เทรนด์ธุรกิจอาหารปี 63 'ฟู้ดเดลิเวอรี่' โตขานรับโควิด-19
ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank จัดเสวนา “เจาะลึกเทรนด์ธุรกิจอาหารปี 2563 วิกฤติหรือโอกาสเอสเอ็มอีไทย” เพื่อให้ผู้ประกอบการรู้ทันแนวโน้มธุรกิจอาหารปี 2563 และวิธีการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลง
โควิด-19 ระบาด ดันเดลิเวอรี่บูม
นายบุญประเสริฐ พู่พันธ์ นายกสมาคมแฟรนไชส์และไลเซนส์ กล่าวว่า ในที่ผ่านมาปัญหาเศรษฐกิจได้สร้างผลกระทบเป็นวงกว้างต่อหลากหลายธุรกิจ อีกทั้งสภาวการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 พ่นพิษ ส่งผลให้ธุรกิจต่างซบเซามากกว่าเดิม ซึ่งร้านอาหารเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากสภาวะนี้ด้วยเช่นกัน ดังนั้นผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอีไทยจึงต้องเรียนรู้ที่จะเปลี่ยนแปลง และสร้างสรรค์โมเดลธุรกิจใหม่ๆเพื่อดึงดูดลูกค้า และที่เห็นได้ชัดโดยทั่วไปนั้น นอกเหนือจากการปรับปรุงประสิทธิภาพแล้ว การให้บริการ “ฟู้ด เดลิเวอรี” ที่รวมไปถึงการบริหารจัดการทั้งส่วนของหน้าร้าน และความรวดเร็วในการทำอาหารให้ทันออเดอร์ลูกค้าเพื่อจัดส่ง จะเป็นกลวิธีที่จะทำให้ผลประกอบการกลับมาดีขึ้นตามลำดับ
อ่านข่าว-ไทยพบผู้ป่วย 'โควิด-19' อีก 1 ราย เพิ่มประเทศเสี่ยง
“จากข้อมูลพบว่าในปีที่ผ่านมาธุรกิจเดลิเวอรี่มีมูลค่าสูงถึง 3.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งการเติบโตอย่างรวดเร็วและความนิยมของแอพพลิเคชั่นสั่งอาหารได้ดึงดูดผู้ประกอบการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับห่วงโซ่ธุรกิจร้านอาหารให้เข้ามาขยายตลาด ก่อให้เกิดโอกาสและความท้าทายที่ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับแผนธุรกิจ นอกจากนี้ยังอาจกระตุ้นให้เกิดการควบรวมกิจการของผู้ประกอบการภายในห่วงโซ่ธุรกิจมากยิ่งขึ้น และ “การซื้อแฟรนไชส์” ก็นับเป็นอีกทางเลือกที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีนิยมใช้”
แฟรนไชส์ไทยโต 10% ต่อปีสูง 3 แสนล้าน
บุญประเสริฐ อธิบายเสริมว่า ธุรกิจแฟรนไชส์ได้รับความนิยมอย่างมาก เนื่องจากผู้ประกอบการมีความต้องการที่จะขยายกิจการโดยที่ไม่ต้องเสียเวลาสร้างธุรกิจขึ้นมาใหม่ จึงไม่แปลกที่ตลาดธุรกิจแฟรนไชส์ในเมืองไทยจะเติบโตอย่างรวดเร็ว และถือเป็นกลุ่มธุรกิจที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศอย่างมหาศาล โดยในปีที่ผ่านมามูลค่าทางเศรษฐกิจของธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทยสูงถึง 3 แสนล้านบาท มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 10 ต่อปี และในแต่ละปีมีผู้ประกอบการรายใหม่ที่สนใจเข้าสู่ธุรกิจแฟรนไชส์กว่า 1.5-2 หมื่นราย โดยแนวโน้มการขยายตลาดของธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทย ทั้งแฟรนไชส์ไทยและแฟรนไชส์จากต่างประเทศจะมีอัตราเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด ส่งผลให้เกิดสภาวะการแข่งขันที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น
“ทั้งนี้ ธุรกิจแฟรนไชส์จะมีความน่าเชื่อถือหรือไม่นั้นต้องดูว่าได้ผ่านกระบวนการสร้างมาตรฐานมามากน้อยเพียงใด เพราะธุรกิจแฟรนไชส์จะต้องมีมาตรฐานที่เปรียบเสมือนรากฐานเสริมสร้างความเข้มแข็งและความเจริญเติบโตให้กับธุรกิจ ดังนั้นมาตรฐานแฟรนไชส์ที่ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญคือ ระบบการปฏิบัติงาน คุณภาพของสินค้าและมาตรฐานการให้บริการ รวมถึงการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างแฟรนไชส์ซอร์ (เจ้าของแบรนด์) และแฟรนไชส์ซี (ผู้ซื้อสิทธิแฟรนไชส์) เพราะองค์ประกอบเหล่านี้คือ เกณฑ์มาตรฐานแฟรนไชส์ ที่เป็นตัวชี้วัดว่าธุรกิจจะมีโอกาสเติบโตหรือไม่”
ภาพ : SME D Bank จัดเสวนา “เจาะลึกเทรนด์ธุรกิจอาหารปี 2563 วิกฤติหรือโอกาสเอสเอ็มอีไทย”
อันที่จริงธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทย มีชื่อเสียงโด่งดังติดอันดับโลกหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น หมวดอาหารอย่าง มัสมั่น ต้มยำกุ้ง สปา หรือมวยไทย โดยเฉพาะมวยไทยนั้น ถือเป็นธุรกิจที่ได้รับความนิยมจากต่างชาติ มีนักลงทุนจากต่างชาติขอไลเซนส์กว่า 130 ประเทศ แต่ทั้งหมดนี้เป็นเพียงกิจการไม่ได้เป็นแบรนดิ้งจึงเกิดการเลียนแบบมากมาย ถ้าหากธุรกิจมวยไทยมีการทำในรูปแบบแฟรนไชส์ ก็จะสามารถขยายออกไปต่างประเทศได้ง่ายกว่าการเปิดสาขาหรือทำธุรกิจด้วยตัวเอง เพราะสามารถขยายสาขาได้อย่างรวดเร็ว ประหยัดงบประมาณในการลงทุน ที่สำคัญตอบโจทย์กลุ่มนักลงทุนรุ่นใหม่ ที่อยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง
มองหาดีเอ็นเอ รุกสร้างจุดยืน
บุญประเสริฐ บอกว่า ก่อนอื่นจะต้องทำความเข้าใจดีเอ็นเอผู้ประกอบการก่อนที่จะเริ่มธุรกิจเนื่องจากภาพของคนเราแบ่งเป็น 4 ส่วนคือ 1.Builder ผู้สร้าง คนเหล่านี้เป็นผู้เล่นหมากรุกที่ดีที่สุดในเกมที่เพิ่งเริ่มต้นมักจะมองว่าเป็นสองหรือสามก้าวไปข้างหน้าของการแข่งขัน 2.Opportunist ผู้ฉวยโอกาส 3.Specialist ผู้ประกอบการที่เชี่ยวชาญ พวกเขาสร้างความเชี่ยวชาญที่แข็งแกร่ง แต่มักจะดิ้นรนเพื่อโดดเด่นในตลาดที่มีผู้คนหนาแน่น 4.Innovator โดยปกติแล้วผู้ประกอบการ Innovator ในห้องปฏิบัติการที่ทำงานเกี่ยวกับการคิดค้นสูตรแนวคิดแนวคิดระบบหรือผลิตภัณฑ์ที่สามารถสร้างขึ้นในธุรกิจเดียวหรือหลายธุรกิจ
ดังนั้นการเติบโตของธุรกิจแฟรนไชส์ที่เป็นแบรนด์ไทยเองมีโอกาสการเติบโตอีกมาก แต่จะต้องได้รับการพัฒนาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ผ่านการปรับเปลี่ยนมายเซ็ตใหม่ เพราะส่วนใหญ่แล้วมายเซ็ตของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมักคิดว่าเติบโตเพียงในประเทศก็เพียงพอ อีกทั้งไม่มีตัวอย่างการเติบโตของแบรนด์ไทยเท่าที่ควร จึงทำให้คนรุ่นถัดมาไม่กล้าคิด และกล้าทำ ในสิ่งใหม่ๆที่เกิดจากฝีมือของตนเอง แต่ในความเป็นจริงนั้นเอสเอ็มอีไทยมีความสามารถมากพอที่จะแข่งขัน เพียงแต่อาจจะต้องอาศัยพี่เลี้ยง การผลักดันจากหลากหลายหน่วยงาน ในการเสริมแกร่งองค์ความรู้ แต่กระนั้นจะต้องมีซัคเซสของธุรกิจคือ 1.ต้องมีความเชื่อว่าทำได้ 2.ความศรัทธา 3.ความรู้ 4.ความกล้าที่จะเปลี่ยน ที่เปลี่ยนธุรกิจ และหาข้อเท็จจริงมากกว่าข้อคิดเห็น จะต้องหาข้อเท็จจริงดูตัวอย่างและนำมาพัฒนาประยุกต์ใช้
‘อาหาร’ เทรนด์แฟรนไชส์มาแรงปี 63
ทั้งนี้แฟรนไชส์ที่เพื่อนบ้านให้ความสนใจอันดับแรก คือ ธุรกิจอาหาร และที่กำลังมาแรงคือ ธุรกิจมวยไทย ซึ่งตอนนี้มวยไทยยังปรับเป็นไลเซนส์อยู่ยังไม่ได้ปรับเป็นแฟรนไชส์ หากแบ่งสัดส่วนจะได้ 1.ธุรกิจอาหาร 60-70 % 2.ธุรกิจการศึกษา 20 % 3.สปา โดยเฉพาะนวดไทยโตมากในตลาดเพื่อนบ้าน 4.ธุรกิจคาร์แคร์ 5.อื่นๆ เช่น มวยไทย ธุรกิจขยะรีไซเคิล เป็นต้น
ส่วนธุรกิจแฟรนไชส์ที่ในประเทศไทยที่พบหลักๆมีทั้งหมด 10 ประเภท คือ 1.อาหาร 2.เครื่องดื่ม 3.ขนม 4.การศึกษา 5.สปาและนวดไทย 6.คาร์แคร์ 7.ค้าปลีก 8.อสังหาริมทรัพย์ 9.ธุรกิจบริการ เช่น โลจิสติกส์ ขนส่งสินค้า 10.อื่นๆ ส่วนแฟรนไชส์มาแรงในตอนนี้ คือ แฟรนไชส์ชานมไข่มุก
ดังนั้นทางสมาคมฯ ได้มีการพัฒนาและเร่งสร้างไอดอลของประเทศ เพื่อให้เกิดการกระจายตัของธุรกิจแฟรนไชส์ผ่านฝีมือคนไทยที่สามารถแข่งขันกับต่างชาติได้ ไม่ว่าจะเป็น การให้ความรู้เกี่ยวกับแฟรนไชส์โดยกูรูที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องแฟรนไชส์ การโค้ชชิ่งอย่างใกล้ชิดมุ่งเน้นผู้ประกอบการแฟรนไชส์ปฏิบัติจริง การจัดแมทชิ่งกับธุรกิจด้านซัพพลายเออร์ แลนด์ลอร์ด รวมถึงสถาบันการเงิน ให้มาร่วมสนับสนุนและพัฒนาธุกิจแฟรนไชส์ไปพร้อมๆ กับสมาคมฯ เพื่อทำให้แฟรนไชส์ไทยมีความเข้มแข็งขึ้น รวมถึงให้คำปรึกษาด้านต่างๆ เพื่อพัฒนาธุรกิจแฟรนไชส์ไทยให้สามารถเปิดตลาดในต่างประเทศได้
สร้างโอกาส ขยายสู่เวทีโลก
ปัจจุบันทางสมาคมฯมีสมาชิกเกือบ 400 บริษัท แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ 1.แฟรนไชส์ซอว์ ที่เป็นเจ้าของแบรนด์ 2.แฟรนไชส์ซี คนลงทุนในแบรนด์ 3.ซัพพลายเออร์ 4.องค์กรต่างๆ อาทิ UOB ผนึกกำลังกันเพื่อพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับเรื่องแฟรนไชส์
ส่วนการให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนจากภาครัฐ บุญประเสริฐ บอกว่า ปัจจุบันมีหน่วยงานอย่าง กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ที่มีการจัดคอร์สอบรมในการพัฒนาธุรกิจแฟรนไชส์ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยถึง 24 รุ่น กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศส่งเสริมธุรกิจ ที่มีการส่งเสริมธุรกิจแฟรนไชส์ไทยให้สามารถออกสู่ต่างประเทศ ส่วนภาคสถาบันการเงินอย่าง ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ยังมอบโอกาสครั้งสำคัญในการเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายขึ้น กับโครงการเติมทุน ‘SME D’ ยกกำลัง 3 กับวงเงินสินเชื่อกว่า 1 หมื่นล้านบาท วงเงินกู้สูงสุดรายละ 15 ล้านบาท ผ่อนนาน 7 ปี พร้อมชูจุดเด่นดอกเบี้ยสุดถูก เริ่มต้นเพียง 3% ต่อปี นาน 3 ปีแรก แถมฟรีค่าธรรมเนียม บสย. 3 ปี
“อีกทั้งเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมาคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าได้จัดทำแนวปฏิบัติทางการค้า เนื่องจากเล็งเห็นและตระหนักดีว่าธุรกิจแฟรนไชส์เป็นธุรกิจที่กำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย และมีการเติบโตในอัตราสูงอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างมาตรฐานการค้าในธุรกิจแฟรนไชส์ให้มีธรรมาภิบาล และมีบรรทัดฐานในการปฏิบัติที่ชัดเจน โดยการกำหนดกฎกติกามารยาทที่เป็นสากลและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง”
และสุดท้ายนี้ บุญประเสริฐชี้ถึงสิ่งสำคัญในการทำธุรกิจแฟรนไชส์ว่า “อย่ามองความสำเร็จของธุรกิจแฟรนไชส์ที่จำนวนสาขา ให้มองความสำเร็จของลูกค้าแฟรนไชส์เป็นที่ตั้ง และเมื่อผู้ประกอบการแฟรนไชส์ทำการปรับปรุงตัวเองแล้ว หลังจากนั้นต้องให้ความรู้แก่ผู้ซื้อแฟรนไชส์ในการลงทุน เพราะคนรุ่นใหม่มีความฝันอยากเป็นเจ้าของธุรกิจอยู่แล้ว ประกอบกับยุคสมัยนี้เหมาะกับการขยายสาขาแฟรนไชส์อย่างมาก มีช่องทางอำนวยความสะดวกให้แก่ธุรกิจมากมายแม้จะอยู่ในพื้นที่อับสายตาผู้คนแต่มีสื่อออนไลน์ที่จะช่วยโปรโมทผ่านบริการเดลิเวอรี่ได้เช่นกัน และจะทำให้ระบบแฟรนไชส์ของไทยมีความเข้มแข็งมากขึ้น ผู้บริโภคได้ประโยชน์จากการที่แฟรนไชส์มีคุณภาพมาตรฐาน ที่สำคัญ “แฟรนไชส์”แบรนด์ไทยจะผงาดไปไกลทั่วโลก”