จุลินทรีย์ป้องกันฟันผุ หนึ่งเดียวในโลกจาก ม.สงขลาฯ
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คัดเลือกจุลินทรีย์โพรไบโอติกสายพันธุ์ใหม่สำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก แก้ฟันผุ และปัญหาสุขภาพในช่องปากของคนไทย สอว.เตรียมขยายผลใช้ผสมในอาหารและเครื่องดื่ม
ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วย นางสาวทิพวัลย์ เวชการัณย์ ผู้อำนวยการสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) เดินทางลงพื้นที่อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จ.สงขลา เพื่อเยี่ยมชมผลงานการสนับสนุนผู้ประกอบการ สอว.เรื่อง “โพรไบโอติกสายพันธุ์ใหม่ (Probiotic)” กับทางเลือกใหม่ในการป้องกันฟันผุ ซึ่งพัฒนาโดย ศ.ดร.รวี เถียรไพศาล และทีมนักวิจัยจากคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่ได้คัดเลือกจุลินทรีย์โพรไบโอติกสายพันธุ์ใหม่สำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก ได้แก่ โพรไบโอติกแลคโตแบซิลลัล พาราเคเซอิ เอสดี 1 (Lactobacillus Paracasei SD1) และแลคโตแบซิลลัล แรมโนซัส เอสดี 11 (Lactobacillus Rhamnosus SD11) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีแหล่งมาจากช่องปากของคนสุขภาพดี เพื่อมาใช้เสริมสุขภาพในช่องปากคนไทยโดยเฉพาะ
ศ.ดร.ศุภชัย เปิดเผยว่า ปัญหาสุขภาพในช่องปากของประชาชนไทย โดยเฉพาะฟันผุเป็นปัญหาสำคัญของชาติปัญหาหนึ่ง โรคฟันผุพบได้บ่อยในทุกเพศและวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็ก ซึ่งประเทศไทยในปัจจุบันเด็ก 0-5 ปี มีจำนวนประมาณ 4.2 ล้านคน มีอาการฟันผุประมาณ 3.6 ล้านคน เนื่องจากประชาชนขาดความรู้ ความเข้าใจ และการดูแลเอาใจใส่ที่ดีพอ จากการที่พบว่าเด็กไทยมีฟันผุจำนวนสูง การมีฟันผุในวัยเด็กทำให้เด็กเจ็บปวด ส่งผลต่อการกินอาหารที่มีคุณค่าได้ลดลง ซึ่งส่งผลต่อการเจริญเติบโตทั้งร่างกายและสติปัญญา มีฟันซ้อนเก และทำใหเฟันแท้มีโอกาสผุง่ายในอนาคต นอกจากนี้การสูญเสียฟันก่อนวัยอันควรยังส่งผลต่อเศรษฐกิจในการต้องเสียงบประมาณจำนวนมากเพื่อรักษาและบูรณะฟัน เช่น อุด ถอน และการใส่ฟันปลอม เป็นต้น แม้ว่าในปัจจุบันจะมีความพยายามในการใช้มาตรการต่างๆ เช่น การให้ความรู้ในการแปรงฟันเด็ก การให้ฟลูออไรด์ การทาฟลูออไรด์วาร์นิช การเคลือบหลุมร่องฟัน เป็นต้น แต่อัตราการเกิดฟันผุในเด็กยังคงสูงขึ้นเช่นเดิม
รองปลัด อว.กล่าวต่อว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากโพรไบโอติกแลคโตแบซิลลัสเพื่อใช้ในการป้องกันฟันผุ ซึ่งโพรไบโอติก (Probiotic) คือ จุลินทรีย์ขนาดเล็ก จัดเป็นกลุ่มจุลินทรีย์ชนิดดี โดยโพรไบโอติกจะทำหน้าที่ในการสร้างสมดุลและควบคุมเชื้อก่อโรค ซึ่งนับว่าเป็นก้าวที่สำคัญของวงการทันตแพทย์ไทย เมื่อ ศ.ดร.รวี เถียรไพศาล และทีมนักวิจัยจากคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้คัดเลือกจุลินทรีย์โพรไบโอติกสายพันธุ์ใหม่สำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก ได้แก่ โพรไบโอติกแลคโตแบซิลลัล พาราเคเซอิ เอสดีหนึ่ง (Lactobacillus Paracasei SD1) และแลคโตแบซิลลัล แรมโนซัส เอสดี11 (Lactobacillus Rhamnosus SD11) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีแหล่งมาจากช่องปากของคนสุขภาพดี เพื่อมาใช้เสริมสุขภาพในช่องปากคนไทยโดยเฉพาะ
“จากการทดลองทางคลินิก พบว่า เมื่อทดลองให้อาสาสมัครรับประทานเชื้อจุลินทรีย์โพรไบโอติกพาราเคเซอิ เอสดีหนึ่ง (Lactobacillus Paracasei SD1) และแลคโตแบซิลลัล แรมโนซัส เอสดี11 (Lactobacillus Rhamnosus SD11) เป็นประจำ 1 เดือน ยังพบเชื้อจุลินทรีย์นี้ในช่องปากอีก 1 เดือน ทำให้มีประสิทธิภาพการป้องกันฟันผุได้ดีกว่า ในขณะที่เชื้อชนิดอื่นสามารถอยู่ในช่องปากได้แค่ 1-2 สัปดาห์เท่านั้น ทั้งนี้ ได้นำมาศึกษาการป้องกันโรคฟันผุในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก พบว่ามีการลดลงของเชื้อฟันผุและลดการเกิดฟันผุในเด็กเล็ก ผลงานดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ทางวิชาการและเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ จึงเป็นต้นแบบในการใช้โพรไบโอติกในการป้องกันฟันผุในเด็ก และเป็นทางเลือกหนึ่งในการป้องกันฟันผุในคนไทย” ศ.ดร.ศุภชัย กล่าว
ด้าน ศ.ดร.รวี เถียรไพศาล กล่าวว่า กลไกการทำงานของโพรไบโอติกนั้น สามารถลดเชื้อก่อโรคฟันผุได้ โดยสามารถสร้างสารยับยั้งการเจริญเติบโตต่อเชื้อก่อโรคฟันผุโดยตรง และสามารถกระตุ้นภูมิต้านทานต่อเชื้อก่อโรค ต่างจากการใช้น้ำยาบ้วนปากหรือสารต้านเชื้อซึ่งมีผลในการลดเชื้อเพียงอย่างเดียว ซึ่งอาจจะมีปัญหาการดื้อต่อสารต้านเชื้อตามมาในภายหลัง โดยโพรไบโอติกสามารถใช้ประโยชน์ได้ในคนทุกช่วงอายุ รวมถึงผู้สูงอายุที่มักมีปัญหาฟันผุที่ผิวรากฟันจากปัญหาเหงือกร่นด้วย” ดังนั้น การนำโพรไบโอติกไปพัฒนาทำเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทต่างๆ นับเป็นทางเลือกที่ดีและง่ายต่อผู้บริโภคในการยับยั้งและป้องกันฟันผุ) ซึ่งต้องทำควบคู่ไปกับการดูแลสุขภาวะในช่องปากและพฤติกรรมการรับประทานอาหารโดยเฉพาะอาหารหวาน จึงจะช่วยลดอัตราการเกิดฟันผุในประชากรไทยได้ประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น
ขณะที่ นางสาว ทิพวัลย์ กล่าวว่า อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยการสนับสนุนของ สอว. ได้ให้การสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้เกิดการอนุญาตใช้สิทธิและการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผลงานวิจัยดังกล่าว โดยการขอรับความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การสนับสนุนการเพิ่มศักยภาพผลงานวิจัยผ่านโครงการการวิจัยร่วมและการจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการที่มีความสนใจเทคโนโลยี ซึ่งปัจจุบันได้มีการอนุญาตให้ใช้สิทธิในผลิตภัณฑ์นมผง นมอัดเม็ด นมเปรี้ยว เม็ดอมโพรไบโอติก และผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่ทดแทนการใช้ยาปฏิชีวนะสำหรับสัตว์
ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตและจัดจำหน่ายแล้วเกิดขึ้นในนามของบริษัท แดรี่ โฮม จำกัด คือ นมเปรี้ยว และนมอัดเม็ด ซึ่งบริษัท แดรี่โฮม จำกัด มีการทำโครงการร่วมกับส่งเสริมการป้องกันฟันผุกับเทศบาลนครหาดใหญ่ผ่าน “ผลิตภัณฑ์เม็ดอมนมเสริมโพรไบโอติก” ให้กับเด็กในโรงเรียนสังกัดของเทศบาลจำนวน 5 โรงเรียน และกิจกรรมในลักษณะเดียวกันได้ดำเนินการที่จังหวัดพัทลุงกับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ซึ่งทั้งสองกิจกรรมมีเด็กได้รับผลิตภัณฑ์กว่า 3,400 คน และทางบริษัทได้จัดกิจกรรม FUN D (ฟัน ดี) โยเกิร์ตพร้อมดื่มจากเชื้อโพรไบโอติก โดยเมื่อขายได้ 1 ขวดก็จะนำผลกำไรมาแจกเด็กที่ด้อยโอกาสอีก 1 ขวดเพื่อให้เด็กในชุมชนที่ห่างไกลได้บริโภค นอกจากนี้ ทีมวิจัยได้รับทุนสนับสนุนในการทำโครงการต้นแบบเรื่องการใช้นมผงผสมโพรไบโอติกเพื่อป้องกันฟันผุในเด็กเล็กในชุมชนเทศบาลตำบลท่าข้าม โรงพยาบาลจะนะ โรงพยาบาลยะหริ่ง และโรงพยาบาลสตูล
“ที่สำคัญ ขณะนี้ มีแผนการขยายผลในอนาคต โดยมุ่งเน้นสนับสนุนให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีไปยังภาคเอกชนที่หลากหลายมากขึ้นตามสายการผลิต โดยเฉพาะด้านอาหารเนื่องจากโพรไบโอติกสามารถผสมเครื่องดื่มและอาหารได้ทุกชนิด เพื่อเป็นช่องทางให้คนไทยมีโอกาสในการใช้ผลิตภัณฑ์จากโพรไบโอติกมากขึ้น รวมทั้งร่วมมือกับนักวิจัยในการพัฒนานวัตกรรมที่มุ่งเน้นไปยังกลุ่มอื่นๆ เช่น กลุ่มผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุ ซึ่งปัจจุบันได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีไปยังอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น อุตสาหกรรมอาหารเสริม อุตสาหกรรมอาหารสัตว์เพื่อลดการใช้ยาปฏิชีวนะ และอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง ซึ่งได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีไปยังภาคเอกชน ดังนี้ บริษัท เกร๊ทเตอร์ฟาร์ม่า จำกัด ผลิตนมผง นมอัดเม็ด และลูกอม ตรา Prodento บริษัท เดนทัลสวีท จำกัด ผลิตเม็ดอมโพรไบโอติก บริษัท เค.เอ็ม.พี.ไบโอเทค จำกัด ผลิตอาหารเสริมที่ทดแทนการใช้ยาปฎิชีวนะสำหรับสัตว์” ผอ.สอว. กล่าว
ทั้งนี้ หากภาคเอกชนหรืออุตสาหกรรมต้องการขออนุญาตใช้สิทธิผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สามารถติดต่อได้ที่ คุณสิทานนท์ อมตเวทย์ โทร. 074-859516, 090-9707099 อีเมล: [email protected] หรือ คุณณภัค พันธุ์ช่างทอง โทร. 074-859516, 089-4636439 อีเมล: [email protected]