'เคซีจี-มธ.' เปิดตัวซูเปอร์ฟู้ดโลว์ซูก้าร์
'แบรนด์อิมพีเรียล' รับสิทธิ์เข้าถึงผลงานวิจัย 'มธ.'เรื่องสูตรผลิต “ไรซ์เบอร์รี่สเปรด” แยมข้าวน้ำตาลต่ำและให้พลังงานต่ำ เตรียมผลิตเชิงพาณิชย์ป้อนกลุ่มธุรกิจอาหาร โรงแรม และขยายสู่ผู้บริโภคที่ใส่ใจต่อสุขภาพ
วานนี้ (22 ม.ค.) มีพิธีลงนามในสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในผลงานวิจัยเรื่อง “สูตรและกรรมวิธีการผลิตไรซ์เบอร์รี่สเปรด” ระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กับ บริษัท เคซีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (KCG) เพื่อนำงานวิจัยไปพัฒนาต่อยอดสร้างเป็นผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ ตลอดจนยกระดับอุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทยสู่ตลาดซูเปอร์ฟู้ด หรืออาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง
นายวาทิต ตมะวิโมกษ์ กรรมการผู้อำนวยการบริษัท เคซีจีฯ เปิดเผยว่า ความร่วมมือกับ มธ.โดยคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อต่อยอด “ไรซ์เบอร์รี่สเปรด” แยมข้าวน้ำตาลต่ำและให้พลังงานต่ำ สู่เชิงพาณิชย์ภายใต้แบรนด์ อิมพีเรียล (Imperial) โดยเตรียมนำผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจำหน่ายในรูปแบบ B2B (Business to Business) ให้กับกลุ่มธุรกิจอาหาร โรงแรม ขณะนี้อยู่ระหว่างพัฒนาแพกเกจจิ้ง ตราสินค้า ขนาด เพื่อให้สอดรับกับการใช้งานในแต่ละธุรกิจ
รวมทั้งขยายสู่ช่องทางจำหน่ายในรูปแบบ B2C (Business to Consumer) ผ่านโมเดิร์นเทรด ร้านค้าสะดวกซื้อ เป็นต้น เพื่อเจาะกลุ่มผู้บริโภคที่ใส่ใจต่อสุขภาพ ขณะเดียวกันยังมีแผนนำวัตถุดิบหรือไส้ไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เบเกอรี่อื่น ๆ ตามสายการผลิตของบริษัทฯ อาทิ เวเฟอร์ คุกกี้ และบิสกิต เพื่อสร้างความหลากหลายให้กับผลิตภัณฑ์
นางสาวสุธีรา วัฒนกุล อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร กล่าวเสริมว่า จากแนวคิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนยุคใหม่ ที่เร่งรีบและอาจจะพลาดมื้ออาหารที่สำคัญ ทีมวิจัยจึงได้พัฒนาซูเปอร์ฟู้ด “ไรซ์เบอร์รี่สเปรด” มีลักษณะคล้ายแยมทั่วไป ข้นหนืด แต่มีกลิ่นหอมของแป้งข้าวไรซ์เบอร์รี่และมัลเบอร์รี่ ฆ่าเชื้อด้วยความร้อน (Pasteurization) สามารถเก็บได้นานมากกว่า 6 เดือนที่อุณหภูมิห้อง เพื่อให้สะดวกต่อการเก็บรักษา พกพาและรับประทาน
ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ได้รับความร่วมมือจากทีมนักวิจัยร่วมสาขาฯ คือ อาจารย์กฤติยา เขื่อนเพชร และทีมนักวิจัยของ รศ.สาโรจน์ ศิริศันสนียกุล คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการสนับสนุนองค์ความรู้และวัตถุดิบ คือ น้ำเชื่อมพรีไบโอติกจากแก่นตะวัน เพื่อทำการวิจัยและพัฒนา
ผศ.ณัฐธนนท์ หงส์วริทธิ์ธร คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า “ไรซ์เบอร์รี่สเปรด” จะเป็นทางเลือกให้คนไทยทั้งประเทศในการเลือกรับประทานผลิตภัณฑ์อาหารที่ดีต่อสุขภาพ เนื่องจากมีส่วนประกอบหลักจากวัตถุดิบออร์แกนิคจากภาคการเกษตร ทั้งยังเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ข้าวไรซ์เบอร์รี่และรายได้ที่เพิ่มขึ้นของเกษตรกรไทย ถือเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยในการผลักดัน “งานวิจัยขึ้นห้าง” ได้สำเร็จอย่างมีศักยภาพ และตอกย้ำการเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง
คณะวิทยาศาสตร์ฯ ยังมีโครงการ “ทดสอบผลิตภัณฑ์อาหารทางประสาทสัมผัส” โดยความร่วมมือกับศูนย์ประเมินคุณภาพทางประสาทสัมผัส มธ. ศูนย์รังสิต และ KCG การประเมินคุณภาพอาหารตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ โดยที่ผู้เชี่ยวชาญจะทำการวิเคราะห์ผ่านประสาทสัมผัส ทั้ง 5 มิติคือ การมองเห็น การได้กลิ่น การรับรส การสัมผัส และการได้ยิน เพื่อแยกแยะผลิตภัณฑ์ว่ามีความเหมือนหรือต่าง ค้นหาความต้องการผู้บริโภคได้ วิเคราะห์ข้อมูลความชอบและการยอมรับผลิตภัณฑ์อาหารของผู้บริโภค ฯลฯ
เพื่อเป็นข้อมูลสำคัญที่ช่วยภาคธุรกิจตัดสินใจ และนำไปสู่แนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภค สร้างโอกาสทางการตลาดที่เหนือกว่าบริษัทคู่แข่ง ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันยุคอุตสาหกรรม 4.0 ได้ในอนาคต