'จิวเวลรี่วัดค่าฝุ่นจิ๋ว' อวดโฉมงานวันนักประดิษฐ์
เริ่มแล้วงาน "วันนักประดิษฐ์ 2563”โชว์ศักยภาพการประดิษฐ์คิดค้นของไทย-นานาชาติกว่า 1,500 ผลงาน พร้อมนำไปใช้ให้เกิดการขยายผลและเกิดประโยชน์ในมิติต่างๆ ขณะเดียวกัน วช.เข้มมาตรการป้องกันไวรัสโคโรนา ทั้งหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ สร้างความมั่นใจผู้ร่วมงาน
งาน “วันนักประดิษฐ์” เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ซึ่งปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 22 เพื่อรำลึกถึงวันประวัติศาสตร์ในการทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรการประดิษฐ์ “เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย” หรือ “กังหันน้ำชัยพัฒนา” แด่ในหลวงรัชกาลที่ 9 “พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย” ซึ่งเป็นสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของไทยและเป็นครั้งแรกของโลก
จิลเวลรี่วัดค่าฝุ่นพีเอ็ม 2.5
“มายแอร์” เครื่องประดับตรวจวัดฝุ่นพีเอ็ม 2.5 เป็นหนึ่งในผลงานสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมที่จัดแสดงในงานวันนักประดิษฐ์นี้ คิดค้นโดย อดิสร เตือนตรานนท์ นักวิจัยอาวุโส หัวหน้ากลุ่มวิจัยฝ่ายวิจัยกราฟีนและนวัตกรรมการพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ กล่าวว่า ผลงานดังกล่าวเป็นการพัฒนาและออกแบบเซ็นเซอร์เพื่อใช้สำหรับการเฝ้าระวังฝุ่นจิ๋ว ในระดับการรับรู้เชิงบุคคล
เนื่องจากการวัดค่าตามมาตรฐานที่เปิดดูตามสมาร์ทโฟนนั้น จะแสดงค่าตามที่เครื่องตรวจวัดตั้งอยู่เท่านั้น ทำให้ตัวบุคคลที่อยู่ในสถานที่อื่นๆ ไม่สามารถได้รับค่าที่ตรงตามความจริง สิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้จะช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถตรวจสอบภาวะเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ในพื้นที่ที่ตนเองอยู่ ผลงานดังกล่าวเป็นการพัฒนาต่อยอดมาจาก AI.Enose ที่ทางคณะวิจัยได้พัฒนาขึ้นก่อนหน้านี้
“แนวคิดในการออกแบบ เริ่มจากการที่อยากได้เครื่องมือวัดฝุ่นรอบๆ ตัวว่าอันตรายหรือไม่ และควรสวมหน้ากากหรือไม่ เพราะปกติอุปกรณ์เหล่านี้จะต้องนำเข้าจากต่างประเทศ และมีขนาดใหญ่ จึงมีแนวคิดที่จะพัฒนาเซ็นเซอร์ให้มีขนาดเล็กลง พร้อมทั้งหาอุปกรณ์ทดแทนพัดลมโดยใช้เป็นเพียโซอิเล็กทริกในรูปแบบหนา 7 มิลลิเมตร ซึ่งจะทำงานตลอดเวลา สามารถเปิดใช้งานได้สูงสุด 2 วันต่อการชาร์จแบตเตอรี่ 1 ครั้ง พร้อมทั้งแสดงค่าผ่านสมาร์ทโฟนอีกด้วย”
นักวิจัยได้พัฒนาเซ็นเซอร์ดังกล่าวเป็นจิวเวลรี่อิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบต่างๆ เช่น พวงกุญแจ สร้อยคอ เพื่อความสะดวกใช้งาน นอกจากนี้ยังช่วยลดการใช้หน้ากากอนามัยโดยไม่จำเป็น และลดสภาวะเสี่ยงที่จะเกิดโรคจากฝุ่นละอองที่ตามมา
ส่วนประสิทธิภาพการทำงานนั้น ค่าความแม่นยำเทียบเท่ากับเครื่องมาตรฐานในท้องตลาด แต่จะมีขนาดเล็กกว่า 3 เท่า ต้นทุนไม่เกิน 2 พันบาท ปัจจุบันได้พัฒนาร่วมกับบริษัท กราวิเทคไทย (ไทยแลนด์) จำกัด เพื่อต่อยอดออกสู่เชิงพาณิชย์ โดยตั้งเป้าจำนวนผลิตกว่า 1 พันชิ้นต่อเดือน และจะออกสู่ตลาดได้ภายในปี 2563
นอกจากเครื่องประดับตรวจวัดฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ยังมีผลงานสิ่งประดิษฐ์อื่นๆ ที่พร้อมใช้ เช่น ระบบส่งหลอดเลือดอัตโนมัติ อุปกรณ์ตรวจวัดสุขภาพการนอนหลับ ข้อสะโพกเทียมที่เหมาะกับกายวิภาคคนไทย สารป้องกันน้ำยางพาราสดบูดเน่า โคมไฟสำหรับปลูกพืช เครื่องวัดและควบคุมการสังเคราะห์แสงของพืชเพื่อการเกษตรสมัยใหม่ เป็นต้น
มาตรการเข้มสกัดไวรัสโคโรนา
นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยงานสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า กิจกรรมงานวันนักประดิษฐ์นี้เป็นเสมือนเวทีแสดงความก้าวหน้าด้านการประดิษฐ์คิดค้นของประเทศ ที่จะเกิดการขยายผลและนำไปใช้ประโยชน์ในมิติต่างๆ สอดคล้องกับเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อให้ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ภายใต้แนวคิด “สิ่งประดิษฐ์สร้างสรรค์ พัฒนาก้าวไกล นวัตกรรมไทยยั่งยืน”
ทั้งนี้ งานจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-6 ก.พ.นี้ ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ ตลอดระยะเวลาของการจัดงานทั้ง 5 วัน ทาง วช.มีมาตรการป้องกันไวรัสโคโรนา เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้เข้าร่วมงาน คือ 1.จุดบริการติดตั้งเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ บริเวณประตูทางเข้า-ออก และจุดต่างๆ ภายในงาน 2.แจกหน้ากากอนามัยให้กับผู้เข้าร่วมงานกว่า 3 พันชิ้น 3.ภายหลังจากการจบงานในแต่ละวัน ได้ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ให้ทำการฉีดและอบโอโซนฆ่าเชื้อโรค ซึ่งรวมถึงไวรัสโคโรนา และไข้หวัดใหญ่ H1N1 เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้เข้าชมงาน
ส่วนผู้ที่เดินทางมาร่วมงานจากต่างประเทศนั้น ทาง วช.ให้ความเห็นว่า นักประดิษฐ์ชาวต่างชาติกลุ่มนี้ได้ผ่านการตรวจสอบที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งมีมาตรการรัดกุมอยู่แล้ว จึงไม่น่าเป็นกังวลแต่อย่างใด