‘สังคมปลอดขยะพลาสติก’ แฟล็กชิพเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ ไออาร์พีซี

‘สังคมปลอดขยะพลาสติก’ แฟล็กชิพเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ ไออาร์พีซี

ครั้งแรกของประเทศไทยกับการประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันของ 3 หน่วยงานในการ “นำประเทศสู่สังคม Zero Plastic Waste” เพื่อนำสังคมไทยไปสู่ “สังคมปลอดขยะพลาสติก” ในทุกห่วงโซ่อุปทานหรือซัพพลายเชนครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

3 หน่วยงานประกอบด้วย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันในการ “นำประเทศสู่สังคม Zero Plastic Waste” เพื่อนำสังคมไทยไปสู่ “สังคมปลอดขยะพลาสติก” ในทุกห่วงโซ่อุปทานหรือซัพพลายเชนครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

สร้างแม่แบบให้กลุ่มอาเซียน

157658519741

ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการ วช. กล่าวว่า วช.สนับสนุนทุนวิจัยแก่ ม.เกษตรฯ ดำเนินการศึกษาพัฒนาระบบการรับรอง Zero Plastic Waste เพื่อให้การรับรองอุตสาหกรรมที่ลดการเกิดขยะพลาสติกได้อย่างเบ็ดเสร็จหรือขยะพลาสติกเป็นศูนย์ โดย บมจ.ไออาร์พีซี เป็นรายแรกของไทยที่ได้รับการรับรองดังกล่าวในกระบวนการผลิต ระบบการรับรองนี้จะเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมพลาสติกของประเทศ และจะผลักดันให้เป็นแม่แบบให้แก่ 10 ประเทศในกลุ่มเอเซียนในอนาคต

โครงการผลักดัน Zero Plastic Waste เป็นกิจกรรมหนึ่งในโครงการทะเลไทยไร้ขยะ ซึ่งเป็นแผนงานวิจัยท้าทายไทย (Grand Challenges Thailand) ภายใต้แผนงานวิจัยตอบสนองต่อนโยบายเป้าหมายรัฐบาล โดย วช. เป็นคณะกรรมการกำกับโครงการวิจัยท้าทายฯ และเป็นผู้กำกับดูแลให้บรรลุเป้าหมาย แผนงานวิจัยท้าทายไทยเป็นการสนับสนุนทุนวิจัยที่มีการปรับเปลี่ยนจากรูปแบบเดิม เป็นการบริหารโครงการขนาดใหญ่ มีเป้าหมายชัดเจน ท้าทายให้เกิดการแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศ ทั้งเชิงสังคมและเศรษฐกิจ ด้วยการวิจัยแบบบูรณาการสหสาขาวิชาบริหารจัดการโครงการ

รับรอง รง.รีไซเคิลพลาสติก

รศ.สุชาติ เหลืองประเสริฐ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรฯ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมีบทบาทในการเป็นผู้ตรวจสอบ ซึ่งเริ่มตั้งแต่การออกแบบระบบที่เกี่ยวกับ zero plastic waste ไม่ว่าจะเป็น การจัดทำแบบฟอร์มมาตรฐานที่รับรองและขึ้นทะเบียนโรงงานรีไซเคิลพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติกรีไซเคิล โดยได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว เบื้องต้นกำหนดลักษณะองค์กรที่จะเข้าร่วมกว่า 20 ข้อ 80 กว่าคะแนน แบ่งเป็นระดับต่างๆ โดยนำเกณฑ์มาจากต่างประเทศและพัฒนาให้เข้ากับบริบทของไทย อีกทั้งเป็นเกณฑ์ที่องค์กรเหล่านั้นปฏิบัติอยู่แล้ว เช่น การลดของเสีย การลดใช้พลังงาน หากการจัดวางระบบแล้วเสร็จ ก็จะมีการประชุมอีกครั้งเพื่อแจ้งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องรับทราบ

157658522994

“การที่ไทยมีหน่วยงานรับรองมาตรฐานเหล่านี้ จะช่วยยืนยันในอนาคตที่ว่า สินค้าประเภทนี้ผ่านการรับรองเป็นที่ยอมรับของต่างประเทศที่มีการดำเนินการด้าน zero plastic และช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม จะทำให้เกิดกระแสที่ดีต่อสังคม อีกทั้งเปิดโอกาสให้สินค้าพลาสติกรีไซเคิลของไทยเข้าสู่ตลาดยุโรปได้มากขึ้น และปัญหาขยะพลาสติกในไทยก็จะน้อยลง ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ เพราะเมื่อมาตรฐานการรับรองชัดเจน บริษัทที่แสดงเจตนารมณ์ได้ทดลองใช้ ก็จะนำไปสู่การขยายผลอีก 6,000บริษัทในไทย ที่มีกระบวนการผลิตเกี่ยวข้องกับพลาสติก”

บิ๊กดาต้าดูแลต้นทาง-ปลายทาง

นพดล ปิ่นสุภา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไออาร์พีซี กล่าวว่า บริษัทเริ่มผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิล 100% ตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา จนถึงตอนนี้รวมปริมาณการผลิต 100 ตัน ส่วนการผลิตเม็ดพลาสติกผสมพลาสติกรีไซเคิลมีกำลังการผลิต 2 หมื่นตันต่อปี นับเป็นการส่งเสริมการลดขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน สอดรับแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนและนโยบายรัฐบาลที่ทำโรดแมพการจัดการขยะพลาสติกปี 2561-2573 บรรลุสู่เป้าหมายการนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ 100 % ภายในปี 2570 ดังนั้น เพื่อเป็นการรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และลดปัญหาที่เกิดจากขยะพลาสติก (Waste Polymer) ซึ่งเป็นหนึ่งในความท้าทายที่สำคัญของอุตฯ พลาสติกไทย ขณะที่บริษัทดำเนินธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นน้ำมันบนพื้นฐานของความยั่งยืนเสมอมา

157658524524

จึงได้ร่วมประกาศความร่วมมือในการบริหารจัดการขยะพลาสติกจากแหล่งกำเนิดอย่างยั่งยืน โดยไม่ปล่อยให้มีของเสียออกจากกระบวนการผลิต โดยเป็นไปตามโมเดล POLIMAXX ECO Solution ที่พัฒนาขึ้น เพื่อให้เกิดการรีไซเคิลอย่างถูกวิธีและมีประสิทธิภาพภายใต้กระบวนการทำงานแบบ Close Loop ที่ไม่ทำให้ขยะพลาสติกที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตออกนอกระบบไปเป็นภาระแก่ชุมชนและสังคม รวมถึงการนำบิ๊กดาต้าสร้างเป็นฐานข้อมูล เพื่อรวบรวมขยะพลาสติกจากแหล่งผลิตแต่ละโรงงานทั้งของไออาร์พีซีและลูกค้า ทำให้สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้การบริหารจัดการขยะพลาสติกมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ประหยัดงบประมาณและใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า


ขณะที่การร่วมมือกับ วช.และม.เกษตรฯ จะช่วยยกระดับการแก้ปัญหาขยะพลาสติกตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ใช้งบประมาณน้อย สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ อีกทั้งได้มาตรฐานการรับรองที่ชัดเจนเทียบเท่าต่างประเทศ หากไทยมีหน่วยงานกลางที่สามารถรับรองพลาสติกรีไซเคิล และมีเกณฑ์มาตรฐานที่เป็นระดับสากลก็จะทำให้คู่ค้ามั่นใจ เกิดการสั่งสินค้าเพิ่มและส่งผลทางอ้อมในการนำขยะพลาสติกมาใช้เพิ่มขึ้น


“เราได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก 15 ราย เข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์ เพื่อนำประเทศสู่สังคม Zero Plastic Waste ในหลากหลายอุตสาหกรรม ได้แก่ ผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์รายใหญ่ของไทย ผู้ผลิตและออกแบบของใช้ของแต่งบ้านที่ได้รางวัลมาหลายเวที ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารรายใหญ่ที่ส่งให้ร้านอาหารทั่วประเทศ ผู้ผลิตกระดาษเปียกหรือผ้า Spunbond และ ผลิตถุงกระสอบส่งออกทั่วโลก, ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า และ บริษัท compound plastic ชั้นนำ” นพดล กล่าว