'ยุวชนอาสากาฬสินธุ์' อว.ดันโปรเจคใหญ่แห่งปี
“ยุวชนอาสา” โปรเจคใหญ่แห่งปีของ “สุวิทย์ เมษินทรีย์” รมว.การอุดมศึกษาฯคลิกออฟกลางเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมาในจ.กาฬสินธุ์ มุ่งลดอัตราการว่างงานของบัณฑิตใหม่ไม่เกิน 3 ปีจำนวนกว่า 5 หมื่นคน พร้อมเร่งแก้ปัญหาความยากจน ลดเหลื่อมล้ำ-ฟื้นคุณภาพชีวิต พัฒนาร่วมชุมชน
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ นวัตกรรมและวิจัย (อว.) ตั้งเป้าส่งนิสิตนักศึกษา 800 คน แบ่งเป็นกลุ่มจำนวน 8-10 คนต่อโครงการ รวม 83 โครงการในพื้นที่เป้าหมาย 83 ตำบล ใน 15 อำเภอ จาก ทั้งหมด 18 อำเภอ ของ จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นจังหวัดยากจน 1 ใน 10 ของประเทศ และมีอาจารย์จากสถาบันอุดมศึกษาเป็นที่ปรึกษา ร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้นิเทศงาน ลงพื้นที่ทำงานร่วมกับชาวบ้าน 1 ภาคการศึกษา ให้เงินเดือนไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท
ระยะเวลาดำเนินการเฟส 1 ระหว่างเดือน พ.ย.2562-ก.ย. 2563 ประเด็นการพัฒนาครอบคลุม 4 ด้าน ได้แก่ 1.พัฒนาศักยภาพที่มุ่งเน้นการพัฒนาสินค้าเกษตรและอาหารปลอดภัย 2. ยกระดับคุณภาพและรายได้ด้านการท่องเที่ยว และส่งเสริมการค้า การลงทุน 3. เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 4.การพัฒนาทุนมนุษย์ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างสังคมที่มีความมั่นคงและสงบสุข
นำร่องช่วยเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง
สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษาฯ กล่าวว่า “ยุวชนอาสา” เป็น 1 ใน 3 โปรเจคของ “ยุวชนสร้างชาติ” ซึ่งประกอบด้วย อาสาประชารัฐ กองทุนยุววิสาหกิจเริ่มต้นและยุวชนอาสา ได้รับความเห็นชอบจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีแล้ว เชื่อว่าจะช่วยลดอัตราการว่างงานของบัณฑิตใหม่ในท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบ และที่สำคัญจะก่อให้เกิดอาชีพใหม่ด้วย
โครงการยุวชนสร้างชาติ จะสามารถช่วยลดจำนวนบัณฑิตตกงานได้ประมาณ 10% โดยเริ่มนำร่องด้วยยุวชนอาสา จ.กาฬสินธุ์ผ่านโครงการแก้ปัญหาการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามแก้ยากจน ในพื้นที่บ้านโคกก่องและบ้านโพธิ์ชัย ต.บัวบาน อ.ยางตลาด ซึ่งมีจำนวนคนจนตามระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า(TPMAP) จำนวน 120 คน เพื่อแก้ปัญหาความยากจน
ชาวบ้านในพื้นที่ดังกล่าว พบปัญหากุ้งก้ามกรามที่เลี้ยงนำมาจำหน่ายในตลาดมีขนาดเล็ก น้ำหนัก 25-30 ตัวต่อกิโลกรัม ซึ่งยังไม่เป็นที่พอใจของผู้บริโภค แถมมีราคาสูง ไม่แน่นอน การอนุบาลลูกกุ้งมีอัตราการรอดตายต่ำ ปัญหาสายพันธุ์ลูกกุ้งไม่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์ไปจนถึงปัญหาคุณภาพน้ำจากเขื่อนลำปาว เป็นต้น
ก่อนหน้านี้โครงการ “หมู่บ้านแม่ข่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” ของ อว. ได้เข้ามาช่วยแก้ปัญหาและพัฒนากระบวนการผลิตกุ้งก้ามกรามร่วมกับชาวบ้าน จนกระทั่งได้ผลผลิตที่ดีขึ้น จากนั้นจึงต่อยอดโดยการนำนักศึกษาในโครงการ ยุวชนอาสา ลงไปทำงานร่วมกับชาวบ้าน พร้อมนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามแบบพัฒนาที่ได้มาตรฐานเข้าไปใช้ตั้งแต่การเตรียมบ่อเลี้ยง การจัดหาลูกกุ้ง อาหารรวมทั้งการติดตั้งระบบเติมอากาศที่ประดิษฐ์จากนักศึกษาเข้าไปและนำเทคโนโลยีการแปรรูปผลิตภัณฑ์กุ้งก้ามกรามเพื่อเพิ่มมูลค่า การจัดทำระบบบัญชี เป็นต้น
กุ้งก้ามกรามมีผลผลิตเพิ่มจาก 120 กิโลกรัมต่อไร่เป็น 200 กิโลกรัมต่อไร่ สามารถลดต้นทุนการผลิตจาก 230 บาทต่อกิโลกรัมเหลือเพียง 190 บาทต่อกิโลกรัม รายได้ของเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง สูงขึ้นไม่น้อยกว่า 10% สามารถเพิ่มอัตราการรอดตายของลูกพันธุ์กุ้งจาก 30% เป็น 45% ขนาดของกุ้งสม่ำเสมอ สามารถขายได้ทั้งบ่อพร้อมกัน ที่สำคัญสามารถเป็นต้นแบบให้กับหมู่บ้านอื่นๆ ได้อีกอย่างน้อย 3 หมู่บ้าน
“การนำร่องของโครงการฯ ที่ จ.กาฬสินธุ์ในครั้งนี้เป็นการปักหมุดครั้งใหญ่ของการเปลี่ยนแปลงประเทศ และในวันที่ 13 ม.ค.2563 ยุวชนอาสาทั้ง 800 คนจะไปเป็นแขกของนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล ในฐานะของยุวชนสร้างชาติผู้ที่จะกำหนดอนาคตใหม่ของประเทศ” สุวิทย์ กล่าว
พื้นที่เรียนรู้ห้องนอกเรียน
มหาวิทยาลัยศรีปทุมเป็น 1 ใน 7 สถาบันการศึกษาของประเทศที่ได้เข้าร่วมโครงการยุวชนอาสา ได้นำทีมคณาจารย์และนักศึกษาลงพื้นที่กาฬสินธุ์ ผศ.วิรัช เลิศไพฑูรย์พันธ์ รองอธิการบดี กล่าวว่า เป็นการเรียนรู้เชิงพื้นที่ระยะเวลา 1 ภาคการศึกษา เพื่อพัฒนาชุมชนและยกระดับคุณภาพชีวิตทางเศรษฐกิจและสังคม โดยมีเป้าหมายที่เห็นผลเป็นรูปธรรมและจะเป็นการเรียนรู้รูปแบบใหม่สำหรับนักศึกษา จะได้ฝึกการคิดวิเคราะห์และปฏิบัติงานจริงในพื้นที่พร้อมกับมีอาจารย์เป็นโค้ช (Community Based Learning) สร้างนักศึกษาให้มีความรู้ควบคู่คุณธรรม นำนวัตกรรมสู่สังคมต่อไป
สำหรับโครงการ “ยุวชนอาสา” นับเป็นหนึ่งในพันธกิจสำคัญ ในการปฏิรูปการเรียนรู้ เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เปลี่ยนจากการเรียนในห้องเรียนมาเป็นการลงมือทำจริง นำองค์ความรู้ที่เรียนมาบูรณาการในการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ และพัฒนาคุณภาพชีวิต ของคนในชุมชน โดยได้เลือกกาฬสินธุ์ถือเป็นจังหวัดนำร่องในการดำเนินโครงการนี้ เนื่องจากเป็นจังหวัดที่ติด 1 ใน 10 จังหวัดที่ยากจนที่สุดในประเทศ
ด้าน รศ.จิระพันธ์ ห้วยแสน อธิการบดีมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ กล่าวว่า นักศึกษาในโครงการประกอบด้วย 5 สาขา 4 คณะ ได้แก่ คณะเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม คณะบริหารศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสุขภาพ รวมกลุ่มกันแก้ไขปัญหาและเรียนรู้ให้นักศึกษาและอาจารย์อยู่ในพื้นที่ ใช้ศาสตร์ทุกอย่างที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาชุมชนพร้อมทั้งมาเรียนรู้กับชาวบ้านด้วย เช่น ปัญหาการเลี้ยงกุ้ง ก็นำนักศึกษาหลากหลายสาขามาช่วยดูเรื่องการเลี้ยง การแก้ไขปัญหาน้ำ การทำการตลาดและการบัญชี เป็นต้น