‘เนื้อจากพืช’ พร้อมเสิร์ฟ มิติใหม่อาหารแห่งอนาคต
สตาร์ทอัพสายฟู้ดเทค พร้อมส่งผลิตภัณฑ์เนื้อจากพืชในชื่อ “เล็ท แพล็น มีท” ตอบโจทย์กลุ่มคนรักสุขภาพ สอดรับเทรนด์วีแกนไม่เบียดเบียนสัตว์ในทุกกิจกรรม เผยอาหารแห่งอนาคตที่ผ่านกรรมวิธีการแปรรูปอย่างปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้นน้ำจรดปลายน้ำ
“เล็ท แพล็น มีท" (Let’s Plant Meat) เป็นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาเป็นตัวขับเคลื่อน ในการแปรรูปโปรตีนสกัดจากพืช ซึ่งส่วนประกอบหลักจะเป็นจำพวกถั่วเหลือง ข้าว และมีส่วนประกอบอื่นเพิ่มเติม เช่นส่วนผสมที่ให้รสชาติ กลิ่น และเนื้อสัมผัสใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์ แต่อาจจะไม่เหมือนซะทีเดียว จึงต้องมีการพัฒนาต่อยอดเพื่อให้ความกลมกล่อมยิ่งขึ้น โดยอาศัยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และศาสตร์ด้านการปรุงอาหารที่จะนำมาซึ่งความสมบูรณ์ขององค์รวม
‘เนื้อไร้เนื้อ’ กู้วิกฤติอาหาร
ฐิติมา วงศ์ทะกัณฑ์ หัวหน้าฝ่ายวิจัยและพัฒนา บริษัท นิธิฟู้ดส์ จำกัด กล่าวว่า ตามที่คาดการณ์ว่าในปี 2593 หรืออีกราว 30 ปีข้างหน้า โลกจะเผชิญกับวิกฤติทางด้านอาหารอันเนื่องจากประชากรล้นโลก โดยอาจเพิ่มขึ้นเป็น 9,700 ล้านคน ทำให้ความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ทั่วโลกคาดว่าอาจจะเพิ่มสูงขึ้นราว 70% จากปัจจุบัน
ประกอบกับกระแสความนิยมอาหารกลุ่ม Plant-Based ผลิตจากพืช ไม่มีเนื้อสัตว์เจือปน ที่ได้รับความสนใจจากอุตสาหกรรมอาหารและเชนธุรกิจร้านอาหารทั่วโลก ทำให้นิธิฟู้ดส์มองเห็นช่องทางที่จะสร้างโอกาสทางธุรกิจ จึงเสนอผลิตภัณฑ์เนื้อจากพืช เพื่อเป็นทางเลือกที่ทำให้ห่วงโซ่อาหารสั้นลง โดยหวังที่จะนำสารอาหารจากธรรมชาติโดยตรงสู่อาหารของมนุษย์
ผู้บริโภคสามารถนำไปประกอบอาหารได้โดยง่าย เพียงแค่ทอดหรือผัดตามสูตรอาหารของแต่ละบุคคล สำหรับกลุ่มเป้าหมายไม่ได้มีแค่ผู้ที่รับประทานอาหารเจหรือมังสวิรัติเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้ที่รับประทานเนื้อสัตว์ที่ใส่ใจสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอีกด้วยเช่นกัน
“หัวใจของเราคือวัตถุดิบต้องมาจาก “พืช” เป็นหลัก ผสมผสานกับขั้นตอนการผลิต ทำให้ผลิตภัณฑ์มีรสชาติอร่อยและมีคุณภาพเทียบเคียงกับผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ มีประโยชน์ต่อสุขภาพและมีความหลากหลาย ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคทั้งในด้านรสชาติ คุณค่าทางโภชนาการ ราคาและประสบการณ์ในการปรุงอาหาร"
ส่วนความยากของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในครั้งนี้ คือการที่จะทำให้เนื้อจากพืชมีสัมผัส รสชาติ การประกอบอาหารใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์มากขึ้น และผู้บริโภคไม่รู้สึกแตกต่าง ซึ่งขั้นตอนนี้ต้องอาศัยการวิจัยและพัฒนาเพื่อตอบโจทย์ท้าทายดังกล่าว
ตลาดเทรนด์พืชมาแรง
ทีมงานใช้เวลาค้นคว้าวิจัยกว่า 10 เดือน โดยได้สำรวจตลาดทั่วโลกพบว่าเทรนด์ผลิตภัณฑ์เนื้อจากพืชเติบโตขึ้นอย่างน่าตกใจ แต่ในประเทศไทยนั้นตลาดยังอยู่ในช่วงตั้งไข่ การพัฒนาผลิตภัณฑ์จึงมีผู้ผลิตเพียงน้อยราย แต่เนื่องจากพื้นเพของคนไทยที่นิยมอาหารจากธัญพืชอยู่แล้ว อาทิ น้ำเต้าหู้ เต้าเจี้ยว ทำให้การแพ้ธัญพืชอาจจะมีจำนวนเพียงเล็กน้อย จึงเป็นโอกาสที่ทำให้เนื้อจากพืชได้รับการยอมรับมากขึ้น
“จากข้อมูลพบว่ามูลค่าตลาดในเอเชียแปซิฟิกของสินค้าเนื้อจากพืชในปีที่ผ่านมาอยู่ที่ประมาณ 2,000 ล้านดอลลาร์ คาดการณ์ว่าในปี 2568 จะเพิ่มเป็น 3,500 ล้านดอลลาร์ หรือคิดการเติบโตเฉลี่ย 12% ต่อปี ในขณะที่ตลาดเนื้อสัตว์เติบโตเพียง 4% ต่อปีเท่านั้น จึงแสดงให้เห็นว่าความต้องการอาหารอย่างเช่น เนื้อจากพืชในภูมิภาคนี้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งนับว่าเป็นโอกาสของผู้ผลิต Plant-Based Meat ที่จะมียอดขายเพิ่มขึ้นเช่นกัน”
แผนการต่อไปของเล็ท แพล็น มีท คือการคิกออฟโปรเจคและเริ่มดำเนินการวางแผนขั้นตอนการผลิตออกสู่ตลาด โดยจะสั่งซื้อเครื่องจักรผลิตในสเกลที่ไม่ใหญ่มาก พร้อมทั้งจะดำเนินการในส่วนของการขออนุญาตการผลิตอาหาร จากนั้นจะเดินเครื่องผลิตทันที คาดว่าจะเริ่มดำเนินการในไตรมาส 1 ของปีนี้ ในส่วนของการเปิดตัวสินค้าสู่ตลาด คาดว่าจะอยู่ในช่วงไตรมาส 2
ทั้งนี้ แผนการตลาดจะเน้นไปที่ส่วนของเชนธุรกิจร้านอาหารที่มีจำนวนสาขามาก และตลาดกลุ่มสินค้าบริโภคในซูเปอร์มาร์เก็ต ส่วนทางด้านตลาดออนไลน์ ฐิติมามองว่ายังอยู่ในแพลนอนาคตและจะมีการวางแผนเพิ่มเติม เนื่องจากจะต้องคำนึงถึงการขนส่งควบคู่ไปด้วย