สวนลำไยติด ‘ไอโอที’ เบิกทางเกษตรอัจฉริยะสู่ล้านนา
สวทช.จับมือมหาวิทยาลัยแม่โจ้ส่ง 'เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ' ลงแปลงวิจัยลำไย ทดสอบสถานีตรวจวัดสภาพอากาศ ระบบการให้น้ำอัตโนมัติสำหรับพืชไร่และพืชสวน หวังลดอัตราการให้น้ำเกินความจำเป็น พร้อมยกระดับเพิ่มผลผลิตให้กับชาวสวน
ลำไยเป็นพืชเศรษฐกิจอันดับ 1 ของภาคเหนือ มีมูลค่าการส่งออกปีละกว่า 2 หมื่นล้านบาท เกษตรกรชาวสวนลำไยเผชิญปัญหาด้านแรงงาน การจัดการสวนและผลผลิตด้อยคุณภาพ พร้อมทั้งต้นทุนการผลิตที่เกษตรกรไม่ได้คำนึงถึงการให้น้ำ จากสภาพปัญหาเหล่านี้นำมาสู่ความร่วมมือของ 2 หน่วยงาน โดยที่ ม.แม่โจ้ มีความรู้ในเรื่องของลำไย ส่วน สวทช.มีนวัตกรรมเกษตรแม่นยำ จะนำไปสู่การพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อยกระดับการผลิตในภาคการเกษตรของประเทศ
โซลูชั่นพลิกโฉมแปลงปลูก
ด้าน ผศ.วินัย วิริยะอลงกรณ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาพืชสวน คณะผลิตกรรมการเกษตร กล่าวว่า จากความเชี่ยวชาญด้านสรีระวิทยาของลำไย ทำให้ทราบถึงช่วงเวลาที่พืชต้องการน้ำมากที่สุด แต่ไม่สามารถทราบปริมาณที่พืชต้องการ จึงต้องร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งมีเทคโนโลยีการให้น้ำอัจฉริยะและสถานีตรวจวัดอากาศ สามารถนำไปติดตั้งที่แปลงลำไยอินทรีย์ครอบคลุมพื้นที่ 1 ไร่ เมื่อผนวกเข้ากับข้อมูลจากงานวิจัยลำไยที่ศึกษามากว่า 15 ปี จึงทำให้เกิดการบริการจัดการน้ำได้อย่างเหมาะสม
ผลจากการทดลอง พบว่า การติดดอก การเจริญเติบโตและผลผลิตของลำไยที่ได้สมบูรณ์กว่าแปลงที่ให้น้ำแบบทั่วไปที่มีการให้น้ำเมื่อเห็นว่าดินแห้ง ผลผลิตลำไยเฉลี่ย 63 กิโลกรัมต่อต้น (ทรงพุ่ม 3 เมตร) ข้อมูลจากการใช้งานเทคโนโลยีทั้งสองนำมาใช้ศึกษาเพื่อทำวิจัยและสอนนักศึกษา รวมถึงให้ความรู้กับเกษตรกรผ่านรายการวิทยุของมหาวิทยาลัยและการศึกษาดูงาน
ในส่วนของเทคโนโลยีสถานีตรวจวัดสภาพอากาศแบบสมาร์ทไอโอทีเพื่อการเกษตร ได้ติดตั้งระบบแม่ข่าย 1 จุด และลูกข่าย 10 จุด บนพื้นที่ 70 ไร่ ครอบคลุมแปลงลำไย มะม่วง มะคาเดเมีย โดยแม่ข่าย ประกอบด้วย เซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิอากาศ เซ็นเซอร์วัดความชื้นอากาศ เซ็นเซอร์วัดความเข้มแสง เซ็นเซอร์วัดความชื้นดิน อุปกรณ์วัดความเร็วลม อุปกรณ์วัดปริมาณน้ำฝน
ขณะที่ลูกข่าย ประกอบด้วย เซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิอากาศ เซ็นเซอร์วัดความชื้นอากาศ เซ็นเซอร์วัดความเข้มแสง และเซ็นเซอร์วัดความชื้นดิน ข้อมูลจากระบบฯ ใช้ติดตามสภาพอากาศและสภาวะแวดล้อมเพื่อช่วยบริหารจัดการแปลงปลูก
เบื้องต้นมีเกษตรกรให้ความสนใจประมาณ 50 คนจากทั่วประเทศทั้ง จันทบุรี ระยอง นครนายก แต่เกษตรกรที่จะใช้องค์ความรู้ต้องมีต้องมีความรู้ในระดับหนึ่ง อาทิ การอ่านหรือการดูสถานีวัดอากาศ หรือแม้กระทั่งการอ่านค่าความชื้นในดิน จึงจะสามารถต่อยอดสู่การใช้ระบบไอโอทีในลำดับต่อไปได้
ทั้งนี้ได้วางแผนที่จะศึกษาวิจัยความเครียดของไม้ผลกับการให้น้ำ และการใช้ข้อมูลจากสถานีตรวจวัดสภาพอากาศฟังก์ชั่นอื่นๆ เพิ่มเติม อาทิ การให้ปุ๋ยอัตโนมัติผ่านการวิเคราะห์ว่าช่วงนี้ลำไยต้องการปุ๋ยลักษณะใด เซ็นเซอร์ก็จะสั่งและผสมปุ๋ยอัตโนมัติแทนการหว่านปุ๋ย
หรือแม้กระทั่งการใช้พลังงานความร้อนในการจับสภาพต้นลำไยผ่านการถ่ายภาพของกล้องเทอร์โมอิมเมจจิง ที่จะทำให้รู้ว่าลำไยต้องการน้ำหรือไม่ และเมื่อผสานเข้ากับระบบไอโอทีจะทำให้การบริหารจัดการน้ำเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
เชื่อมต่อเกษตรกรรมท้องถิ่น
วิราภรณ์ มงคลไชยสิทธิ์ รองผู้อำนวยการ สวทช. และผู้อำนวยการสถาบันจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) กล่าวว่า “ไวมาก” (WiMaRC) เป็นนวัตกรรมพร้อมใช้ของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค ที่รวมเทคโนโลยี IoT Cloud Platform ของ NETPIE เข้ากับบอร์ดสมองกล เป็นตัวช่วยติดตามและควบคุมสภาวะที่มีผลต่อการเกษตร เพื่อการจัดการและควบคุมอัตโนมัติ แสดงผลแบบเรียลไทม์ผ่านเว็บแอพพลิเคชัน เพื่อให้เกษตรกรจัดการแปลงเพาะปลูกได้อย่างเหมาะสมด้วยตนเอง หรือสั่งการอัตโนมัติผ่านอินเทอร์เน็ต
“การส่งเสริมการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ในการพัฒนาเชิงพื้นที่แบบองค์รวมจะเป็นต้นแบบการพัฒนาท้องถิ่นที่เกิดจากการบูรณาการร่วมกันของทั้งภาครัฐ สถาบันการศึกษา และประชาชน ความร่วมมือครั้งนี้จะบูรณาการการดำเนินงานในรูปแบบต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีเป้าหมายร่วมกันคือ การพัฒนาด้านอุตสาหกรรมเกษตร จึงได้มีกระบวนการคัดเลือกองค์ความรู้มาทดสอบให้เกิดความมั่นใจ และคัดเลือกเกษตรกรที่พร้อมจะรับเทคโนโลยีไปสานต่อ”