'ดีอีเอส' ย้ำไทยต้องประมูล 5 จี ปี 63 หวั่นรายใหญ่ย้ายฐานผลิต
“พุทธิพงษ์” ย้ำชัดไทยจำเป็นต้องประมูล 5จี ตามไทม์ไลน์ กสทช.เพราะอยู่ในช่วงที่อุตฯรายใหญ่ กำลังย้ายฐานการผลิตกว่า 190 โรง หากไทยสามารถดึงเม็ดเงินลงทุนได้จะช่วยส่งเสริมประเทศ
ชี้ทุกขั้นตอนต้องใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือ พร้อมเป็นตัวกลางประสานทักษะช่วยสร้างแรงงานคนพันธุ์ไอทีป้อนตลาด
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ก่อนมาทำงานในตำแหน่งตรงนี้ไม่เคยมีใครพูดว่า 5จีจะเกิดในไทยเมื่อไร เพราะอย่างที่รู้ดีผู้ประกอบการโทรคมนาคม (โอเปอเรเตอร์) เพิ่งประมูล 4จีไป แต่เมื่อเดือนที่ผ่านมาหลังจากที่ประชุมร่วมกับรัฐมนตรีด้านโทรคมนาคมในประเทศอาเซียนทุกประเทศ ทำให้ทราบว่าเวียดนามประกาศใช้ 5จีในเดือนมิ.ย.ปีหน้า ฟิลิปปินส์จะมีในปีหน้าเช่นกัน ส่วนสปป.ลาวเริ่มทดสอบ 5จีแล้ว และสุดท้ายประเทศมาเลเซียประกาศว่าปีหน้าต้องเกิด 5จีขึ้น
ดังนั้น จึงรีบปรึกษานายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และได้ประชุมกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี ว่าหากประเทศไทยไม่เกิด 5จี สิ่งที่ตามมาคือ การย้ายฐานการผลิตของอุตสาหกรรมใหญ่จากประเทศจีน สิ่งที่เกิดขึ้น 190 บริษัทยักษ์ใหญ่ต้องย้ายออกจากประเทศจีนให้เร็วที่สุด และต้องหาพื้นที่ลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้น หากครึ่งหนึ่งมาที่ไทย จะสร้างงาน เงิน ทำให้เกิดการจ้างงาน หากไม่มี 5จีบริษัทเหล่านี้จะย้ายฐานการผลิตไปประเทศที่มี 5จีเพื่อพัฒนาเอไอ ไอโอทีและโรบอติกส์
อ่านข่าว-จับตา 'รื้อ' เกณฑ์ประมูล5จี 3 ค่ายจ่อเคาะ 'คลื่นเดียว'
“ซึ่งถ้าไทยไม่มี 5จีจะไม่มีทางดึงดูดการลงทุนได้ การลงทุนของบริษัทใหญ่ๆจะไปที่ประเทศที่พร้อม เราปล่อยให้โอกาสหลุดไปไม่ได้ จากนี้จะนำ 5จีไปใช้ให้เป็นประโยชน์ด้านสาธารณสุข การรักษาพยาบาล การสัญจร และระบบคมนาคม ซึ่งการประมูล 5จีในปีหน้า เป็นสิ่งที่ควรจะเกิดขึ้น”
นอกจากนี้ บทบาทของกระทรวงดีอีเอส ซึ่งในปัจจุบันดิจิทัลเทคโนโลยีเกี่ยวข้องกับชีวิตของทุกคนในชีวิต รัฐต้องการผลักดันประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางของอาเซียน ฮับ ซึ่งจะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีการพัฒนาด้านแรงงาน ใน 4-5 ปีที่ผ่านมา มีการย้ายฐานแรงงานการผลิตของอุตสาหกรรมไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเหตุผลสำคัญคือแรงงาน แรงงานจึงเป็นหัวใจหลักสำคัญของการวางรากฐานอุตสาหกรรมของประเทศไทย ประเทศไทยยังขาดแรงงานเป็นแสนคน
เขา กล่าวว่า การพัฒนาจำเป็นต้องพัฒนาแรงงานอุตสาหกรรมด้านดิจิทัล ซึ่งยังขาดแคลนอยู่เป็นจำนวนปีละกว่า 40,000 คน ซึ่งภาคการศึกษาผลิตบุคลากรไม่ทันเพราะต้องใช้เวลา กระทรวงฯเองจึงต้องพัฒนากำลังคนด้วยวิธีอัพสกิลl ยกระดับทักษะของแรงงานเดิมให้ทันสมัย และรีสกิลl คือพัฒนาคนที่อยู่ในสายแรงงานที่ยังไม่มีทักษะด้านดิจิทัล ให้มีทักษะด้านดิจิทัล โดยรัฐบาลจะพูดคุยกับภาคเอกชน โรงงาน และบริษัทใหญ่ๆ ในตลาดหลักทรัพย์เพื่อศึกษาความต้องการบุคลากร สาขาวิชาและอาชีพที่ต้องการต่อไป