ไรส์อัพเกรด 'ซีอีโอ' เร่งสปีดโต้คลื่นดิสรัป
สถาบันเร่งสปีดฯ เปิดเวทีใหญ่แห่งปี “ซีไอเอส 2020” ดึงซีอีโอ-นวัตกรระดับโลกกว่า 200 คนร่วมแชร์มุมมองนวัตกรรมองค์กร ไกด์แนวคิดเพิ่มขีดความสามารถ“ผู้นำ” ขับเคลื่อนธุรกิจเร่งสปีดโต้คลื่นดิสรัปพร้อมเวิร์คช็อป 240 หัวข้อ ตั้งเป้าผู้เข้าร่วมงาน 2 หมื่นคน
นายแพทย์ศุภชัย ปาจริยานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้งสถาบันเร่งสปีดนวัตกรรมองค์กรระดับภูมิภาค (RISE) กล่าวว่า งานในครั้งนี้ไม่ได้แค่ช่วยทรานส์ฟอร์มคนและองค์กรด้วยองค์ความรู้ ทักษะ และเครื่องมือใหม่ๆ เท่านั้น แต่หวังผลักดันประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้กลายเป็นหนึ่งในย่านธุรกิจและนวัตกรรมของโลก
ไกด์ความสำเร็จ“ผู้นำยุคใหม่”
“ดิสรัปชั่น” เป็นความท้าทายที่ทุกองค์กรต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็น การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ดิจิทัล การแข่งขัน การตลาด ตลอดจนพฤติกรรมผู้บริโภคที่พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ จึงทำให้ผู้นำองค์กรต้องรุกขึ้นยืนหยัดเพื่อดาหน้าท้าชนกับอุปสรรคที่ถาโถมเข้ามากระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
การจะไปให้ถึง “เป้าหมาย” ขององค์กรที่ปรับตัว เปลี่ยนแปลงและประสบความสำเร็จได้อย่างแท้จริงนั้น สิ่งสำคัญที่เป็นเสาหลักคือ “ผู้นำองค์กร” จะต้องมีวิชั่นเข้มแข็งและมีคลังความรู้ที่พร้อมจะบูรณาการเพื่อขับเคลื่อนเปลี่ยนผ่านสู่ความสำเร็จ
“นวัตกรรม” เป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักขององค์กรธุรกิจที่ต้องการขยายตัวในอนาคต แต่ทว่าแค่การรับรู้และการเข้าใจเปลี่ยนแปลง ยังไม่เพียงพอที่จะขับเคลื่อนนวัตกรรมต่างๆ ผู้นำจำเป็นต้องลงมือทำจริงเพื่อให้เกิดทักษะความรู้ที่สามารถขับเคลื่อนนวัตกรรมได้จริง
นายแพทย์ศุภชัย กล่าวต่อไปว่า CIS เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ช่วยให้คนในองค์กรเข้าใจเรื่องทรานส์ฟอร์เมชัน และลงมือทำได้จริง ปัจจุบันได้เทรนด์ซีอีโอ ผู้บริหารองค์กรมาแล้วกว่า 6 พันคน สิ่งที่ได้กลับไปไม่ใช่เพียงองค์ความรู้ตามหลักสูตรเท่านั้น แต่คือ นิวโปรดักท์หรือเซอร์วิสที่เกิดใหม่ ทั้งยังช่วยบริษัทในไทยสร้างธุรกิจใหม่ที่เป็นบริษัทลูกกว่า 6 บริษัท ทำรายได้กว่า 500 ล้านบาท
RISE มีความมุ่งมั่นในการเพิ่ม 1% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในไทย (จีดีพี) ในอีก 5 ปีข้างหน้า ขณะที่ตลอด 3 ปีที่ผ่านมาช่วยเพิ่มจีดีพีไปแล้วกว่า 1.1 พันล้านบาท หรือประมาณ 0.25% ของจีดีพี นั่นคือการผลักดันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้เป็น Corporate Innovate Hub หรือศูนย์กลางการสร้างนวัตกรรมองค์กรด้วยเช่นกัน
“คน-เทคโนฯ” คีย์สำคัญการทรานส์ฟอร์ม
อรุณเทพ แสงวารีทิพย์ Executive Transformation Coach,SCG หนึ่งในวิทยากรของงานฯ กล่าวถึงการสำรวจเกี่ยวกับนวัตกรรมองค์กรในเอเชีย พบว่า 70% ของกลุ่มผู้บริหารในองค์กรชั้นนำ เชื่อว่า ดิสรัปชันเป็นความท้าทายที่ทุกองค์กรต้องเผชิญและต้องหาทางรับมืออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ มีเพียง 30% เท่านั้นที่คิดว่าองค์กรของตนนั้นมีแผนการพร้อมที่จะเผชิญกับดิสรัปชัน
ประเทศไทยมีความสามารถในด้านนวัตกรรมองค์กร และการทำงานในอนาคต แต่เมื่อเทียบกับทั้งโลกนั้นถือว่ายังอยู่ในระดับที่ไม่สูง สิ่งแรกที่ควรลงมือทำ คือ วิธีคิด (Mindset) ทักษะ (Skillset) และเครื่องมือ (Toolset) พร้อมทั้งต้องมีระบบสนับสนุนให้สิ่งเหล่านี้มีผลในระยะยาว ทั้งหมดนี้จะเริ่มได้นั้นต้องเริ่มจากระดับซีอีโอ
ส่วนวิธีการทรานส์ฟอร์มสามารถแบ่งเป็น 2 ฝั่งคือ คนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่า เนื่องจากอุปสรรคส่วนใหญ่ในการทรานส์ฟอร์มคือ “สกิลของคน” จึงต้องมีระยะเวลาและเวทีให้พัฒนาตัวเอง อีกทั้งองค์กรควรให้ความสำคัญกับ “เทคโนโลยี” ส่งผ่านองค์ความรู้ไปสู่บุคลากร และมีความตั้งใจทุ่มเทให้งานมีประสิทธิภาพในองค์กรก็จะทำให้องค์กรสามารถขับเคลื่อนสู่ความสำเร็จได้
“การเปลี่ยนองค์กรไม่ต้องเปลี่ยน 100% ก็สร้างอิมแพคได้ แต่เพียงแค่ 20-30% กลุ่มคนกลุ่มนี้จะสร้างเม็ดเงินก้อนใหม่ได้ เช่นเดียวกันกับ SCG ที่จะสร้างธุรกิจใหม่ในอนาคตด้วยคนกลุ่มเล็กๆ ในขณะที่ธุรกิจเดิมนั้นค่อยๆ เปลี่ยนสภาพให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงองค์กร เราต้องการแค่ 3-5% เท่านั้น”
ดังนั้น วิชั่นของบรรดาซีอีโอจึงเปรียบเสมือน “อาวุธลับ” ที่จะต่อกรกับการ “ดิสรัป” ทุกรูปแบบ ซึ่งจะเป็นชัยในการปูทางให้ผู้ชนะได้อยู่รอดในสมรภูมิธุรกิจ ดังนั้น ซีอีโอจึงต้องแสวงหาองค์ความรู้จากผู้มีประสบการณ์และหาพาร์ทเนอร์รอบด้าน เพื่อที่จะทรานส์ฟอร์มสู่ความสำเร็จได้ งาน CIS ครั้งนี้ถือว่าตอบโจทย์เป็นอย่างมาก
เสริมโนว์ฮาว-พลิกมุมคิด
ด้าน วิบูลย์ ปิยวัฒนเมธา อาจารย์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า “ผู้นำยุคดิจิทัล” ควรปฏิบัติเพื่อสร้างสรรค์วัฒนธรรมแห่งนวัตกรรม และสร้างผลลัพธ์ที่สามารถวัดได้ นอกจากนี้การพัฒนาวัฒนธรรมแห่งนวัตกรรม ต้องอาศัยกระบวนการทางความคิดขององค์กร ที่ยกระดับและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของพนักงานแต่ละคน โดยอาศัย “ความรู้” เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ
องค์กรนวัตกรรมจึงควรปูทางการศึกษาให้ทุกคนมีความรู้เท่าเทียมกัน อาทิ ความรู้ด้านทักษะภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีขั้นสูง เป็นสิทธิพื้นฐานที่ทุกคนต้องรับรู้และทุกอย่างก็จะตามมา เนื่องจากความรู้คือจุดเริ่มต้นของความสำเร็จทุกประการ การจัดการความรู้จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยในการพัฒนาคน พัฒนางาน และพัฒนาองค์กรไปด้วยกัน พร้อมสร้างสรรค์ศักยภาพให้องค์กรเติบโตก้าวไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยืน จึงถือได้ว่าการที่จะทำให้ผู้นำขององค์กรเร่งสปีดโต้คลื่นดิสรัปชันได้นั้น “รากฐานการศึกษา” สำคัญที่สุด
Corporate Innovation Summit 2020 (CIS 2020) งานสัมมนาด้านนวัตกรรมองค์กร มีเป้าหมายที่จะทำให้ผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรชั้นนำในเอเชีย สามารถสร้างและพัฒนานวัตกรรมองค์กรในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้อย่างองค์กรระดับโลก ภายใต้ 5 หัวข้อหลัก ที่มีอิทธิพลต่อการขับเคลื่อนนวัตกรรมภายในองค์กร
ได้แก่ Corporate Innovation (นวัตกรรมองค์กร), Future of Work (การทำงานในอนาคต), Deep Technology (เทคโนโลยีขั้นสูง), Creative Innovation (นวัตกรรมสร้างสรรค์) และ Social Innovation and Sustainability (นวัตกรรมเพื่อสังคมและความยั่งยืน)ส่วนวิทยากรเช่น Eric Ries ผู้บุกเบิกแนวคิดแบบ Lean Startup จะถ่ายทอดแนวคิดองค์กรแบบสตาร์ทอัพ สร้างหรือดำเนินธุรกิจด้วยการเริ่มต้นที่น้อยที่สุดเพื่อลดความสูญเปล่า, Ed Catmull ผู้ร่วมก่อตั้ง PIXAR จะถ่ายทอดกระบวนการสร้างสรรค์ของพิกซาร์สำหรับเนื้อหาที่เป็นนวัตกรรม รวมถึงเครื่องมือต่างๆ ที่ใช้ และสามารถนำกลับไปประยุกต์ใช้ได้จริง
กำหนดจัดระหว่างวันที่ 1-3 เม.ย.นี้ ณ พื้นที่ใจกลางราชประสงค์ กรุงเทพฯ ควบรวม 3 โรงแรม ได้แก่ เซ็นทาราแกรนด์ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล และ เกษร เออร์เบิน รีสอร์ท