‘ไวรัสโคโรน่า-โอลิมปิกญี่ปุ่น’ ปัจจัยดันส่งออกอาหารโต
เปิดวิชั่นปี 63 “แม่ทัพสถาบันอาหาร” เร่งสร้างนักรบอุตสาหกรรมอาหารพันธุ์ใหม่ติดอาวุธด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ยกระดับมาตรฐานการผลิตสำหรับตลาดโลก พร้อมทั้งเตรียมพร้อมบุคลากรและองค์ความรู้รองรับการปลดล็อกกฎหมายกัญชง วัตถุดิบใหม่มาแรงในอาหารและเครื่องดื่ม
‘มาตรฐาน’ประตูด่านแรก
อนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวในงานสัมมนา Future Food Tech หัวข้อมาตรฐานอาหารสำหรับตลาดโลก ว่า สถาบันอาหารวางเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็น 1 ใน 10 ผู้ส่งออกอาหารของโลก และศูนย์กลางการผลิตอาหารเพื่อสุขภาพของอาเซียน ปีที่ผ่านมาไทยส่งออกอาหารโลกติดอันดับที่ 11 มีมูลค่าส่งออก 33,100 ล้านดอลลาร์ ครองส่วนแบ่งในตลาดโลก 2.5% และในระดับภูมิภาคเอเชีย พบว่า ไทยส่งออกอยู่ในอันดับที่ 2 รองจากจีน ปัจจัยสำคัญพื้นฐานที่จะทำให้เป้าหมายของสถาบันฯ บรรลุผลคือ มาตรฐานอาหารสำหรับตลาดโลก
มาตรฐานพื้นฐานสำหรับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารคือ GMP GHP ส่วนมาตรฐานขั้นสูงสำหรับอุตสาหกรรมอาหารที่มีความเสี่ยงสูง เช่น อาหารแช่แข็ง คือ HACCP และมาตรฐานที่ครอบคลุมทั้งข้อกำหนดของ GMP และ HACCP และระบบบริหารจัดการก็คือ ISO ที่จะต้องมีความพร้อมทั้งหมด ผู้ประกอบการต้องคำนึงถึงมาตรฐานต่างๆ ควบคู่กับการผลิต เพราะแต่ละประเทศมีมาตรฐานและกฎระเบียบแตกต่างกัน จึงต้องศึกษาและปฏิบัติให้ตรงตามข้อกำหนดนั้นๆ เพื่อที่จะทำการส่งออกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ฐานการผลิตของโรงงานอาหารขนาดใหญ่ 5 อันดับแรกอยู่ในอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ อาหารจากแป้ง ผักและผลไม้แปรรูป สัตว์น้ำ และแป้งข้าว ตามลำดับ โดยจำนวน 111,000 กิจการส่วนใหญ่เป็นกิจการขนาดเล็ก 83% ขนาดกลาง 10% และขนาดใหญ่ 10% ส่วนมูลค่าเงินลงทุนสะสมในอุตสาหกรรมมีประมาณ 712,000 ล้านบาทที่มีการลงทุนสำหรับการรับรองมาตรฐานระบบคุณภาพ สำหรับมาตรฐานใหม่ในระดับสากลอยู่ที่ประมาณ 100,000 – 500,000 บาทต่อโรงงาน ขณะที่การรับรองมาตรฐานการผลิตขั้นต้น มีการลงทุนประมาณ 5 หมื่นบาทขึ้นไปต่อโรงงานหรือสถานที่ผลิตอาหาร
สถาบันอาหารเป็นหน่วยบริหารของภาครัฐ ที่ช่วยผู้ประกอบการยกระดับมาตรฐานการผลิตเทียบเท่ากับระดับสากล โดยมีกระบวนการทำงานที่หลากหลายเป็นไปตามที่มาตรฐานกำหนด จึงสามารถให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึก รวมทั้งบริการด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม การออกแบบบรรจุภัณฑ์ การขออนุญาตขึ้นทะเบียน การตรวจวิเคราะห์ด้านห้องปฏิบัติการ การจัดทำแผนธุรกิจและการตรวจประเมินรับรองระบบมาตรฐาน จึงสามารถสร้างความเชื่อมั่นด้านอาหารปลอดภัยให้กับผู้ผลิตและผู้ให้บริการอาหารทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทุกระดับตั้งแต่วิสาหกิจชุมชน สตรีทฟู้ด ปัจจุบันมีสมาชิกผู้ประกอบการกว่า 1,000 ราย
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรับมือกับการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมอาหารสู่โรงงานอัจฉริยะ (Smart Factory) สถาบันอาหารได้เชื่อมโยงและสร้างเครือข่ายด้านเทคโนโลยีกับหน่วยงานชั้นนำในต่างประเทศ เพื่อเป็นเส้นทางลัดในการพัฒนาและถ่ายทอดให้ผู้ประกอบการมีความรู้ ความเข้าใจและนำมาปรับใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น เนื่องจากการเลือกใช้เทคโนโลยีมีส่วนสำคัญในการทำให้ผลิตภัณฑ์มีคุณสมบัติดีและอายุการเก็บรักษาที่เหมาะสม จะทำให้ธุรกิจอาหารเติบโต และลดความเสี่ยงที่เกิดจากภัยธรรมชาติอีกด้วย
‘ไวรัสโคโรน่า’หนุนส่งออกอาหาร
ฝ่ายวิจัยและข้อมูลสถาบันอาหารได้รวบรวมและประมวลผลจากฐานข้อมูลพบว่า จากสถานการณ์อุตสาหกรรมอาหารปี 2562 ดัชนีการผลิตลดลงกว่า 2% สาเหตุอันเนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัวลงจีดีพีอยู่ที่ 2.5% รายได้ครัวเรือนลดลงเฉลี่ยต่อเดือนเหลือเพียง 26,371 บาท เงินเฟ้อสูงขึ้นทำให้การบริโภคในประเทศลดลง และก็เช่นเดียวกันกับเศรษฐกิจโลกชะลอตัว เงินบาทแข็งค่า ราคาสินค้าอาหารลดลงทำให้การส่งออกลดลงตามไปด้วย โดยสาขาอุตสาหกรรมที่มีผลผลิตลดลงคือน้ำตาล 6.1% แป้งมันสำปะหลัง 4.7% กุ้ง 1.2% และสับปะรด 20%
แต่กระนั้นก็มีสัดส่วนอุตสาหกรรมที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นได้แก่ 1.เนื้อไก่มีการเติบโต 2% เนื่องจากจีนนำเข้าเพิ่มขึ้นหลังเกิดการระบาดของโรคระบาด 2.ปลาทูน่ากระป๋อง 3.5% ด้วยการที่ต้นทุนวัตถุดิบปลาทูน่าแช่แข็งลดลงประเทศคู่ค้ามีความต้องการเพิ่มสูงขึ้น 3.เครื่องปรุงรสเติบโต 3.2% โดยขยายตัวในกลุ่มผลิตเพื่อส่งออก ผู้ผลิตนำผลิตภัณฑ์ใหม่ๆออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่องผลประกอบการจึงเติบโตตามไปด้วย 4.มะพร้าวเติบโต 5% เนื่องจากต้นทุนราคามะพร้าวลดลง ตลาดส่งออกขยายตัวต่อเนื่อง และอาหารพร้อมทานโต 8.2% สอดรับกับเทรนด์การบริโภคที่อยู่ในยุคเร่งรีบทุกคนมองหาอาหารจำพวกทานง่ายและพร้อมทานมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ คาดการณ์สถานการณ์การส่งออกอาหารไทยปี 2563 พบว่า จุดหลักมาจากค่าเงินหากค่าเงินอ่อนตัวอยู่ที่ 30.4 บาทต่อดอลลาร์ก็จะสร้างมูลค่าในทางบวกประมาณ 3.5% ต่อการส่งออกสินค้า ซึ่งปัจจุบันแนวโน้มการส่งออกจะเป็นกลุ่มอาหารแปรรูป โดยจากต่ำกว่า 40% เพิ่มเป็น 50% ส่วนวัตถุดิบจาก 60% ลดเหลือ 50% แสดงให้เห็นว่าเป็นแนวโน้มที่ดีที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบในประเทศ เช่น จากส่งออกเมล็ดข้าวก็เปลี่ยนเป็นสแน็คข้าวรสชาติต่างๆ ส่วนสถานการณ์ในปี 2562 ส่งออกอาหารวูบติดลบ 3.8% ติดลบครั้งแรกในรอบ 5 ปี
ปัจจัยสนับสนุนของอุตสาหกรรมอาหารไทยในปี 2563 เนื่องมาจาก 1.สถานการณ์สงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนลดความตึงเครียดลง จึงมีการนำเข้าสินค้าจำพวกเนื้อสัตว์เพิ่มมากขึ้นหลังเกิดการระบาดของโรคอหิวาห์แอฟริกันในสุกร รวมถึงจีนให้การรับรองโรงงานไก่ในไทยเพิ่มขึ้น 2.มหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนที่กำลังจะจัดขึ้นในญี่ปุ่นช่วงครึ่งปีหลัง จะเกิดความต้องการสินค้าอาหารเพิ่มมากขึ้นเพื่อรองรับนักกีฬา เจ้าหน้าที่ รวมถึงนักท่องเที่ยว 3.เศรษฐกิจในประเทศมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากแรงหนุนของแผนงานรัฐบาลที่คาดว่าจะทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นมาตรการที่จะออกแบบให้เหมาะกับแต่ละกลุ่มเป้าหมาย 4.โคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ 2019 ที่ส่งผลต่อความต้องการอาหารที่มากขึ้นโดยเฉพาะจากประเทศที่เป็นพื้นที่ระบาดของโรค
สงครามการค้า ตัวฉุดส่งออกวูบ
ส่วนทางด้านปัจจัยเสี่ยงอันเนื่องมาจากต้นทุนการผลิตและการขนส่งที่ส่งผลต่อแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามราคาพลังงาน หากสงครามระหว่างอิหร่านและสหรัฐฯ ปะทุและลุกลามคือ 1.ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ Brexit กระทบต่อการส่งออกอาหารไทยเพราะจะเกิดความไม่ชัดเจนเรื่องกฎเกณฑ์สินค้า เงื่อนไขการค้า เช่น กฎหมาย อัตราภาษี โควตาภาษี 2.ภัยแล้งจะกระทบทำให้ปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตร วัตถุดิบในประเทศลดลง ราคาปรับตัวสูงขึ้น กระทบต้นทุนอุตสาหกรรมแปรรูป 3.สินค้าอาหารไทยบางรายได้รับผลกระทบจากการถูกสหรัฐฯตัด GSP โดยเฉพาะในกลุ่มอาหารสำเร็จรูปจำพวกพาสต้า บะหมี่กี่งสำเร็จรูป เกี๊ยว 4.ภัยคุกคามจากการขยายตัวของสินค้า plant based food ต่ออุตสาหกรรมเนื้อสัตว์และอาหารทะเล ที่ยังไม่มีการเตรียมรับมือ
“ดังนั้นสำหรับเทรนด์มาตรฐานก็จะมีเรื่องวัฒนธรรมของซัพพลายเชนที่ไม่ใช่แค่วัฒนธรรมขององค์กรเพื่อให้ได้มาซึ่งกระบวนการที่โปร่งใสและตรวจสอบย้อนกลับได้ ดังนั้นมาตรฐานระดับโลก (Global Standard) ผู้ประกอบการไทยพึงต้องมี เพื่อที่จะเป็นแนวทางในการยกระดับมาตรฐานของผู้ประกอบการไทยให้สามารถเทียบเท่ากับระดับสากลได้”
‘กัญชง’เป้าหมายวัตถุดิบใหม่
สำหรับวิชั่นของปี 2563 สถาบันอาหารจะทุ่มเทบุคลากรให้กับการศึกษาวิจัยการผลิตอาหารและเครื่องดื่มจากกัญชง ให้เกิดองค์ความรู้ที่พร้อมถ่ายทอดแก่ผู้ประกอบการในทุกมิติ โดยจะทำงานร่วมกับหลายภาคส่วนเพื่อความรวดเร็วและเตรียมความพร้อมหลังการปลดล็อกกฎหมายเกี่ยวกับกัญชง พร้อมทั้งส่งเสริมให้มีการผลิตอาหารปลอดภัยตลอดห่วงโซ่ขยายวงกว้างออกไปอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องอาหารไทย เผยแพร่อัตลักษณ์อาหารไทยและศักยภาพการเป็นครัวของโลกผ่านศูนย์การเรียนรู้อาหารไทย (Thai Food Heritage) อีกด้วย
“กระบวนการทั้งหมดนี้จะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการอาหารของไทยทุกระดับตั้งแต่ภูมิภาคจนถึงระดับประเทศเข้มแข็งขึ้น โดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่กำลังจะเข้าสู่สมรภูมินี้ให้พร้อมสู้รบกับทุกสภาวการณ์และเพื่อเป็นเสาหลักฐานสำคัญด้านเศรษฐกิจของประเทศที่มีพร้อมก้าวสู่การแข่งขันในระดับที่สูงขึ้นเทียบเท่ากับสากลได้” อนงค์กล่าว