มทส. ประดิษฐ์เครื่องกำจัดฝุ่นพีเอ็ม 2.5

มทส. ประดิษฐ์เครื่องกำจัดฝุ่นพีเอ็ม 2.5

นักวิจัย มทส. ประดิษฐ์เครื่องกำจัดฝุ่น PM 2.5 ด้วยประจุไฟฟ้าไอออนต้นแบบเป็นผลสำเร็จ ช่วยป้องกันการกระจายของฝุ่น ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม มุ่งขยายผลสู่ชุมชนที่ประสบปัญหาในวงกว้าง

นักวิจัย มทส. ประดิษฐ์เครื่องกำจัดฝุ่น PM 2.5 ด้วยประจุไฟฟ้าไอออนต้นแบบเป็นผลสำเร็จ สามารถช่วยป้องกันการกระจายของฝุ่น ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม ลดความเสี่ยงของผู้ป่วยทางเดินหายใจและการเกิดภูมิแพ้ สามารถออกแบบให้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อม มีประสิทธิภาพเทียบเท่าต้นไม้ที่มีขนาดกลางกว่า 500 ต้น ในพื้นที่ 9 ตารางเมตร โดยใช้พลังงานไฟฟ้าเพียงชั่วโมงละ 1.50 บาท มุ่งขยายสู่ชุมชนในวงกว้างเพื่อแก้ปัญหา PM 2.5 อย่างมีประสิทธิภาพ

อ่านข่าว-เช้านี้ 8 พื้นที่กรุงเทพฯ ฝุ่นพิษ PM2.5 เกินมาตรฐาน

157641853050


รศ.ชาญชัย ทองโสภา หัวหน้าสถานวิจัย สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) หัวหน้าทีมวิจัย        ได้กล่าวถึง ผลงานวิจัยเครื่องกำจัดฝุ่น PM 2.5 ด้วยประจุไฟฟ้าไอออน ว่า “เกิดจากแนวคิดในการแก้ปัญหา PM 2.5 ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยมีหลักการทำงานคล้ายเครื่องฟอกอากาศที่ใช้ในระบบปิด แต่คณะนักวิจัยได้ออกแบบให้เครื่องดังกล่าวสามารถที่จะใช้ในระบบเปิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงการนำไปใช้งานได้จริง การประหยัดพลังงาน และการออกแบบให้สวยงามกลมกลืนกับสภาพแวดล้อม โดยใช้หลักการปล่อยประจุไฟฟ้าลบ ที่สร้างจากวงจรทวีแรงดันหลายหมื่นโวลต์ จากไฟฟ้า 220 Vac ขึ้นไปเป็นแรงดันไฟฟ้าประมาณ 35,000 Vdc ค่ากระแส 18 mA (วงจรสร้างแรงดันสูง กระแสต่ำ) และแรงดันไฟฟ้าสูง 35,000 Vdc เพื่อจ่ายประจุไฟฟ้าไอออนออกไปในอากาศผ่านปลายแหลมของแผ่นเพลททองแดง เพื่อดักจับอนุภาคของฝุ่น PM 2.5 ทำให้อนุภาคฝุ่นเป็นกลางหล่นลงสู่พื้น คงเหลือแต่อากาศที่สะอาดปราศจากฝุ่นควันกลับสู่ธรรมชาติ มีความปลอดภัยต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม

157641854869

เครื่องกำจัดฝุ่น PM 2.5 ต้นแบบนี้ สามารถกำจัดฝุ่นละอองได้ 100,000 ไมโครกรัม/ชั่วโมง เทียบเท่าประสิทธิภาพของต้นไม้ขนาดกลางที่มีพื้นที่ใบรวมประมาณ 9 ตารางเมตร จำนวน 510 ต้น และค่าพลังงานไฟฟ้าเฉลี่ยประมาณชั่วโมงละ 1.50 บาท สามารถช่วยป้องกันการกระจายของฝุ่น ลดความเสี่ยงของผู้ป่วยทางเดินหายใจและการเกิดภูมิแพ้ได้ ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพ ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม ตัวเครื่องมีขนาด 120 ซม. x 120 ซม. x 120 ซม. ภายในบรรจุหม้อแปลงไฟฟ้า Step up ขนาด 55 ซม. x 55 ซม. x 72 ซม. เสาปล่อยประจุไฟฟ้าทองแดงมีขนาด 120 ซม. x 120 ซม. x 255 ซม.

ทั้งนี้ ทีมงานและนักวิจัยคาดหวังว่า เครื่องกำจัดฝุ่น PM 2.5 ด้วยระบบไฟฟ้าไอออนดังกล่าว จะสามารถขยายผลและติดตั้งสู่ชุมชนเมือง ที่มีปัญหาเกี่ยวกับ PM 2.5 เพื่อลดมลพิษ ลดฝุ่นควัน กลิ่น โดยสามารถออกแบบตัวเครื่องให้มีความสวยงามกลมกลืนต่อสภาพแวดล้อม สามรถขยายขนาดการใช้งานได้ตามขนาดพื้นที่ ทั้งในครัวเรือน ตัวอาคาร สถานประกอบการ หรือสร้างเป็นเครื่องกำจัดฝุ่น PM ขนาดใหญ่เทียบเท่าตึกกว่า 10 ชั้น หรือปรับให้เข้ากับสภาพพื้นที่และสถาปัตยกรรมที่จะทำการติดตั้งต่อไป” รศ. ดร.ชาญชัย กล่าวในที่สุด

157641845987

คณะนักวิจัยเครื่องกำจัดฝุ่น PM 2.5 ด้วยประจุไฟฟ้าไอออน
1. รองศาสตราจารย์ ดร.ชาญชัย ทองโสภา
หัวหน้าสถานวิจัย สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มทส. หัวหน้าทีมวิจัย
2. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนเสฏฐ์ ทศดีกรพัฒน์
หัวหน้าสาขาวิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มทส.
3. อาจารย์ ดร.สำราญ สันทาลุนัย
อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มทส.