สกสว.วิจัย ‘เจลต้านผิวอักเสบ’ สูตรผสม 'น้ำมันจระเข้’
‘ไขมันจระเข้’ นับเป็นของเหลือทิ้งที่สร้างปัญหาให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการผลิตหนังและเนื้อจระเข้น้ำจืดอย่างมาก เพราะหากทิ้งไว้จะเน่าเสีย ส่งกลิ่นเหม็น และสร้างมลพิษให้กับสิ่งแวดล้อม ขณะที่การกำจัดต้องมีการฝังกลบอย่างถูกวิธี และมีค่าใช้จ่ายค่อนข้าง
ใครว่าจระเข้มีดีแค่เนื้อและหนัง เมื่อนักวิจัย สกสว. ศึกษาพบ ‘ไขมันจระเข้น้ำจืด’ วัสดุเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมการเลี้ยงจระเข้ มีกรดไขมันโอเมก้า 9 สูง มีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดและยับยั้งการอักเสบ เผยพัฒนากระบวนการสกัดน้ำมันจระเข้ได้สำเร็จ พร้อมต่อยอดสร้างผลิตภัณฑ์ ‘เจลบำรุงผิวต้านการอักเสบจากไขมันจระเข้’ วางจำหน่ายแล้ว
นายเมธัส เงินจันทร์ นักศึกษาปริญญาเอก คณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า ที่ผ่านมาผู้ประกอบต่างประสบปัญหาในการกำจัดไขมันจระเข้น้ำจืด ดังเช่น กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านทราย จังหวัดสงขลา ซึ่งมีอาชีพเลี้ยงขุนจระเข้น้ำจืดในบ่อดิน เพื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์เนื้อจระเข้แช่แข็ง แปรรูปหนัง และผลิตเลือดจระเข้แห้ง มีกำลังการผลิตจระเข้ 250-400 ตัว/เดือน แต่ละเดือนมีก้อนไขมันในช่องท้องที่เป็นส่วนเหลือจากการแปรรูปมากถึง 8 ตัน เดิมทีกลุ่มฯ จะเก็บก้อนไขมันแช่แข็งไว้รอจำหน่าย แต่ไม่คุ้มราคา สุดท้ายต้องกำจัดทิ้งด้วยการฝังกลบ โดยต้องใช้รถแบคโฮขุดในระดับความลึกที่กฎหมายกำหนด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้มีค่าใช้จ่ายในการกำจัดมูลค่าสูงนับล้านบาทต่อปี เพื่อหาแนวทางในการนำไขมันจระเข้ไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม
นายเมธัส ได้ศึกษาวิจัย ‘ผลของน้ำมันจระเข้น้ำจืดต่อภาวะเครียดออกซิเดชั่นและการตอบสนองต่อภูมิคุ้มกันในหนูขาว เพื่อการเพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร’ โดยมี ผศ.ดร.ดวงพร อมรเลิศพิศาล หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมทางการเกษตรสำหรับบัณฑิตผู้ประกอบการ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ภายใต้ทุนโครงการพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม (พวอ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ในงานวิจัยได้นำก้อนไขมันจระเข้จากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านทรายมาสกัดน้ำมัน เพื่อวิเคราะห์หาสารประกอบและสารสำคัญต่างๆ รวมทั้งทดสอบการออกฤทธิ์ทางชีวภาพ พบว่า น้ำมันจระเข้นั้นอุดมไปด้วยสารสำคัญต่างๆ มีกรดไขมันอิ่มตัว 28.5% กรดไขมันไม่อิ่มตัว 71.5% และมีสัดส่วนของกรดไขมันโอเมก้า 9 สูงถึง 44.13% ซึ่งมีประโยชน์ในการควบคุมระดับไขมันและน้ำตาลในเลือด ลดกระบวนการอักเสบได้ดี
การพบปริมาณกรดไขมันโอเมก้า 9 ที่สูงมากในน้ำมันจระเข้ ทำให้มีความสนใจเรื่องประสิทธิภาพการออกฤทธิ์ในการลดระดับน้ำตาลในเลือด เพราะเคยมีรายงานการวิจัยพบว่า น้ำมันปลาจากกลุ่มปลาหนังลูกผสม (hybrid catfish) ที่มีโอเมก้า 9 สูง สามารถลดระดับน้ำตาลกลูโคส ไขมันคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือดของหนูขาวที่มีภาวะเบาหวานได้ แต่ในครั้งนี้งานวิจัยมุ่งศึกษาจำเพาะไปที่ ‘กลไกการพากลูโคสเข้าสู่กล้ามเนื้อลาย’ เนื่องจากในภาวะปกติเมื่อระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดเพิ่มสูงขึ้นหลังมื้ออาหาร ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนอินซูลินจากตับอ่อนออกมาสู่กระแสเลือดเพิ่มขึ้น ซึ่งฮอร์โมนอินซูลินจะมีกลไกกระตุ้นการพากลูโคสเข้าสู่กล้ามเนื้อลาย และพบว่าสามารถพากลูโคสเข้าสู่กล้ามเนื้อลายได้มากถึง 70% ดังนั้น สารหรือยาใดก็ตามที่กระตุ้นหรือเพิ่มการพากลูโคสเข้าสู่กล้ามเนื้อลายได้ แสดงว่ามีศักยภาพที่จะนำไปช่วยควบคุมระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดได้
ทีมวิจัยได้ศึกษา ‘ผลของการใช้น้ำมันจระเข้ต่อการพากลูโคสเข้าสู่กล้ามเนื้อกระบังลมของหนูขาว’ โดยการให้อาหารที่มีส่วนผสมน้ำมันจระเข้ที่ความเข้มข้นต่างกันแก่หนูขาว พบว่า น้ำมันจระเข้สามารถเพิ่มการพากลูโคสเข้ากล้ามเนื้อในภาวะที่มีฮอร์โมนอินซูลินได้อย่างมีนัยสำคัญ มีโอกาสที่จะพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสำหรับป้องกันผู้ที่มีสภาวะเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานในอนาคต อย่างไรก็ดี กรดไขมันโอเมก้า 9 เป็นกรดไขมันดีที่ยังมีประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย ทั้งช่วยบำรุงผิวให้ผิวชุ่มชื้น ปกป้องผิวจากแสงแดด รวมทั้งยังมีมีฤทธิ์ลดการอักเสบได้ดี ต่อต้านเชื้อราและแบคทีเรีย ช่วยสมานแผล กระตุ้นชั้นเซลล์ผิวใหม่ทำให้แผลหายเร็วขึ้น จึงเหมาะต่อการนำไปสร้างผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย
นายเมธัส กล่าวว่า ขณะนี้มีการศึกษาพัฒนาเทคนิคกระบวนการสกัดสารออกฤทธิ์สำคัญจากน้ำมันจระเข้ โดยวิจัยหาสภาวะต่างๆ เช่น อุณหภูมิ ความดัน และระยะเวลาที่เหมาะสมในการสกัดสารออกฤทธิ์ให้ได้ในปริมาณมากและมีต้นทุนต่ำได้สำเร็จ เพื่อนำมาใช้เป็น ‘สารให้ประโยชน์เชิงหน้าที่ หรือ Functional ingredient’ สำหรับต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ เบื้องต้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ ‘เจลบำรุงผิวต้านการอักเสบจากน้ำมันจระเข้’ ได้สำเร็จ มีสรรพคุณเด่น คือบำรุงผิวให้ชุ่มชื้นและต้านการอักเสบกล้ามเนื้อ โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือกลุ่มผู้ที่มีอาการปวด เมื่อย มีการอักเสบของกล้ามเนื้อจากการออกกำลังกาย รวมไปถึงผู้มีสภาวะเสี่ยงต่อ Office syndrome โดยผลิตภัณฑ์มีการขออนุญาตจดแจ้งผลิตภัณฑ์เวชสำอางจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และผลิตวางจำหน่ายเรียบร้อยแล้ว ส่วนในอนาคต ทีมวิจัยเตรียมพัฒนาน้ำมันจระเข้สู้ผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น โฟมล้างหน้า เซรั่มบำรุงผิว และครีมกันแดด เป็นต้น”
งานวิจัยครั้งนี้ นับเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับไขมันจระเข้ซึ่งเป็นของเหลือทิ้ง ทำให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตหนังและเนื้อจระเข้มีรายได้เพิ่มขึ้น ที่สำคัญยังเป็นการทำให้เกิด Zero waste ลดของเสียให้เป็นศูนย์ ส่งเสริมให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อหยุดการสร้างมลพิษให้แก่โลก