'นมวัวแดง’ สู้ภาวะวิกฤติ ผนึก มก.พัฒนา ‘ทุนมนุษย์’
อ.ส.ค.เร่งขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ “นมแห่งชาติ”ให้บรรลุตามเป้าหมายในปี 2564 ผนึกความเชี่ยวชาญด้านปฏิบัติขององค์กรกับจุดแข็งด้านทฤษฎีของ ม.เกษตรศาสตร์ ผลักดันงาน “บริหารจัดการทุนมนุษย์” และส่งเสริมให้เกิดสถาบันการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ ชี้ 'คน' สำคัญที่สุด
การบริหารจัดการทุนมนุษย์ (Human Capital Management - HCM) จะเป็นตัวชี้วัดแนวทางเพื่อแนะแนวการบริหารคนในองค์การ โดยให้มองคนเป็นสินทรัพย์ จึงจะทำให้องค์การเกิดความได้เปรียบในการแข่งขัน เป็นแนวทางในการบริหารบุคลากร เพื่อให้บุคลากรสามารถดำเนินการให้เป็นไปตามแผนกลยุทธ์ขององค์การ ถือว่ามีประโยชน์ต่อองค์การในยุคที่ต้องรับมือกับภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ
“คน”หัวใจความสำเร็จ
ณรงค์ฤทธิ์ วงศ์สุวรรณ ผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) กล่าวว่า อ.ส.ค.ต้องการเร่งส่งเสริมพัฒนาเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและผลิตภัณฑ์ให้เกิดความหลากหลาย ควบคู่กับการเร่งขยายธุรกิจผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์คทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งนอกจากสร้างรายได้เพิ่มแล้วยังเป็นการช่วยยกระดับรายได้ของเกษตรกรโคนมให้เกิดความมั่นคง
แต่การที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการทำฟาร์มโคนมได้นั้น จะต้องมีการพัฒนาศักยภาพ “คน” เป็นอันดับแรกเนื่องจากเป็นหัวใจสำคัญในการสานต่อความสำเร็จในด้านต่างๆ เช่น เป็น รายได้ขององค์กร การสร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์ และศูนย์กลางขององค์ความรู้ในด้านต่างๆ พร้อมทั้งการยกระดับการบริหารจัดการ ซึ่งทั้งหมดจะเกี่ยวข้องกับการพัฒนาคน
“อ.ส.ค.จึงได้เริ่มจากกระบวนการเพิ่มทักษะความรู้ (รีสกิล-อัพสกิล) ให้กับคนในองค์กรก่อน จากนั้นจะขยายสู่เกษตรกรในลำดับต่อไป จึงต้องอาศัยความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาซึ่งมีทฤษฎีความรู้ ไม่ว่าจะเป็น มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และล่าสุดคือมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) วิทยาเขตบางเขน ส่วนเราเป็นภาคปฏิบัติจึงต้องอาศัยภาคทฤษฎีมาเสริมแกร่งให้รอบด้าน”
สำหรับความร่วมมือกับ ม.เกษตรฯ ในครั้งนี้ คาดหวังให้เกิดความสำเร็จใน 5 ด้านคือ 1.การพัฒนาและจัดทำฐานข้อมูลเชิงกลยุทธ์ HR Innovation 4.0 ของ อ.ส.ค. ในการมุ่งสู่การเป็นนมแห่งชาติภายในปี 2564 2.การออกแบบและพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างสุขภาวะผ่านผลิตภัณฑ์และรูปแบบบริการบริการของ อ.ส.ค.ในอนาคต 3.การพัฒนาสถาบันการเรียนรู้ (Smart Academy) ให้เป็นระบบที่สอดคล้องกับนวัตกรรมสมัยใหม่
4.การจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมร่วมกับ ม.เกษตรศาสตร์และโรงพยาบาลในเครือกระทรวงสาธารณสุขและโรงเรียนแพทย์ และ 5.การพัฒนาต่อยอดและบูรณาการความร่วมมือด้านการเรียนการสอน การวิจัย การสร้างนวัตกรรมร่วมกับการทำธุรกิจยุคใหม่ เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการโครงการแล้วเบื้องต้น
“สำหรับการทบทวนแผนในปีงบประมาณ 2563 ยังคงให้ความสำคัญในการเดินหน้าขับเคลื่อนการเติบโตอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมโคนมครบวงจรของ อ.ส.ค. รวมทั้งผลักดันนมไทย-เดนมาร์คก้าวสู่นมแห่งชาติภายในปี 2564 ให้เป็นผลสำเร็จ พร้อมส่งต่อองค์ความรู้และสร้างความสุขแก่เกษตรกรโคนมไทย ด้วยการสรรค์สร้างนวัตกรรมตลอดห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรมโคนม”
กลยุทธ์เสริมศักยภาพบุคลากร
จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า คณะอุตสาหกรรมเกษตรมีประสบการณ์ในการบริหารการเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ โดยเฉพาะด้านอาหารและการเกษตร มีการวิจัยและพัฒนาอาหารทางเลือกที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น โยเกิร์ตโปรตีนสูงจากถั่วหรั่ง ธัญพืชอบกรอบในรูปแบบแท่งสอดไส้ครีมโยเกิร์ตผสมโพรไบโอติก
พร้อมทั้งความสามารถของคณาจารย์ในด้านการบริหารจัดการทุนมนุษย์ ขณะที่ อ.ส.ค. มีบุคลากรเกษียณอายุไปค่อนข้างมากและมีคนรุ่นใหม่เข้ามาแทนที่ จึงต้องหล่อหลอมให้ทราบทิศทางการดำเนินการขององค์กร รวมทั้งการวางเป้าหมายให้สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมและผลผลิตใหม่ๆ จึงต้องสร้างความร่วมมือผ่านหลักสูตรอบรมต่างๆ
หลักสูตรนี้มุ่งพัฒนาบุคลากร อ.ส.ค. ทั้งยังรวมไปถึงเกษตรกรที่เกี่ยวข้อง และหน่วยงานภาคี โดยเน้นการเรียนรู้ การทำเวิร์คช็อปด้านทักษะการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ โปรแกรมจัดโครงสร้างองค์กร กำหนดฟังก์ชั่นต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน
อีกทั้งการนำรูปแบบเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาเกี่ยวข้อง เพื่อเร่งศึกษาธุรกิจนมให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ และเมื่อบุคลากรเหล่านั้นมีความชำนาญ สามารถคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ ก็จะนำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมต่างๆได้เป็นอย่างดี ซึ่งก็จะทำให้องค์กรเจริญก้าวหน้า พร้อมทั้งเพิ่มศักยภาพผลิตภัณฑ์นมไทยให้สามารถส่งออกไปสู่ระดับนานาชาติได้”
ตั้งเป้ายอดขาย 1.1 หมื่นล้าน
ในปีที่ผ่านมา อ.ส.ค. ทำรายได้อยู่ที่ 1 หมื่นล้านบาท เพิ่มจากปี 2561 ที่ทำรายได้อยู่ที่ 9,560 ล้านบาท ส่วนปี 2563 วางเป้าหมายทำยอดขาย 11,130 ล้านบาท และเตรียมเพิ่มตัวแทนจำหน่ายในตลาดเมียนมา เตรียมเปิดตลาดในจีนและเวียดนาม โดยภายในปี 2564 ตั้งเป้ารายได้ไว้ที่ 1.2 หมื่นล้านบาท
ด้านการตลาด ทาง อ.ส.คเร่งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งในประเทศและรองรับตลาดต่างประเทศ ครอบคลุมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค ตลอดจนบริหารตัวแทนจำหน่าย การพัฒนาช่องทางจำหน่ายให้ง่ายต่อการเข้าถึงการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ประสิทธิภาพสูง การจำหน่ายผ่านตลาดออนไลน์ การสร้างนวัตกรรมเพื่อการบริการที่มีคุณค่าเหนือความคาดหมาย การเร่งวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ และเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ให้มากขึ้น
รวมถึงวางแผนยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรโคนมไทยให้มีความเข้มแข็ง อาชีพการเลี้ยงโคนมให้มีความมั่นคงและยั่งยืน ต่อยอดด้านผลิตภัณฑ์ที่ทรงคุณค่าและมีมาตรฐานสูง เพื่อพัฒนาเป็นคลังความรู้ด้านอุตสาหกรรมโคนมของประเทศไทยสืบทอดแก่คนไทยต่อไป