เอ็นไอเอจับตาปัจจัยเสี่ยง 'กระทบสุขภาพอาเซียน'

เอ็นไอเอจับตาปัจจัยเสี่ยง 'กระทบสุขภาพอาเซียน'

เอ็นไอเอเตือนจับตา 8 ปัจจัยเสี่ยงคุกคามชีวอนามัยของอาเซียนในอนาคตอีก 10 ปี ระบุมีโอกาสสูงเกิดการระบาดของเชื้อโรคจากปัจจัยหนุนด้านโลกร้อน เทคโนโลยีการขนส่งและการเพิ่มขึ้นของประชากร แนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องรู้และเร่งสรรหาแนวทางรับมือ

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ เอ็นไอเอ โดยสถาบันการมองอนาคตนวัตกรรม (IFI) ซึ่งเป็นหน่วยงานเฉพาะด้านอนาคตศาสตร์ทำหน้าที่คาดการณ์ทิศทางอนาคตของประเทศในมิติต่างๆ ได้สำรวจข้อมูลจากหัวข้อการสัมมนา Biosecurity in ASEAN 2030 ในงานประชุมนานาชาติ Asia-Pacific Future Network Conference ครั้งที่ 5 เพื่อวิเคราะห์แนวโน้มความปลอดภัยด้านชีวอนามัยของอาเซียนในปี 2573 หรืออีก 10 ปีข้างหน้า

158280875268

ในช่วงเวลาดังกล่าว อาเซียนจะมีปัจจัยหลัก 8 ประการที่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยทั้งทางด้านสุขภาพและสาธารณสุข และเป็นสิ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องสรรหาแนวทางรับมือ ได้แก่ 1.การเพิ่มขึ้นของการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และการสรรหาพลังงานทดแทนจากสิ่งใหม่ๆ จะเป็นตัวผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงลักษณะการระบาดของเชื้อโรค เช่น การนำขยะมาพัฒนาเป็นของใช้ที่อาจมีการปนเปื้อนของสารเคมีและเชื้อโรค

2.การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เป็นปัจจัยที่เหมาะแก่การเจริญเติบโตของเชื้อโรค สถานที่ซึ่งไม่เคยมีการแพร่ระบาดก็จะเกิดการแพร่ระบาดได้ง่ายขึ้น ขณะที่การละลายของน้ำแข็งขั้วโลกยังทำให้เชื้อโรคและไวรัสที่ถูกแช่แข็งตั้งแต่ในอดีตถูกปลุกให้กลับมามีชีวิต

3.ความหนาแน่นของประชากรที่เพิ่มขึ้น จะทำให้มีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น จนเป็นเหตุให้การส่งผ่านเชื้อโรคสู่กันได้ง่าย 4.การเพิ่มขึ้นของชนชั้นกลางและชนชั้นแรงงาน ซึ่งส่วนใหญ่จะมีพฤติกรรมที่เสี่ยงทั้งต่ออุบัติภัย การเกิดโรคจากสภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย การสร้างมลภาวะ รวมถึงการหลั่งไหลของประชากรที่เข้ามาทำงานในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมอันเนื่องมาจากการเปิดประเทศ

5.การเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการขยายตัวทางอุตสาหกรรมและการเกิดอุตสาหกรรมใหม่ ที่จะมีผลทำให้เชื้อโรคบางชนิดแฝงมากับกิจกรรมดังกล่าว รวมถึงการอุบัติของโรคที่ยังไม่เป็นที่รู้จัก และความต้านทานของไวรัสบางประเภทที่จะมีมากขึ้น ปัจจัยในข้อนี้มักจะมีผลกับพื้นที่สำคัญที่มีการกระจุกตัวทางเศรษฐกิจ เช่น เมืองหลวง เมืองใหญ่ในระดับภูมิภาค เมืองอุตสาหกรรม และเมืองท่องเที่ยว

158280906819

6.การปฏิรูปการใช้ที่ดิน อาจเป็นตัวขับเคลื่อนให้เชื้อโรคแพร่กระจายจากพื้นดินเข้าสู่อาคาร และสามารถแพร่ไปสู่อากาศได้มากขึ้น นอกจากนี้ การสูบน้ำจากใต้ดินเพื่อการอุปโภคบริโภคก็ยังเป็นพาหะนำโรคติดต่อต่างๆ มาสู่คนและสัตว์ได้เช่นเดียวกัน

7.การเดินทางที่สะดวก/เทคโนโลยีการขนส่งที่ทันสมัย ทำให้เกิดการหลั่งไหลเข้ามาพักผ่อนหย่อนใจในอาเซียน ซึ่งการเดินทางในแต่ละครั้งจะนำพาเชื้อโรคต่างๆ จากจุดกำเนิดไปยังสถานที่ใหม่ ส่งผลให้เกิดการระบาดของโรคติดต่อในภูมิภาคใหม่และแพร่ประจายได้อย่างรวดเร็ว

8.การสูญพันธ์ของสัตว์และพืชพรรณบางชนิด จำนวนสิ่งมีชีวิตที่ลดลงอาจทำให้เชื้อโรคที่เคยใช้สิ่งมีชีวิตเหล่านั้นเป็นแหล่งฟักตัวหรือเป็นแหล่งอาศัย เริ่มปรับตัวและหาที่อาศัยใหม่ เช่น จากพืชสู่สัตว์ จากสัตว์สู่คนมากขึ้น 

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีโรคติดต่อที่เกิดจากสัตว์สู่คนเกิดขึ้นแล้วในหลายๆ ประเทศรวมถึงไทยและอาเซียน จึงควรมีการวิจัยหรือการติดตามที่เป็นระยะ เพื่อให้ง่ายต่อการควบคุมและหาแนวทางป้องกัน โดยเฉพาะการมีระบบสัญญาณเตือนล่วงหน้า อย่างเช่น พยากรณ์การเกิดโรค ซึ่งจำเป็นอย่างมากสำหรับทุกประเทศรวมทั้งประเทศไทย

การพยากรณ์เหตุการณ์ของโรคภัยจะคล้ายคลึงกับการทำนายสภาพอากาศ ที่จะช่วยให้เกิดการเตรียมการล่วงหน้า สามารถรับมือหรือออกมาตรการที่เหมาะสม รวมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีและเป็นผลดีต่อการสื่อสารความเสี่ยงและเตือนภัยการระบาดของโรคกับสาธารณชนได้เป็นอย่างดี

158280908410