เนคเทคโชว์ ‘เน็ตพาย2020’ ขยับไทยสู่สมาร์ทเนชั่น
'เนคเทค' ส่ง “NETPIE 2020” เวอร์ชันใหม่ล่าสุด เน้นลดภาระและตอบโจทย์ผู้ใช้งานที่ตรงจุดทั้งเล็งเข้าสู่เชิงพาณิชย์มากยิ่งขึ้นด้วย 5 ฟีเจอร์หลัก รองรับการขยายตัวแบบไร้ขีดจำกัด พร้อมยืนหยัดที่จะให้บริการฟรี เพื่อผลักดันประเทศไทยสู่สมาร์ทเนชั่น
สมาร์ทโฟนสั่งปิดปลั๊กไฟในคอนโดย่านเพลินจิต ขณะกำลังจะขึ้นเครื่องบินที่สุวรรณภูมิ รวมทั้งสั่งเปิดปิดประตูบ้านพร้อมระบบแจ้งเตือนหากประตูเปิดทิ้งไว้นานเกิน 3 นาที เป็นตัวอย่างเบาๆ ที่ใกล้ตัวผู้บริโภคจากการใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ ( IoT) บนแพลตฟอร์มสัญชาติไทยในชื่อเน็ตพาย (NETPIE)
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) เปิดตัวเน็ตพายให้บริการสาธารณะมาตั้งแต่ปี 2558 โดยนำไปใช้งานจริงในหลายภาคส่วน มีการเติบโตของการใช้งานมาอย่างต่อเนื่องทั้งในด้านการศึกษาและเศรษฐกิจ ทั้งนี้ เพื่อตอบสนองต่อการเติบโตของเทคโนโลยี IoT และการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมสู่ อุตสาหกรรม 4.0 จึงเป็นที่มาของ “NETPIE 2020” เวอร์ชันใหม่ล่าสุด ที่ลดภาระและตอบโจทย์ผู้ใช้งานได้ตรงจุดยิ่งขึ้น
ดิสรัปปลั๊กไฟสู่ไอโอที
วัชรินทร์ วิทยวีรศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายนวัตกรรม บริษัท สมาร์ท ไอดีกรุ๊ป จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์ประเภทคอนซูเมอร์ อิเล็กทรอนิกส์ โฮมเอนเตอร์เทนเมนต์ ภายใต้แบรนด์ “แอนิเทค” (Anitech) กล่าวว่า แอนิเทคได้พัฒนาปลั๊กไฟไอโอที รุ่น H1000 บนแพลตฟอร์มเน็ตพาย
“ในยุคปัจจุบันต้องยอมรับว่าเป็นยุคของไอโอที ที่กำลังเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้บริโภค ด้วยการใช้เพียงอุปกรณ์เดียวก็สามารถควบคุมเครื่องใช้ไฟฟ้าได้หลากหลาย จึงได้พัฒนาระบบการเชื่อมต่อแอพพลิเคชั่นที่มีรูปแบบเรียบง่าย เพื่อการใช้ชีวิตภายในบ้านอัจฉริยะ”
การที่ไอโอทีจะสำเร็จได้นั้น จึงจำเป็นต้องมีโครงสร้างพื้นฐาน คลาวด์และดีไวซ์เพื่อสื่อสารและเชื่อมต่อกัน แต่การเปลี่ยนเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชิ้นให้เป็นไอโอทีจะต้องใช้ระยะเวลาและมีการลงทุนสูง แต่หากใช้ตัวเชื่อมต่อหรือสิ่งที่เป็นสื่อกลางในการเปลี่ยนอิเล็กทรอนิกส์โปรดักส์ให้กลายเป็นไอโอทีได้ขั้นต้น ก็จะทำให้ผู้ใช้งานสะดวกมากยิ่งขึ้น
ยกตัวอย่าง กาน้ำร้อนเสียบกับปลั๊กไฟที่เป็นไอโออี ก็สามารถทำให้กาน้ำร้อนนั้นเป็นไอโอทีขั้นต้นได้ สามารถเปิดปิดได้แบบเรียลไทม์บนสมาร์ทโฟน อีกทั้งสามารถดูกำลังไฟของปลั๊กได้อีกด้วยและแจ้งเตือนผ่านสมาร์ทโฟนได้อย่างรวดเร็ว ช่วยลดเหตุอัคคีภัยจากปลั๊กไฟระเบิด
ดังนั้น เมื่อโลกแข่งกันด้วยความสำเร็จของการผลิตและนวัตกรรม การที่ประเทศไทยมีแพลตฟอร์มไอโอที จึงเปรียบได้กับการลงเสาเข็มที่แข็งแรงรองรับการต่อยอดประยุกต์ใช้งานไอโอทีในอุตสาหกรรมต่างๆ ส่งผลให้มีการประดิษฐ์คิดค้นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ออกมาเป็นจำนวนมากตามไปด้วย ทั้งยังลดการพึ่งพาระบบของต่างประเทศ และช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับภูมิภาคและระดับโลก
สเกลอัพปลดล็อคทุกการเชื่อมต่อ
ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค กล่าวว่า เนคเทคได้มุ่งมั่นพัฒนาไอโอทีให้เป็นเทคโนโลยีที่ทุกคนสร้างได้ ด้วยการคิดค้น “เน็ตพาย” แพลตฟอร์มสื่อสารเพื่อเชื่อมต่อทุกสรรพสิ่ง หรือช่วยให้เกิดการสื่อสารระหว่างอุปกรณ์ ในเครือข่าย IoT ได้สะดวกรวดเร็วขึ้น โดยผู้ที่ต้องการพัฒนาอุปกรณ์หรือแอพพลิเคชั่นใหม่ๆ สามารถใช้เน็ตพายเชื่อมต่ออุปกรณ์ให้ประสานงานร่วมกันได้ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการติดตั้งระบบสื่อสาร ระบบเซิร์ฟเวอร์ หรือฐานข้อมูลใดๆ พร้อมทั้งใช้งานกับระบบปฏิบัติการและแพลตฟอร์มฮาร์ดแวร์หลักทุกประเภท
ยกตัวอย่างการใช้งานเน็ตพาย อาทิ ภาคเกษตรที่ใช้ควบคุมสภาพแวดล้อมของโรงเรือน อย่างเช่นสวนการเรียนรู้ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ใช้ควบคุมการให้น้ำและระบบตรวจสอบความชื้นของต้นลำไย ภาคครัวเรือนใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์บริการสำหรับบ้านอัจฉริยะ อย่างเช่นบริษัท สมาร์ทไอดี นำมาประยุกต์ใช้ในการสร้างสรรค์ปลั๊กไฟไอโอที ที่สามารถเป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน
ภาคสังคมใช้พัฒนาบริการสำหรับเมืองอัจฉริยะที่ จ.ภูเก็ต และภาคการผลิตใช้ในการตรวจสอบสถานะของเครื่องจักรและกระบวนการผลิตในโรงงานต่างๆ อย่างเช่น บริษัท นิเด็ค ชิบาอุระ อีเลคโทรนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด
สำหรับ เน็ตพายเวอร์ชั่น 2020 ใช้เวลาฟักตัวนานกว่า 5 ปี เพื่อให้เข้าสู่เชิงพาณิชย์มากยิ่งขึ้น ประกอบด้วย 5 ฟีเจอร์หลัก ได้แก่ 1. UX/UI ออกแบบโดยคำนึงถึงประสบการณ์ของผู้ใช้งาน ที่สามารถเรียนรู้ ใช้งานง่ายทั้งมือใหม่และมือโปร 2. Scalability ที่ได้รับการออกแบบสถาปัตยกรรมใหม่ทั้งหมด บนพื้นฐานเทคโนโลยี Microservice ทำให้มีความยืดหยุ่นรองรับการขยายตัวแบบไร้ขีดจำกัด หรือรองรับจำนวนอุปกรณ์หรือปริมาณข้อมูลมหาศาลในยุคเอไอ และ 5จี 3.อำนวยความสะดวกในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ไอโอทีเชิงพาณิชย์ หรือการผลิตอุปกรณ์จำนวนมาก
4.ระบบจัดการข้อมูลที่ครอบคลุม ช่วยให้การพัฒนาแอพพลิเคชั่นโต้ตอบกับอุปกรณ์ทำได้ง่ายขึ้น เช่น จัดเก็บข้อมูลระยะยาว การนำข้อมูลที่มีนำไปวิเคราะห์ต่อ และบริการแดชบอร์ด ที่เป็นบริการกำหนดเงื่อนไขการแจ้งเตือนไปยังช่องทางต่างๆ บริการเก็บสถานะและข้อมูลของแต่ละอุปกรณ์ 5.สามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์และไมโครคอนโทรลเลอร์ได้หลากหลายมากขึ้น และสนับสนุนเขียนโปรแกรมด้วยภาษาคอมพิวเตอร์ที่หลากหลาย รองรับฮาร์ดแวร์ใหม่ๆ ในตลาดได้อย่างรวดเร็ว
ข้อมูลไม่รั่วไหลเข้ามือต่างชาติ
พนิดา พงษ์ไพบูลย์ รองผู้อำนวยการเนคเทค กล่าวว่า ที่ผ่านมามีผู้ใช้งานกว่า 4 หมื่นราย และมีอุปกรณ์ในการเชื่อมต่อกว่า 1 แสนชิ้น สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจมากกว่า 1 พันล้านบาท มีการลงทุนด้านไอโอทีเพิ่มกว่า 4 ล้านบาท ผู้เข้าอบรมการใช้งานกว่า 600 คน มีเทรนเนอร์ที่ผ่านการรับรองกว่า 200 คน ทั้งนี้ได้เก็บโจทย์และข้อจำกัดต่างๆ ที่สะท้อนจากผู้ใช้แพลตฟอร์มเวอร์ชันก่อนมาปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น
“เน็ตพายเป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาโดยคนไทย ย่อมตอบสนองกับผู้ใช้บริการในไทยได้ทันท่วงทีและตรงตามบริบทของคนไทย อีกทั้งข้อมูลทั้งหมดบนแพลตฟอร์มไม่รั่วไหล และเวอร์ชันใหม่จะยังยืนหยัดที่จะให้บริการฟรี เพื่อผลักดันประเทศไทยไปสู่สมาร์ทเนชั่น แต่หากต้องการใช้งาน ในระดับที่สูงกว่า “ฟรีโควตา” ก็จะมีบริษัท เน็กซ์พาย จำกัด ที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากเนคเทครองรับอยู่เช่นกัน”
ทั้งนี้ ข้อมูลของ Frost & Sullivan คาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดไอโอทีในไทยจะเติบโตจาก 3.6 พันล้านบาทในปี 2561 เป็น 188 แสนล้านบาทในปี 2576 ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ย 30.18% ต่อปี ส่วนสถานการณ์ของโลกคาดการณ์ว่า จำนวนอุปกรณ์ไอโอทีทั่วโลกจะสูงถึง 6 หมื่นล้านบาทในปี 2567 และคาดว่าอยู่ในภูมิเอเชียแปซิฟิกกว่า 64% ส่วนทางด้าน IDC คาดการณ์งบประมาณที่จะถูกใช้จ่ายไปกับไอโอทีทั่วโลกกว่า 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2565