'น้ำมันจากขยะพลาสติก' เอกชนไทยผลิตขานรับ 'เศรษฐกิจหมุนเวียน’
“เครื่องกำจัดขยะพลาสติกและโฟม” นวัตกรรมสัญชาติไทยตอบโจทย์ทั้งปัญหาขยะพลาสติกและความยั่งยืนตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน นำร่องลงพื้นที่ “สุรินทร์” ส่งเสริมชุมชนจัดการขยะอย่างบูรณาการตั้งโต๊ะแลกขยะพลาสติก 7 และ 8 กิโลกรัมต่อดีเซล 1 ลิตรและเบนซิน 1 ลิตร
ในงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการออกแบบโครงการด้านการบริหารจัดการขยะพลาสติก จัดโดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (เอ็นไอเอ) ปราสิทธิ์ พงษ์นุเคราะห์ศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซินฮวดเฮง นวัตกรรม จำกัด กล่าวถึง “เครื่องกำจัดขยะพลาสติกและโฟม” เป็นการเปลี่ยนขยะพลาสติกสู่น้ำมันที่พร้อมใช้งาน โดยริเริ่มคิดค้นพัฒนาเมื่อปี 2558 ด้วยการเรียนรู้จากอินเทอร์เน็ตและลองผิดถูกเรื่อยมา กระทั่งได้ผลสรุปทั้งดีไซน์รูปทรงเครื่องและการผลิตเครื่องต้นแบบออกสู่ตลาด
การทำงานของเครื่องใช้เทคโนโลยีไพโรไลซิส (Pyrolysis) ที่เปลี่ยนโมเลกุลของแข็งให้กลายเป็นของเหลวในอุณหภูมิที่สูงถึง 300-500 องศาเซลเซียส ภายใต้สภาวะปิดไร้ออกซิเจน ทั้งยังออกแบบระบบไม่ให้หลงเหลือมลพิษและควันจากกระบวนการกำจัดขยะอีกด้วย ต่อมาบริษัทต้องการที่จะเสริมแกร่งธุรกิจ จึงเข้าร่วมโครงการคูปองนวัตกรรม เอ็นไอเอ ด้านการจัดการขยะพลาสติก ซึ่งได้รับการสนับสนุน 1.3 ล้านบาท โครงการนี้ภาคเอกชนต้องรับภาระค่าวิจัยพัฒนาก่อน จากนั้นทำการเบิกคืนภายหลังได้ 50% แต่สิ่งที่ดีที่สุดคือ ในฐานะเอกชนการที่จะหานักวิจัยมาร่วมขับเคลื่อนโปรเจคนั้นเป็นไปได้ยาก แต่เอ็นไอเอกลับมีนักวิชาการที่มีศักยภาพมากมายอยู่ในมือ
“สิ่งสำคัญสุดคือ เราได้คอนเนคชั่นและความร่วมมือจากนักวิชาการที่ตรงกับความต้องการของธุรกิจเรา จึงสามารถนำความรู้มาประยุกต์ใช้ได้อย่างดี หมายความว่า ธุรกิจของเราที่ได้พัฒนาเครื่องกำจัดขยะพลาสติกอยู่แล้ว แต่จะทำให้ไปเป็นน้ำมันเบนซิน/ดีเซลที่สามารถตอบโจทย์ผู้ใช้งานได้อย่างไร จึงได้เลือกนักวิชาการด้านเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาเป็นที่ปรึกษาทำให้ได้ผลผลิตน้ำมันที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนได้ จึงนับว่าความรู้ตรงนี้หาซื้อไม่ได้ จะต้องอาศัยกระบวนการของรัฐเท่านั้นจึงจะสำเร็จผล”
ปัจจุบันโปรดักท์มี 2 รูปแบบคือ เครื่องกำจัดขยะขนาด 1.5 ตันต่อวันที่ได้รับสนับสนุนจากเอ็นไอเอ ได้น้ำมันอยู่ที่ 1 พันลิตร และเครื่อง 4.5 ตันได้น้ำมัน 3 พันลิตรในระยะเวลา 1 วันเท่านั้น ในส่วนของน้ำมันรวมจะถูกนำไปผ่านกระบวนการแยกน้ำมันเบนซินและดีเซลให้ออกจากกัน โดยน้ำมันเบนซินจะใช้อุณหภูมิที่ 65-150 องศาเซลเซียส จากนั้นต้องเพิ่มความร้อนไปที่ 250 องศาเซลเซียส น้ำมันดีเซลจะเริ่มต้นออกมา คุณภาพน้ำมันดีเซลที่ดีที่สุดจะอยู่ที่ 450 องศาเซลเซียส ในกระบวนการนี้จะหลงเหลือกากน้ำมันที่มีความเข้มข้น สามารถนำกลับมาใช้เป็นเชื้อเพลิงให้ความร้อนเครื่องกำจัดขยะได้เช่นกัน สำหรับคุณภาพมาตรฐานน้ำมันได้ผ่านการตรวจสอบจากกรมวิทยาศาสตร์บริการแล้ว มีคุณภาพ 95% จึงสามารถใช้ได้กับเครื่องยนต์ทั่วไปทั้งเครื่องจักรกลโรงงาน เครื่องมือการเกษตรต่างๆ ตลอดจนรถยนต์และจักรยานยนต์ โดยไม่มีผลเสียหายต่อเครื่องยนต์
ส่วนในปี 2563 มุ่งเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยบรรเทาปัญหาขยะพลาสติก โดยจะต่อยอดสู่การสร้างนวัตกรรมแปรสภาพเศษวัสดุที่เหลือในกระบวนการผลิต เช่น กากคาร์บอน จะแปรรูปให้เป็นเชื้อเพลิงอัดแท่งเพื่อใช้เตาอบพืชผลทางการเกษตร และสิ่งที่เหลือคือ เถ้า ก็สามารถที่จะนำไปเติมจุลินทรีย์เพื่อใช้ในการกำจัดคราบปิโตรเลียมปนเปื้อน ทำให้กระบวนการนี้ดีต่อสิ่งแวดล้อม และนำไปสู่การจำจัดขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน เพราะขยะพลาสติกและโฟมต้องใช้เวลา 300-1,000 ปี กว่าจะย่อยสลายได้ แต่เมื่อนำมาสู่การแปรรูปเป็นน้ำมัน ใช้เวลาเพียงแค่ 1 วันเท่านั้น
“เครื่องกำจัดขยะพลาสติกและโฟม” เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่สอดรับกับโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เป็น 1 ในองค์ประกอบของโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG ที่เน้นการออกแบบเพื่อการปรับตัวระยะยาว มุ่งเน้นใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือทิ้งมาเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง ก่อให้เกิดประโยชน์กับสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยรวม อีกทั้งทำให้เกิดโอกาสใหม่ๆ ทางด้านธุรกิจและเศรษฐศาสตร์ ผ่าน 5 กลยุทธ์สำคัญคือ ลดการใช้ (reduce) ใช้ซ้ำ (reuse) นำกลับมาใช้ใหม่ (recycle) การต่ออายุ (renew) และการบูรณาการ (reinvent)