เบญจรงค์ไทย แปลงรูปอินเทรนด์สอดรับผู้บริโภครุ่นใหม่
เครื่องเบญจรงค์แบรนด์ “บุญญารัตน์ เบญจรงค์” เป็นหนึ่งในสินค้าที่ระลึกทรงคุณค่า ได้รับความนิยมจากลูกค้าองค์กรเป็นอย่างมาก ถูกแปลงรูปโดย Salt n Pepper ดีไซเนอร์เฮาส์ชื่อดังทำให้มีความทันสมัยอินเทรนด์ ภายใต้แนวคิด Tattoo Old School
เครื่องเบญจรงค์งานศิลป์ชั้นสูงที่อยู่คู่คนไทยมาตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงยุครัตนโกสินทร์ ในอดีตเครื่องเบญจรงค์สั่งทำพิเศษจากประเทศจีนโดยมีช่างไทยเป็นควบคุมการผลิต และเป็นผู้ออกแบบเพื่อให้ลวดลาย และสีสันสะท้อนศิลปะไทย ต้นกำเนิดของเครื่องเบญจรงค์ใช้สีวาดเพียง 3 สี ต่อมาพัฒนาเป็น 5 สี ได้แก่ ขาว เหลือง ดำ แดง และเขียว (คราม) ปัจจุบันมีการใช้สีมากกว่า 30 สี
ส่วนเครื่องถ้วยลายน้ำทองจะเป็นเครื่องปั้นดินเผาที่เขียนลายด้วยวิธีลงยา โดยการเพิ่มสีทอง หรือแต้มสีทองระหว่างสีเบญจรงค์ เครื่องถ้วยลายน้ำทองได้รับความนิยมมากในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ลายที่นิยมในสมัยนั้น คือลายดอกกุหลาบ ดอกโบตั๋นและดอกไม้สี่ฤดู ซึ่งเป็นดอกไม้มงคล
ด้วยฝีมือเชิงช่างทางด้านหัตถกรรมเบญจรงค์ที่สั่งสมมานานจากรุ่นสู่รุ่น ส่งผลให้งานหัตถกรรมเบญจรงค์พัฒนาไปสู่ตลาดสากลได้อย่างรวดเร็ว ส่วนใหญ่นำไปตกแต่งบ้านเรือน หรือนำไปใช้เพื่อเป็นของขวัญ ของชำร่วย ที่ระลึก แตกต่างจากในอดีตที่ถูกผลิตใช้กันแต่ในชนชั้นสูง ความน่าสนใจของเครื่องเบญจรงค์ถูกปลุกให้ทันสมัยอินเทรนด์อีกครั้งโดย “บุญญารัตน์ เบญจรงค์” ที่นำเทคนิคการเขียนลวดลายที่วิจิตรตระการตาของเครื่องเบญจรงค์มาดัดแปลงเป็นลวดลายและรูปแบบสากล โดยมี Designer House ชื่อดัง “Salt n Pepper” เป็นผู้สร้างสรรค์ลวดลายภายใต้แนวคิด Tattoo Old School ซึ่งเป็นสไตล์ของลายสัก เช่น ภาพผีเสื้อ ภาพลายเสือ ภาพงู ฯลฯ พร้อมการจัดวางตำแหน่งบนชิ้นงานที่แปลกตากว่าก่อน สอดรับกับความต้องการของผู้บริโภครุ่นใหม่
คอลเลคชั่นใหม่ไทยแปลงรูปในครั้งนี้เป็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น จากการทดลองเทคนิคงานสีเบญจรงค์ที่พัฒนาขึ้นเพื่อสร้างชุดสีแบบระบบการพิมพ์ CMYK ให้เกิดลวดลาย และสีสันที่มีความร่วมสมัยแตกต่างจากสีเดิมที่มีอยู่ทั่วไป
เครื่องเบญจรงค์ในรูปแบบใหม่โดยความร่วมมือระหว่าง “บุญญารัตน์ เบญจรงค์” และ “Salt n Pepper” เกิดขึ้นภายใต้โครงการพัฒนาอัตลักษณ์เบญจรงค์ไทย โดย SACICT เพื่อส่งเสริมการใช้งานเบญจรงค์แบบร่วมสมัย และสร้างความตระหนักในคุณค่าของอัตลักษณ์งานเบญจรงค์ไทยผ่านการสร้างเอกลักษณ์ของผู้ผลิตให้มีความแตกต่าง อีกหนึ่งแนวคิดดีๆ ที่สะท้อนให้เห็นว่า งานออกแบบสร้างสรรค์บวกกับทักษะภูมิปัญญางานช่างฝีมือชั้นครู สามารถพัฒนาชิ้นงานให้มีความทันสมัย และใช้งานได้ในชีวิตปัจจุบัน สอดรับกับความต้องการของคนรุ่นใหม่