'ฟางข้าว'จากลำปาง สู่ภาชนะกรีนๆ คว้ารางวัลโลว์คาร์บอนระดับโลก

'ฟางข้าว'จากลำปาง สู่ภาชนะกรีนๆ คว้ารางวัลโลว์คาร์บอนระดับโลก

หจก.ฟางไทย แฟคตอรี่ เจ้าของผลงานหีบห่อจากฟางข้าวอินทรีย์ ได้รับรางวัลผู้ประกอบการนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน SEED Low Carbon Award จากการผนวกฟางข้าวไร้ประโยชน์เข้ากับเทคโนโลยีที่ปราศจากสารเคมี จนได้ผลผลิตเป็น “เยื่อฟางข้าว”

ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวปีละประมาณ 70 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 46.40 ของพื้นที่ทำการเกษตร ในแต่ละปีมีฟางข้าวเหลือทิ้งในนาเฉลี่ย 27 ล้านตัน และมีตอซังข้าวที่ตกค้างอยู่ในนาข้าวประมาณ 18 ล้านตัน นับเป็นพืชที่มีปริมาณฟางและตอซังมากกว่าพืชอื่นๆ แต่สิ่งที่เหลือทิ้งและไม่มีใครต้องการอย่าง “ฟางข้าว” แม้ว่าการจัดการกับฟางข้าวเหลือทิ้งจะมีหลายวิธี เช่น นำไปเลี้ยงสัตว์ ใช้คลุมหน้าดินเพื่อป้องกันการสูญเสียความชื้น หรือ ใช้ในการเพาะเห็ด

หากแต่ชาวนาส่วนใหญ่มักใช้วิธีการ “เผา” เพื่อให้เกิดความสะดวกในการไถเตรียมดิน เนื่องจากเป็นวิธีเตรียมพื้นที่สำหรับการทำนาครั้งต่อไปได้เร็วที่สุด แต่ทว่าการเผาฟางข้าวหลังการเก็บเกี่ยวนับเป็นอีกหนึ่งปัญหาในการสร้างมลพิษ ที่ทำให้เกิดฝุ่นละอองในอากาศ และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันเป็นอย่างมาก ด้วยเล็งเห็นถึงปัญหา และอยากต่อยอดจากจากสิ่งที่มีอยู่ พร้อมกับการได้กลับไปใช้ชีวิตบั้นปลายที่บ้านเกิด จารุวรรณ คำเมือง ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ หจก.ฟางไทย แฟคตอรี่ จึงได้นำฟางข้าวที่ไร้ประโยชน์ในชุมชนมาผนวกเข้ากับเทคโนโลยีที่ปราศจากสารเคมี จนได้ผลผลิตเป็น “เยื่อฟางข้าว”นอกจากจะเป็นวิธีที่สามารถลดปัญหาในการสร้างมลพิษแก่สิ่งแวดล้อมแล้ว ยังสร้างอาชีพและรายได้ให้กับตนเองและคนในชุมชนอีกด้วยภายใต้ชื่อ ฟางไทย แฟคตอรี่”

158255175263

สร้างฐาน ต่อยอดจากเศษฟาง

จารุวรรณ เล่าถึงภูมิหลังว่า ย้อนกลับไปเมื่อประมาณกลางปี 2557 หลังจากที่เรียนจบมีความตั้งใจว่าจะกลับภูมิลำเนาที่จังหวัดลำปาง แต่ก็มีคำถามว่าเมื่อกลับไปแล้วจะทำอะไร เพราะการกลับไปนั้นจะต้องมีอาชีพรองรับ จึงมองเห็นวิถีชีวิตที่หล่อเลี้ยงตนมาอย่างยาวนานคือการทำนา และสิ่งที่หลงเหลือจากการประกอบอาชีพนั้นคือ “ฟางข้าว” ซึ่งเมื่อก่อนถูกนำไปเป็นอาหารสำหรับสัตว์ แต่ปัจจุบันคนในชุมชนไม่ได้ประกอบอาชีพเลี้ยงสัตว์อีกต่อไป ฟางข้าวเกือบทั้งหมดจึงถูกเผาหลังการเก็บเกี่ยว ตนจึงได้มองว่าหากสามารถนำฟางข้าวมาสร้างมูลค่าเพิ่มได้ โดยที่ไม่เปลี่ยนวิถีชีวิตของคนในชุมชนแต่จะต่อยอดจากสิ่งที่เขาทำ ด้วยการนำคน 2 เจเนอเรชั่นมาอยู่ร่วมกันในธุรกิจนี้ จึงได้ตัดสินใจทำ “เยื่อฟางข้าว” ผลิตภัณฑ์รักษ์สิ่งแวดล้อมที่สามารถนำไปแปรรูปให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆได้มากมาย

เราใช้เวลากว่า 3 ปี ในวิจัยและพัฒนาภายในครัวเรือน ซึ่งปัจจุบันสื่อออนไลน์มีงานวิจัยและบทความมากมายในการนำฟางข้าวมาทำเป็นเยื่อด้วยการใช้สารเคมี เช่น โซดาไฟ  คลอลีน เป็นส่วนประกอบ เราจึงมองว่าหากมีการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิต ก็เหมือนยังสร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมเช่นเดิม จึงได้มีการลองผิดลองถูกด้วยตนเองจนได้ผลสรุปออกมาเป็นเยื่อฟางข้าวที่ปราศจากสารเคมี

158255176696

โดยในช่วง 2 ปีแรกนั้น สินค้าที่ผลิตออกมาส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าแฮนด์เมด อาทิ โคมไฟ เนื่องจากกระดาษที่ผลิตได้ยังมีลักษณะค่อนข้างหยาบ ยังไม่เหมาะที่จะนำไปผลิตเป็นแพ็กเกจจิ้งหรือใช้เขียนใช้พิมพ์ได้ แต่เมื่อนำไปออกบูธจำหน่ายกลับได้รับผลตอบรับดีจากลูกค้าชาวไต้หวัน กระทั่ง 3  ปีผ่านไปเมื่อพัฒนากระดาษให้สามารถใช้งานได้ดีขึ้น มีความเรียบและละเอียดมากยิ่งขึ้น จึงเริ่มหันมาผลิตภาชนะและบรรจุภัณฑ์ ซึ่งก็ได้รับความสนใจจากลูกค้าเนื่องจากเป็นวัสดุที่ผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติ และเลิกผลิตสินค้าแฮนด์เมดประเภทโคมไฟเนื่องจากต้องการที่จะสานต่อเจตนารมณ์แรก

ปั้นธุรกิจโตได้ด้วยคอมเมนท์

จารุวรรณ เล่าว่า ตลอดระยะเวลาที่ได้ไปออกงานแสดงสินค้านั้น นอกจากจะเป็นการเผยแพร่สินค้าให้เป็นที่รู้จักได้มากขึ้นแล้ว ยังทำให้ได้รับโจทย์ใหม่ๆ เพื่อนำมาใช้พัฒนาธุรกิจไปได้อีกด้วย  โดยตลอดระยะเวลา 3 ปีแรกฟางไทยแทบไม่มีกำไรจากการทำธุรกิจ แต่กำไรที่มีค่ามากกว่าตัวเงิน ณ เวลานั้นคือคีย์เวิร์ดที่ได้จากลูกค้า ซึ่งการที่ทำธุรกิจประสบความสำเร็จมาจนถึงทุกวันนี้เพราะคำถาม คอมเมนท์และคีย์เวิร์ดต่างๆเหล่านั้น ที่กลายเป็นโจทย์ให้เรากลับมาคิด ประเมินถึงความเป็นไปได้ และทดลองทำ เราจึงสามารถนำมาพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ของเราได้ จนสามารถออกสู่ตลาดและเปิดตลาดต่างประเทศได้

158255178233

โดยหลังจากช่วงที่เราเริ่มผลิตภาชนะและบรรจุภัณฑ์ได้แล้ว ก็ได้รับคำแนะนำจากคุณต้อม คาซาว่า ให้ร่วมประกวดโครงการของยูนิโด้ ซึ่งเป็นโครงการขององค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติกับกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก จนฟางไทยได้รางวัลที่ 2 ของประเทศ ทำให้มีสิทธิได้ไปแข่งต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา จนในที่สุดก็สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศกลับมา และนั้นเองจึงเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ฟางไทยกลายเป็นที่รู้จักในองค์กรต่างๆ มากขึ้น อาทิ การติดต่อเข้ามาของ TCDC (Thailand Creative and Design Center ) ที่ได้นำเยื้อฟางข้าวของ หจก.ฟางข้าวไทย แฟคตอรี่ ไปจัดแสดงในงานแสดงสินค้าใน 13 เมืองใหญ่ทั่วโลก ซึ่งในจุดนี้ทำให้ผลิตภัณฑ์เป็นที่รู้จักในตลาดสากล และได้รับการตอบรับเพื่อติดต่อสั่งซื้อเป็นอย่างดี เพราะมีจุดเด่นคือทำมาจากธรรมชาติ ไร้สารเคมี และย่อยสลายได้ 100%”

ล่าสุดได้เข้าประกวดในโครงการ SEED Low Carbon Award 2019 และได้รับรางวัลชนะเลิศด้านบรรจุภัณฑ์จากเศษวัสดุเหลือใช้ในชุมชน ก็ทำให้ชื่อเสียงของเราเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้นในสายตาคนทั่วโลก

ฟางข้าวเพื่ออาหารปลอดภัย

ปัจจุบันเราสามารถผลิตเยื่อฟางข้าวได้ถึง 3 ตันต่อวัน และจัดส่งเยื่อฟางข้าวไปยังลูกค้าทั้งในและนอกประเทศ เพื่อนำไปขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ ถ้วย ถุง กระดาษ โดยมีลูกค้ารายใหญ่คือประเทศอินเดีย พร้อมกับวางแผนเพิ่มปริมาณการผลิตให้ได้ 20 ตันต่อวัน เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาด และในเรื่องฟางข้าวที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตนั้นเมื่อดีมานด์เพิ่มขึ้น จึงจำเป็นที่จะต้องกระจายการรับซื้อฟางข้าวเพิ่มขึ้นเช่นกัน  ณ ปัจจุบันฟางข้าวที่นำมาใช้ในกิจการของฟางไทย แฟคตอรี่  ได้แก่ หมู่บ้านในตำบลหัวเสือ ซึ่งเป็นที่ตั้งของธุรกิจ และบางแห่งในตำบลแม่ทะ โดยนอกจากจะรับซื้อฟางข้าวจากในพื้นที่ใกล้เคียงแล้ว ได้มีการประสานงานกับหน่วยงานของทางจังหวัด จัดตั้งธนาคารฟางข้าวในการเป็นศูนย์รวมการรับซื้อฟางข้าวจากชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงอย่างจังหวัดแพร่

158255216112

ปกติ 100% ฟางข้าวถูกเผาทิ้ง ดังนั้นเมื่อนำ waste เหล่านี้มาเพิ่มมูลค่าจะสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรเพิ่มมากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะได้รับการตอบรับจากชุมชนเป็นอย่างดี อีกทั้งในอนาคตก็ได้มีการวางแผนที่จะนำวัตถุดิบใหม่ๆมาแปรรูปเพิ่มเติม อาทิ ใบข้าวโพด ใบสับปะรด ใบอ้อย แต่กระนั้นแม้ว่าซัพพลายจะยังคงเพียงพอแต่ก็ติดเรื่องกำลังการผลิตของเครื่องจักรที่จะต้องสเกลอัพเพิ่มเติม”

รักษ์โลกบูม สวนกระแสเศรษฐกิจทรุด  

การทำสินค้ารักษ์โลก ก็คือธุรกิจหนึ่ง ที่ผู้ประกอบการต้องเจอกับความท้าทายไม่ต่างจากธุรกิจทั่วๆ ไป ซึ่งเป้าหมายที่ทุกคนอยากไปให้ถึงก็คือ สินค้านั้นๆ สามารถขายได้ มีเม็ดเงินเข้ามาสร้างการเติบโตให้ธุรกิจ ไม่ใช่แค่เทรนด์ฉายฉวยที่มาแล้วก็หายไปเมื่อหมดกระแส  จารุวรรณเล่าจากประสบการณ์ว่า “เศรษฐกิจโลกอาจจะแย่แต่ถ้ามองถึงการเติบโตธุรกิจสีเขียว โอกาสในการเติบโตและจะสร้างรายได้ให้กับแประเทศมีเยอะมาก เนื่องจากคนหันมาใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น ตลาดสินค้ารักษ์โลกจึงได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน โดยดูจากยอดของออเดอร์ที่สั่งซื้อเข้ามาที่เพิ่มขึ้นถึงเท่าตัว”

158255182131

ทั้งนี้หากมองถึงสิ่งที่เราคาดหวังมาตลอดคือการสร้างรายได้ สร้างอาชีพให้กับคนในชุมชน ซึ่งจากเดิมฟางไทยมีการจ้างงานเพียง 6 คน แต่ปัจจุบันสามารถจ้างงานเพิ่มขึ้นถึง 25 คน และภายในปีนี้เราจะมีการเพิ่มจำนวนเป็น 50 คน ทำให้เกิดการกระจายรายได้ภายในชุมชนกว่า 160 ครัวเรือน ขณะเดียวกันภายในปี 2025 เราคาดว่าจะลดการเผาได้ประมาณ 135 ล้านตัน จากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเผาฟางข้าวผ่านเทคโนโลยีการผลิตเยื่อจากฟางข้าวที่ฟางไทย แฟคตอรี่ได้ดำเนินการมา