มะเขือเทศพันธุ์ใหม่ ต้านไวรัสใบหงิก เกษตรกรปลอดภัย-ลดต้นทุน
สวทช.จับมือมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ปรับปรุงพันธุ์มะเขือเทศ ให้มีความต้านทานต่อไวรัสใบหงิกเหลือง เล็งนำเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะลงแปลงอินทรีย์ทดลองปลูก หวังสร้างทางเลือกใหม่ยกระดับเพิ่มผลผลิตให้เกษตรกร
มุ่งผลิตพืชพันธุ์ดีสู่ชุมชน
มะเขือเทศถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทยทั้งการบริโภคภายในประเทศ และส่งออก แต่ทว่ากลับถูกโรคใบหงิกเหลืองคุกคาม จึงส่งผลให้ผลผลิตเสียหายได้ถึง 100% ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส TYLCV ที่เป็นต้นเหตุของปัญหาโดยมีแมลงหวี่ขาวเป็นพาหะ ไม่เพียงจะทำให้ใบหงิก ต้นยังแคระแกร็น ติดดอกแล้วจะร่วงหล่น และไม่ออกลูก
วิราภรณ์ มงคลไชยสิทธิ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ช่วงอากาศร้อนแห้ง มะเขือเทศจะเป็นโรคใบหงิกเหลืองได้ง่าย ด้วยเจตนารมณ์ของ ผศ.ถาวร โกวิทยากร อดีตอาจารย์คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่อยากจะแก้ไขดังกล่าวก่อนที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้และพันธุ์ที่สมบูรณ์สู่เกษตรกร จึงได้เกิดการร่วมมือกันระหว่าง 3 หน่วยงานทั้งจาก สวทช. มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และบริษัทที อาร์ แอนด์ ดี จำกัด
“ทีมวิจัย สวทช.ได้การศึกษามะเขือเทศสายพันธุ์ป่าที่มียีนต้านทานโรคใบหงิกเหลือง ทีมวิจัยของเราจึงได้ติดต่อขอนำยีนดังกล่าวมาพัฒนาปรับปรุงพันธุ์มะเขือเทศในบ้านเรา ซึ่งได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดี แต่มีเงื่อนไข หลังปรับปรุงพันธุ์เพื่อการค้าสำเร็จห้ามส่งไปจำหน่ายที่อเมริกาใต้ จากนั้นจึงได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ในการใช้แปลงทดสอบในโรงเรือนระบบอินทรีย์เป็นฐานหลักในการวิจัยและพัฒนาพันธุ์มะเขือเทศดังกล่าว”
ดึงเทคโนฯชีวภาพ ผุดมะเขือเทศพันธุ์ไทย
ด้าน ผศ.ฉันทนา วิชรัตน์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาพืชผัก คณะผลิตกรรมการเกษตร ม.แม่โจ้ กล่าวว่า ศูนย์การเรียนรู้การผลิตเมล็ดพันธุ์ผักเกษตรอินทรีย์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นอีกหนึ่งแปลงทดสอบการปลูกมะเขือเทศต้านโรคไวรัสใบหงิกเหลืองพันธุ์ PC3 (A9) และ PC11 โดยทดสอบผลิตเมล็ดพันธุ์และผลสดในโรงเรือนด้วยระบบเกษตรอินทรีย์
ซึ่งมะเขือเทศสายพันธุ์ใหม่นี้เกิดจากการผสมพันธุ์ของมะเขือเทศพันธุ์สแนคสลิม 502 เป็นมะเขือเทศที่พัฒนาขึ้นโดย ผศ.ถาวร โกวิทยากร นับเป็นมะเขือเทศ cherry type การเจริญเติบโตเป็นแบบทอดยอดต้นสูงประมาณ 1.5-2.0 เมตร ผลอ่อนมีสีเขียว ส่วนผลสุกมีสีแดงน้ำหนักผลประมาณ 10-15 กรัม รูปทรงผลยาวคล้ายผลองุ่นข้อดีคือมีรสหวานถึง 9-12 บริกซ์ แต่ข้อเสียคือไม่ต้านทานต่อโรคใบหงิกเหลืองมะเขือเทศ
“จากนั้นได้มีการนำมาผสมกับมะเขือเทศพันธุ์จีที 645-2 ของบริษัท Semillas Tropicales ซึ่งมียีนต้านทานต่อโรคได้แก่ยีน Ty-3a ได้เป็นมะเขือเทศสายพันธุ์ GT5 นำมาคัดเลือกเฉพาะต้นที่มียีน Ty-3a โดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพเข้ามาช่วยโดยไม่พึ่งพาการตัดต่อทางพันธุกรรม หรือ GMO ในเรื่องการกระจายยีนและเพื่อให้รู้ว่ามะเขือเทศเมล็ดไหนมียีนสมบูรณ์พันธุ์ด้วยใช้เทคโนโลยี ดีเอ็นเอ มาร์คเกอร์ (DNA Marker) แล้วนำไปผสมกลับ หรือ แบคครอสมะเขือเทศพันธุ์สแนคสลิม502 พร้อมปลูกทดสอบต้านทานต่อโรคใบหงิกเหลือง จากนั้นคัดเลือกมะเขือเทศที่มีความต้านทานต่อโรคดี มีลักษณะของผลที่ดีและมียีนต้านทานไวรัสจากนั้นนำมาผสมกลับมะเขือเทศสแนคสลิม502 จำนวน 4 ครั้ง จนได้มะเขือเทศที่มีรูปร่างผลแบบทรงกระบอก สุกสีแดง น้ำหนักเฉลี่ย 10 กรัมความหวาน 7-9.5 บริกซ์ และมีความต้านทานต่อโรคใบหงิกในระดับดีชื่อว่าPC11 ส่วนขนาดผลเฉลี่ย 16.3 กรัม ความหวาน 8-9 บริกซ์ มีชื่อว่า PC3(A9)”
ตอบโจทย์โมเดลเศรษฐกิจใหม่
ฉันทนา กล่าวเสริมว่า ซึ่งหลังจากทำการทดลองปลูกไปจนถึงช่วงผลมะเขือเทศสุก (fruit ripening) ในระยะเวลา 120 วัน พบว่า ทั้ง 2 สายพันธุ์รสชาติดี เนื้อแน่น ทำให้เกษตรกรมีผลผลิตเพิ่มขึ้น ลดการใช้สารเคมีกำจัดแมลงหวี่ขาว จึงปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้บริโภค ทั้งนี้ศูนย์ฯ จะทำการผลิตและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์อินทรีย์ที่มีคุณภาพให้แก่เกษตรกร รวมทั้งการจัดหลักสูตรการผลิตเมล็ดพันธุ์อินทรีย์และผลสดเพื่อให้ความรู้แก่นักศึกษาและเกษตรกรที่จะใช้ประโยชน์เป็นอาชีพทางเลือกต่อไป
ขณะเดียวกัน วิราภรณ์ เสริมว่า การพัฒนาแหล่งเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะเพื่อถ่ายทอดความรู้สู่ชุมชนในครั้งนี้ ตั้งอยู่บนฐานบีซีจีในกระบวนการตั้งแต่การสร้างวัตถุดิบจนถึงการเพิ่มมูลค่า ตอบโจทย์ในเรื่องของไบโออีโคโนมีที่เป็นการใช้ทรัพยากรจากพันธุ์พืชในการสร้างเศรษฐกิจ อีกทั้งระบบการผลิตแบบอินทรีย์เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งสามารถตอบโจทย์ในส่วนของกรีนอีโคโนมี ซึ่งในลำดับต่อไปจะมีการนำเทคโนโลยีสถานีตรวจวัดสภาพอากาศเพื่อการเกษตร และระบบการให้น้ำอัตโนมัติผ่านสมาร์ทไอโอทีมาใช้สำหรับแปลงมะเขือเทศอีกด้วย