วว.-มธ.เสริมแกร่งวิสาหกิจชุมชน ขับเคลื่อน "เมืองต้นแบบระยอง"
สมาคมเพื่อนชุมชนสนับสนุนนักศึกษาพาณิชย์ มธ. ลงพื้นที่ปฏิบัติงาน 4 เดือน ร่วมกับนักวิจัย วว. นำวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยีขับเคลื่อนพื้นที่มาบตาพุดคอมเพล็กซ์ ระบุเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ จ.ระยอง
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ร่วมกับสมาคมเพื่อนชุมชน และคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ลงนามในบันทึกความร่วมมือภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจชุมชน และกลุ่มเศรษฐกิจฐานรากต้นแบบ ในเขตพื้นที่มาบตาพุดคอมเพล็กซ์ ตามแนวทางธรรมศาสตร์โมเดล ร่วมขับเคลื่อนพัฒนาต้นแบบเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town) จ.ระยอง
นางชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า วว.พร้อมสนับสนุนโครงการฯ ด้วยการส่งนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ร่วมลงพื้นที่ให้คำปรึกษาแนะนำในการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ยกระดับคุณภาพสินค้าและบริการให้แก่นักศึกษา มธ. รวมถึงวิสาหกิจชุมชนและกลุ่มเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่มาบตาพุดคอมเพล็กซ์ จำนวน 9 กลุ่ม รวมถึงนอกเขตพื้นที่มาบตาพุดคอมเพล็กซ์ 4 กลุ่ม ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนใน อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ชลบุรีและฉะเชิงเทรา ภายใต้การดูแลของธนาคารออมสิน และโรงไฟฟ้าบางปะกง รวม 13 กลุ่ม
“นักวิจัย วว. มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์แก่วิสาหกิจชุมชนทั่วประเทศ ผ่านโครงการต่างๆ ของรัฐบาล จึงมีความยินดีที่เป็นส่วนหนึ่งในโครงการฯ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย “สานพลังประชารัฐ” ของรัฐบาล และโครงการยุวชนอาสา-บัณฑิตอาสา ตามนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษาฯ เป็นการรวมพลังทุกภาคส่วนตั้งแต่ระดับยุวชน ภาคประชาชน ภาครัฐและภาคเอกชน ในการขับเคลื่อนการพัฒนา จ.ระยองให้เกิดการกระจายรายได้ สร้างงาน สร้างอาชีพ สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน"
ทั้งยังเป็นการขับเคลื่อนแนวคิด วว. ในการพัฒนาศูนย์ต้นแบบ Shared production service หรือ ครัวชุมชนในพื้นที่ ที่มุ่งหวังให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ที่ตั้งในภูมิภาคต่างๆ ให้มีเครื่องมืออุปกรณ์สำหรับใช้ในกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน ตลอดจนเชื่อมโยงถึงกิจกรรมกับหน่วยงานในระดับพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม
ด้านนายวริทธิ์ นามวงษ์ นายกสมาคมเพื่อนชุมชน กล่าวว่า โครงการเพื่อนชุมชน-ธรรมศาสตร์โมเดล ปัจจุบันเป็นรุ่นที่ 5 นับตั้งแต่ปี 2559 ใช้องค์ความรู้ผ่านนักศึกษาคณะพาณิชยศาสตร์ฯ และ วว. นำนักวิจัยลงพื้นที่ ให้ความรู้ด้าน วทน.พัฒนาผลิตภัณฑ์วิสาหกิจชุมชน ผสานภูมิปัญญาท้องถิ่น ก่อเกิดนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ของวิสาหกิจชุมชน
“นักศึกษาจะต้องลงทำงานจริงร่วมกับวิสาหกิจชุมชน ระยะเวลาประมาณ 4 เดือน เพื่อเรียนรู้ปัญหาของชุมชน นำความรู้จากห้องเรียนไปช่วยแก้ปัญหา หาจุดอ่อนของชุมชน ร่วมกันหาตลาดและปรับปรุงสินค้า วางระบบจัดการสต็อกสินค้า และวางระบบให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการลงพื้นที่ปฏิบัติการจากสมาคมเพื่อนชุมชน ความยากอยู่ที่การทำให้ชุมชนเห็นประโยชน์ของการเปลี่ยนแปลง และยินยอมที่จะทำต่อไปหลังสิ้นสุดโครงการ เพื่อจะได้ไม่กลับไปอยู่ในวงวนเก่าๆ ซึ่งเป็นปัญหาของวิสาหกิจชุมชนส่วนใหญ่ทั่วประเทศ"
ทั้งนี้ในการดำเนินงานของโครงการเพื่อนชุมชน-ธรรมศาสตร์โมเดล นอกจากภารกิจดังกล่าวแล้ว ยังได้เชื่อมโยงไปยังผู้ประกอบการ ภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่และภาคเครือข่ายฯ ที่จะร่วมกันเป็น “พี่เลี้ยง” ให้กับวิสาหกิจชุมชนแต่ละกลุ่ม โดยนักศึกษาและ วว. เพื่อยกระดับศักยภาพทั้งด้านบริหารจัดการ การปรับปรุงคุณภาพสินค้าและการบริการ สร้างรายได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเชิงการค้าให้กับวิสาหกิจชุมชน จังหวัดระยอง สู่มาตรฐานสากล ตลอดจนร่วมกันขับเคลื่อนต้นแบบการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town) ให้กับจังหวัดระยองต่อไป