดลการพัฒนาสีเขียว มีที่มาจาก “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” (SDGs) ภายใต้ความตกลงปารีสโดยภาคีสมาชิกยูเอ็น 175 ประเทศ ถ้าประเทศไทยสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนาให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ จะสามารถยกระดับมาตรฐานการดูแลสิ่งแวดล้อมให้ไปสู่มาตรฐานของโลก และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในเวทีการค้าโลกได้ พร้อมกับเป้าหมายควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส
ดับวิกฤติ สร้างโลกใหม่
“ทุกวันนี้บริษัทด้านไอทีชั้นนำของโลกอย่างกูเกิ้ลและเฟซบุ๊ค บริษัทข้ามชาติอเมริกันผู้ให้บริการเว็บไซต์เครือข่ายสังคมลงทุนซื้อพลังงานสะอาดจากผู้ผลิตไฟจากโซลาร์เซลล์ เพื่อจะสื่อว่ากิจกรรมที่ทำนั้นไม่มีผลกระทบต่อโลก นี่คือสิ่งที่ธุรกิจใหญ่เริ่มทำ หากบริษัทใดๆ ไม่ริเริ่มทำเช่นสองยักษ์ใหญ่ไอทีนี้ แน่นอนว่าภาพลักษณ์บริษัทที่แสดงออกมาสู่สายตาสาธารณชนจะถูกกดดันและจะไม่มีผู้ซื้อสินค้าของคุณ แนวโน้มธุรกิจสีเขียวนี้อาจจะยังไม่กระทบบริษัทรายเล็ก แต่บริษัทเล็กในซัพพลายเชนของบริษัทชั้นนำเริ่มปรับตัวในเรื่องการนำพลังงานสะอาดมาใช้ในระบบการทำงานของบริษัท”
ขณะเดียวกัน หากบริษัททั้งหลายในโลกหันมาใช้พลังงานสะอาด และลดการใช้ทรัพยากรที่อาจจะสูญสิ้นไปนั้น ขยะก็จะลดลง เพราะว่าคลีนเทคโนโลยีไม่ได้มีเรื่องพลังงานเพียงอย่างเดียว แต่รวมไปถึงวิธีการลดใช้วัสดุหรือผลิตภัณฑ์เพื่อลดปริมาณขยะ
การนำวัสดุหรือบรรจุภัณฑ์สินค้าประเภทต่างๆ เช่น กระดาษ แก้ว โลหะและพลาสติก ที่ยังใช้ประโยชน์ได้กลับมาใช้คุ้มค่าที่สุดด้วยกระบวนการทั้ง redue และ reuse เพราะการใช้ครั้งเดียวทำให้เกิดขยะมากเกินจำเป็น และสูญเสียทรัพยากรในการผลิตวัสดุเหล่านี้ซ้ำเพื่อใช้เพิ่มเติมอีกด้วย และสุดท้ายคือรีไซเคิล (Recycle) เป็นการจัดการวัสดุเหลือใช้ที่กำลังจะเป็นขยะ โดยนำไปผ่านกระบวนการแปรสภาพ โดยเฉพาะการหลอม เพื่อให้เป็นวัสดุใหม่แล้วนำกลับมาใช้ได้อีก วัสดุที่ผ่านการแปรสภาพนั้นอาจจะเป็นผลิตภัณฑ์เดิมหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ก็ได้ จะทำให้เกิดเมืองที่น่าอยู่เพิ่มมากขึ้น
ดันอุตฯไทยคิกออฟ คลีน-เทค
สุวัฒน์ กล่าวว่า หากโรงงานอุตสาหกรรมไม่ตื่นตัวในเรื่องนวัตกรรมสะอาด ในอนาคตจะถูกตัดขาดจากโลกการค้า อีกทั้งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่จะตามมาคือ การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิที่จะสูงขึ้นและเข้าสู่สภาวะฝนแล้ง ฝนทิ้งช่วง ประเทศเกษตรกรรมแบบไทยจะปลูกอะไรไม่ได้ ส่วนทางจีนตอนใต้ที่อากาศหนาวจะอุ่นขึ้นและสามารถปลูกพืชผลทางการเกษตรได้แบบไทย ส่วนไทยจะกลายเป็นเหมือนแอฟริกาใต้ และเมื่อสภาวะแวดล้อมเปลี่ยนไป ทำให้โรคระบาดมีวิวัฒนาการก่อตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากไวรัสและแบคทีเรียปรับตัวเข้ากับสภาวะที่อุ่นขึ้น
“นี่คือเหตุผลที่เราต้องเริ่มทำตามเทรนด์โลกซึ่งกำลังไปในทิศทางนี้ ซึ่ง R&D ให้ความสนใจด้านนี้ และต้นทุนเทคโนโลยีด้านอุตสาหกรรมรถยนต์ในอนาคตจะเบนเข็มไปทางยานยนต์พลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ราคาจะถูกลง”
ทั้งนี้ ปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเทคโนโลยีสะอาดมี 6 ข้อคือ
1.การใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่า
2.พลังงานทดแทน อาทิ ลม แสงแดด
3.ระบบขนส่งเนื่องจากมีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตต่างๆ
4.การเกษตร ที่อาจจะเกิดการลดใช้วัสดุเหลือทิ้งได้
5.การรีไซเคิลและการบำบัดของเสีย
6.เทคโนโลยีสารสนเทศที่สามารถสร้าง sharing Economy ได้อีกทั้งลดการใช้ทรัพยากร
นับเป็นการขับเคลื่อนการสร้างความยั่งยืนที่เกิดจากการร่วมมือกับของทุกภาคส่วน ที่หวังจุดประกายให้องค์กรต่างๆ หันมาลงมือทำเพื่อรักษาโลกให้อยู่อย่างยั่งยืน