วว.โชว์ 4 สมุนไพรจากสวนครัวไทยในงาน CPhI
วว.ชูศักยภาพ 4 สมุนไพรไทยใน CPhI งานแสดงสินค้าด้านส่วนผสมยาและสมุนไพร สนับสนุนไทยก้าวสู่ศูนย์กลางทางการแพทย์อาเซียน ระบุสังคมผู้สูงอายุและนโยบายส่งเสริมของภาครัฐ หนุนตลาดสมุนไพรมูลค่าพุ่งกว่า 2 หมื่นล้านบาท
นางชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เปิดเผยถึงบทบาท วว.ในงาน CPhI South East Asia 2020 (ซีพีเอชไอ เซาธ์ อีสต์ เอเชีย 2020) งานแสดงสินค้าและเทคโนโลยีด้านส่วนผสมยาและสารสกัดจากธรรมชาติ ว่า วว.โดยศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร (ศนส.) จะจัดแสดงผลงานวิจัยพัฒนาด้านสมุนไพรตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำในธีมสารสกัดสำคัญ (ingredient) 4 ชนิด ได้แก่ ขิงต้านอาเจียน มะตูมต้านเบาหวาน กระชายบำรุงร่างกาย ต้านการอักเสบ และ กะทกรกบรรเทาโรคพาร์กินสัน
โดยนำเสนอครอบคลุมกระบวนการทำงานวิจัย ตั้งแต่เริ่มต้นการเตรียมพืชสมุนไพรตลอดจนการสกัดสารสกัด การพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ รวมทั้งการตรวจวัด/ศึกษาประสิทธิภาพหรือความเป็นพิษด้วยเซลล์และสัตว์ทดลอง ด้วยเครื่องมือถ่ายภาพเซลล์ รวมทั้งการให้บริการวิเคราะห์ทดสอบเซลล์ผลิตหนัง 3 มิติ/สัตว์ทดลอง นอกจากนี้ยังจะจัดสัมมนานานาชาติ “Multi-functions of herbal medicine on NCDs” ในวันที่ 4 มี.ค.นี้ เนื้อหาประกอบด้วย 1.การขึ้นทะเบียนยาพัฒนาจากสมุนไพร 2.การพัฒนายาสมุนไพรเพื่อบรรเทาโรคพาร์กินสัน 3.โสมอินเดียกับการต้านมะเร็ง 4.Propolish จากขี้ผึ้ง และ 5.กระบวนการขออนุญาตในงานวิจัยกัญชา
“การเพิ่มขึ้นของประชากรผู้สูงอายุและสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดโรคอุบัติใหม่มากขึ้น ซึ่งเป็นโจทย์ที่ท้าทายให้กับวงการแพทย์ในการรักษาโรค ทั้งนี้สมุนไพรหลายชนิดที่เป็นองค์ความรู้สืบทอดจากบรรพชน สามารถนำมาใช้ดูแลสุขภาพและรักษาโรคได้ การวิจัยพัฒนาเพิ่มมูลค่าสมุนไพรเหล่านั้นด้วยองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ จึงเป็นส่วนสำคัญที่จะเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในการนำสมุนไพรมาใช้ทดแทนยาเคมีที่ได้จากการสังเคราะห์ ซึ่งก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นพิษ"
การสัมมนาในครั้งนี้ยังได้รับเกียรติจาก Sunil Kaul ผู้เชี่ยวชาญชาวอินเดียที่จะถ่ายทอดความรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ เกี่ยวกับการวิจัยประสิทธิภาพของโสมอินเดีย (Aswagandha) พร้อมทั้งปริมาณสารสำคัญ กลไกการป้องกันและรักษาโรคต่างๆ ทั้งนี้ โสมอินเดียเป็นสมุนไพรยอดนิยมในตำราอายุรเวทของอินเดีย และเป็นที่รู้จักได้รับการยอมรับเพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยพบว่าสามารถรักษาโรคได้แบบองค์รวมและมีคุณสมบัติช่วยปรับสมดุลร่างกาย
นอกจากการจัดสัมมนาฯ ดังกล่าวแล้ว วว ยังนำผลงานวิจัยและพัฒนาร่วมจัดแสดงนิทรรศการด้านบรรจุภัณฑ์ ในส่วนของนิทรรศการ "InnoPack" ที่นำเสนอนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์อันทันสมัย วัตถุประสงค์เพื่อยกระดับบรรจุภัณฑ์ยาและสมุนไพรให้มีมาตรฐาน มีความสวยงามดึงดูดใจ เพื่อช่วยเพิ่มมูลค่าและสร้างความแตกต่าง ตลอดจนช่วยส่งเสริมการขายสินค้า ซึ่งแต่เดิมบรรจุภัณฑ์สมุนไพรจะไม่ทันสมัย มีเพียงผู้สูงอายุใช้เท่านั้น ในขณะเดียวกันผู้ผลิตยังให้ความสำคัญน้อยในการนำมาช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าหรือสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าด้วยบรรจุภัณฑ์
ดังนั้น เพื่อเสริมสร้างความตระหนักของผู้ประกอบการในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ควบคู่ไปกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ วว. โดย ศบท.จะนำตัวอย่างผลงานการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ยาและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสมุนไพรและสารสกัดจากสมุนไพรนำมาโชว์ในส่วนนิทรรศการ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผลิตภัณฑ์เวชสำอาง สบู่ และแชมพู เป็นต้น ซึ่งเป็นผลงานภายใต้โครงการ “Brand DNA by TISTR” ในปีที่ผ่านมา ซึ่งผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการกับ วว. ได้มีส่วนร่วมค้นหาตัวตนของสินค้าและร่วมพัฒนาบรรจุภัณฑ์ เพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์ของสินค้ากับ วว. ก่อนนำไปผลิตและใช้จริงในเชิงพาณิชย์ เพื่อต่อยอดธุรกิจของตนได้อย่างยั่งยืน เพื่อเป็นตัวอย่างหรือแนวทางให้กับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยาและสมุนไพรได้นำไปเป็นแนวทางในการเลือกใช้และยกระดับมาตรฐานบรรจุภัณฑ์ของตนต่อไป
นางสาวรุ้งเพชร ชิตานุวัตร์ ผู้อํานวยการกลุ่มโครงการ-ภูมิภาคอาเซียน อินฟอร์มาร์ มาร์เก็ต ประเทศไทย กล่าวว่า CPhI กำหนดจัดระหว่างวันที่ 4-6 มี.ค.2563 อิมแพคเมืองทองธานี เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในอาเซียนได้เรียนรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมยาจากทุกมุมโลก และยังส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพการผลิตของอุตสาหกรรมยา ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ (เมดิคัลฮับ) โดยไทยรั้งตลาดยาอันดับ 2 รองจากอินโดนีเซียด้วยมูลค่าที่มากกว่า 1.7 แสนล้านบาท อัตราการเติบโตเฉลี่ย 6.2% ต่อปี
นอกจากตลาดยาแผนปัจจุบันที่เติบโตแล้ว อีกกลุ่มที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือสารสกัดจากพืชสมุนไพรและส่วนประกอบจากธรรมชาติ มีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2563 ตลาดสมุนไพรจะมีมูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาท โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากพฤติกรรมผู้บริโภคทั่วโลกที่นิยมใช้สมุนไพรในการดูแลสุขภาพ และนโยบายส่งเสริมจากภาครัฐที่ใช้สมุนไพรแทนการนำเข้ายาแผนปัจจุบัน ประเทศไทยสามารถใช้ความได้เปรียบด้านความหลากหลายของพืชสมุนไพรมาพัฒนาสร้างจุดแข็งในการส่งออกสมุนไพรได้เช่นกัน