เด็กอุบลฯ สร้างเครื่องตัดใบอ้อยลดฝุ่น PM2.5

เด็กอุบลฯ สร้างเครื่องตัดใบอ้อยลดฝุ่น PM2.5

เครื่องตัดใบอ้อยช่วยลดฝุ่น PM 2.5 ผลงานสิ่งประดิษฐ์จากเด็กมัธยม โรงเรียนเทศบาล 3 สามัคคีวิทยาคาร อุบลราชธานี ใช้วัสดุอุปกรณ์ที่หาได้ในท้องถิ่น สร้างทางเลือกให้เกษตรกรชาวสวนอ้อยในการตัดใบแทนการเผา ซึ่งเป็น 1 ในต้นตอเกิดฝุ่นจิ๋ว

เด็กชายกฤษฎา วงษ์หาจักร เด็กชายธนากร ศรีอักษร และนายณัฐพงศ์ บุญมาก นักเรียนชั้นมัธยมศึกษา โรงเรียนเทศบาล 3 สามัคคีวิทยาคาร จ.อุบลราชธานี ประดิษฐ์ “เครื่องตัดลิดใบอ้อยช่วยลดฝุ่น PM2.5” ที่ใช้ระยะเวลาประมาณ 3 สัปดาห์ในกระบวนการคิดออกแบบและประดิษฐ์ โดยใช้วัสดุอุปกรณ์ที่หาได้ตามท้องตลาดในชุมชน ไม่ว่าจะเป็น สแตนเลสแผ่นรีด ท่อสแตนเลส เพลาสแตนเลส น็อต สกรูสแตนเลา ตลับลูกปืน ซุปเปอร์ลีน เฟืองดอกจอก จึงได้รับคัดเลือกให้ร่วมจัดแสดงในงานวันนักประดิษฐ์ ปี 2563 จัดโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

กฤษฎา วงษ์หาจักร หนึ่งในนักประดิษฐ์รุ่นเยาว์กล่าวถึงที่มาของโครงการสิ่งประดิษฐ์ชิ้นโบว์แดงว่า ด้วยพื้นเพของชาวบ้านจังหวัดอุบลราชธานีประกอบการอาชีพทำไร่อ้อย เนื่องจากอ้อยเป็นพืชเศรษฐกิจที่นำมาผลิตน้ำตาลทรายส่งขายทั้งในและนอกประเทศ เกษตรกรหลายรายในทุกภาคของประเทศปลูกอ้อยเป็นอาชีพหลัก และส่วนใหญ่ส่งป้อนโรงงานน้ำตาล

158140386331

เมื่อถึงหน้าเก็บเกี่ยวผลผลิต เกษตรกรจะเลือกใช้วิธีที่ง่ายและสะดวกที่สุด นั่นคือการเผาใบอ้อยก่อนตัดลำต้นจึงต้องรีบส่งผลผลิตให้โรงงานภายใน 2 วัน ไม่เช่นนั้นเมื่อถูกเผาแล้วความหวานจะหายไป ซึ่งวิธีนี้จะลงทุนน้อยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย แต่ผลที่ตามมาที่เกิดจากการเผานั้นก็คือฝุ่นละอองขนาดเล็กมากจำนวนมหาศาลหรือที่เรียกว่า PM 2.5 ทำให้บรรยากาศเต็มไปด้วยฝุ่นละอองมากเกินไปจนเป็นอันตรายและส่งผลเสียต่อสุขภาพของคนไทย โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร ภาคเหนือ ภาคอีสาน แม้กระทั่งอุบลราชธานี ก็ยังคงเป็นหนึ่งในนั้น

“พื้นที่ไร่อ้อยกว่า 100 ไร่ในจังหวัดอุบลราชธานี หากตัดและสางใบเองจะต้องใช้กำลังคนจำนวนมาก และต้นทุนของกระบวนการสูงเพราะถ้าหากไม่มีการสางใบก่อนเก็บเกี่ยวผลิตและเมื่อใช้เครื่องขนาดใหญ่จัดการอาจจะส่งผลให้ใบพันเครื่องจักรได้ จึงนำมาสู่การพัฒนาอุปกรณ์ดัตัดลิดใบอ้อยสด ทดแทนการเผาจึงช่วยลดฝุ่น PM2.5 ทั้งยังช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยก่อนตัดจำหน่าย”

158140390922

“ส่วนกระบวนการทำงานนั้นเริ่มจาก 1.นำเครื่องตัดใบอ้อย ต่อพ่วงกับสว่านมือพลังงานไฟฟ้าชนิดแบตเตอรี่ลิเทียม 38 โวลต์ 2.นำเครื่องไปวางพิงกับต้นอ้อยให้ส่วนใบอ้อยสองข้างอยู่แนวซ้าย-ขวาของผู้ตัด 3.ใช้มือข้างหนึ่งกดให้สว่านมือทำงาน ใบตัดอยู่ส่วนหัวจะหมุน โดยความเร็วของการหมุนขึ้นอยู่กับการกดเร่งที่สว่านมือ 4.มืออีกข้างจับด้ามคันจับ ผลักเลื่อนขึ้นตามลำต้นอ้อยให้ใบตัด ตัดใบอ้อยจากด้านล่างผลักดันขึ้นสู่ด้านบน ซึ่งนอกจากจะใช้ตัดใบอ้อยแล้วนั้นยังสามารถใช้ตัดก้านกล้วยแทนมีดทั่วไปได้อีกด้วย”

158140366687

ความยาวของเครื่องตัดอยู่ที่ 75 เซนติเมตร หากรวมกับความสูงของคนตัด 1.5-2 เมตร ซึ่งจะพอเหมาะและพอดีกับองศาความสูงของต้นอ้อย หรือกิ่งไม้ที่ไม่สูงมากนัก ตัวเครื่องสามารถพลิกหมุนได้ 360 องศา ประกอบกับตำแหน่งการจับวางนั้นสะดวกต่อการใช้งาน ช่วยผ่อนแรงและเร่งความเร็วได้ตามจังหวะการกดที่นิ้วมือของผู้ใช้งาน ซึ่งการตัดนั้นสามารถตัดได้เฉพาะกิ่งเล็ก ในกระบวนการทำงานหนึ่งครั้งตัดได้ประมาณ 1 ชั่วโมงตามกำลังการทำงานของสว่านไฟฟ้า ส่วนในอนาคตจะมีการเพิ่มฟังก์ชั่นให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยการเสริม 2 ใบมีด และเสริมต่อให้ยาว สั้น หดได้ อีกทั้งจะมีการปรับเปลี่ยนวัสดุอุปกรณ์ให้มีราคาถูกลง และทำให้น้ำหนักเบาลงเพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งาน