'เนคเทค' สานฝันเมืองแปดริ้ว 'มหานครผักปลอดภัยสูง'
ฉะเชิงเทรานำร่องใช้งานจริง “ระบบเกษตรอัจฉริยะ” (Handy Sense) ในพื้นที่เกษตรปลอดภัยสูงหรือผักปลอดภัย ผลงานการพัฒนาจาก “เนคเทค” เตรียมขยายสู่พื้นที่อื่นๆ ในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ควบคุมสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมแก่การเจริญเติบโตของพืช
พนิตา พงษ์ไพบูลย์ รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค กล่าวว่า เนคเทคได้รับจัดสรรงบประมาณ 76 ล้านบาทตามแผนงาน “บีซีจี ควิกวิน” ให้ติดตั้งระบบเกษตรอัจฉริยะ ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของบีซีจี โดยร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดฉะเชิงเทรา จัดทำโครงการติดตั้งระบบสมาร์ทฟาร์ม เพื่อยกระดับการเกษตรในพื้นที่ผ่านเครื่องมืออย่างชุดอิเล็กทรอนิกส์ควบคุมสภาพแวดล้อมในครัวเรือน ที่สามารถควบคุมตัวแปรสำคัญต่อการเจริญเติบโตของพืช ไม่ว่าจะเป็น วัสดุ การเพาะปลูก ให้น้ำ ให้ปุ๋ย ป้องกันโรคและแมลงศัตรู โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มผลผลิตผ่านการใช้ทรัพยากร น้ำ ปุ๋ย อย่างคุ้มค่า
ปรับภูมิทัศน์เกษตรไทย
เมื่อระบบการเกษตร เปลี่ยนผ่านสู่ยุคสมัยของ “เกษตรอัจฉริยะ” หรือ “สมาร์ทฟาร์ม” เพื่อรองรับการผลิตอาหารป้อนประชากรโลกที่จะเพิ่มขึ้นกว่า 9.7 พันล้านคน และมีความต้องการอาหารเพิ่มขึ้นถึง 60% ด้วยเหตุผลดังกล่าวเกษตรกรและบุคลากรทางการเกษตรจึงให้ความสำคัญกับการทำฟาร์มที่มีความแม่นยำสูง โดยเน้นการทำเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า โดยเฉพาะการสร้างระบบการเพาะปลูกที่สามารถควบคุมตัวแปรสำคัญที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของพืชผ่านการนำเทคโนโลยีเซ็นเซอร์เข้ามาช่วยในกระบวนการเพาะปลูก
นริชพันธ์ เป็นผลดี ผู้ช่วยวิจัยอาวุโส เนคเทค กล่าวว่า ไทยนำเข้าเทคโนโลยีเซ็นเซอร์จากต่างประเทศ ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อใช้กับงานที่มีสภาวะแวดล้อมคงที่เป็นหลัก เช่น โรงงานอุตสาหกรรม เมื่อนำมาใช้งานด้านการเกษตรที่มีสภาวะแวดล้อมเปลี่ยนแปลงตลอด จึงใช้งานได้ไม่นาน แต่ด้วยความชื่นชอบเรื่องของการทำเกษตร ประกอบกับตำแหน่ง “นักวิจัย” ที่ต้องคิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ เมื่อได้รับโจทย์ “พัฒนาเทคโนโลยีเซ็นเซอร์สำหรับการทำเกษตร”
จึงได้คิดค้น ทดลองและพัฒนาออกมาเป็น “แฮนดี้เซ้นส์” (Handy Sense) โดยตัวชุดอิเล็กทรอนิกส์เบื้องหลังใช้คลาวน์ของเน็ตพายในการรับส่งข้อมูลกับแอพพลิเคชั่น สำหรับระบบเกษตรอัจฉริยะที่พัฒนาเพื่อการทำเกษตรโดยเฉพาะ สอดคล้องกับการใช้งานจริงของประเทศไทยที่มีสภาพอากาศแปรปรวน โดยทำหน้าที่วัด แจ้งเตือน และควบคุมสภาวะที่เหมาะสมสำหรับพืชแต่ละชนิด
“แฮนดี้เซ้นส์” เป็นการใช้เซ็นเซอร์รวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์สภาพแวดล้อม ที่มีผลสำคัญต่อการเจริญเติบโตของพืช เริ่มตั้งแต่กระบวนการปลูกจนกระทั่งเก็บเกี่ยว ประกอบไปด้วย เซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิ ความชื้นในอากาศ ปริมาณแสง ปริมาณการให้น้ำ ค่าความเป็นกรดด่าง ค่าความขุ่น ปริมาณออกซิเจน โดยนำข้อมูลมากำหนดตัวแปรสำหรับควบคุมสภาวะแวดล้อม เพื่อให้สามารถควบคุมคุณภาพ ประเมินปริมาณผลผลิต เพิ่มคุณค่าผลผลิต รวมทั้ง ลดต้นทุนการผลิต
เพราะฉะนั้น เกษตรกรสามารถดำเนินการควบคุมได้ทั้งหมด และตัวแปรที่ได้นั้นก็จะมีความสม่ำเสมอในการจัดการทำเกษตรกรผลผลิตที่ได้จะเป็นผลผลิตที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งสามารถติดตั้งได้ทั้งระบบปิด-เปิด และเมื่อค่าต่างๆ สูงหรือต่ำกว่าค่าที่กำหนดไว้ ระบบจะทำงานปรับสภาพในโรงเรือนโดยอัตโนมัติ พร้อมทั้งแจ้งเตือนไปยังเกษตรกรผ่านสมาร์ทโฟน
“การใช้งานแฮนดี้เซ้นส์ไม่ยุ่งยาก เราออกแบบอุปกรณ์และแอพพลิเคชั่นให้เหมาะสมกับการใช้งานของเกษตรกร สามารถรับส่งข้อมูล แจ้งเตือนและสั่งการผ่านแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน หรือคอมพิวเตอร์ได้ ปัจจุบันระบบได้ใส่ค่าอุณหภูมิ ความชื้นในอากาศ ความชื้นในดิน และแสงของพืชไว้หลายชนิด เช่น ข้าว เมล่อน มะเขือเทศ ผักสลัด เห็ด ไผ่ มะม่วง มะพร้าว ขนุน สามารถเพิ่มชนิดของพืชและป้อนข้อมูลต่างๆ
ตัวอย่างเช่น ผักสลัดอุณหภูมิที่เหมาะสมคือ 25-28 องศาเซลเซียส หากอุณหภูมิในโรงเรือนสูงเกินไป ระบบก็จะสั่งการให้ระบบรดน้ำอัตโนมัติเพื่อทำให้อากาศเย็นลง ซึ่งจากการนำร่องใช้ในพื้นที่การเกษตรของเกษตรกรฟาร์มปลูกผักปลอดภัยสูง และฟาร์มสมายเลม่อน พบว่า สามารถเพิ่มผลผลิตได้ถึง 20%
สิ่งที่จะพัฒนาเพิ่มในอนาคตคือ 1.การเปิดให้เป็นโอเพ่นฮาร์ดแวร์ 2.จัดทำไกด์ไลน์หรือคู่มือที่อุปกรณ์สมาร์ทฟาร์มพึงต้องมี และ 3.พัฒนาความทนทานของอุปกรณ์ ที่จะต้องผ่านกระบวนการทดสอบเพิ่มมากขึ้น เพื่อประสิทธิภาพในการใช้งานของเกษตรกร
กำจัดจุดอ่อนดันผลผลิตโต 20%
ด้านจิตรกร เผด็จศึก ประธานสหกรณ์พืชผักผลไม้(เกษตรปลอดภัยสูง) จ.ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า เดิมมีที่ดินอยู่ 45 ไร่ ซึ่งเป็นบ่อกุ้งเก่าไม่ใช้ประโยชน์ เนื่องจากเป็นดินเค็มต่อมาสามารถปรุงดินให้เหมาะกับการปลูกผักได้ จึงตัดสินใจปลูกพืชหมุนเวียนในระบบโรงเรือนแบบปิดไม่พึ่งสารเคมี 31 โรงเรือน เช่น คะน้า กวางตุ้ง ผักกาดขาว เมล่อน แต่การดูแลยังใช้วิธีดั้งเดิม เช่น รดน้ำด้วยสายยาง ทำให้ปริมาณน้ำที่จ่ายออกไปนั้นไม่สม่ำเสมอ ส่งผลพืชเกิดเชื้อรา
จึงประสานงานกับสำนักงานเกษตรจังหวัดฉะเชิงเทรา และนำเทคโนโลยีของเนคเทคมาทดลองใช้ 1 โรงเรือน พบว่าผลผลิตเพิ่มขึ้น 20% ผักมีรสชาติดีขึ้น จากเดิมมีรายได้ต่อการปลูกปัก 1 โรงเรือนอยู่ที่ 5 พันบาท เมื่อนำระบบเกษตรอัจฉริยะมาใช้รายได้เพิ่มเป็น 6-7 พันบาท ลดแรงงานคน ลดการใช้น้ำลงถึง 10%
“สิ่งที่เกษตรกรต้องเตรียมพร้อมก่อนติดตั้งระบบเกษตรอัจฉริยะคือ 1.ต้องมีระบบอินเทอร์เน็ต 2.ไฟฟ้า หรือแบตเตอรี่ 3.อุปกรณ์ควบคุมต่างๆ อาทิ วาวล์ไฟฟ้า และ 4.ทักษะเบื้องต้นในการใช้แอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน ทั้งนี้ ในอนาคตจะขยายการติดตั้งระบบให้ครบทั้ง 31 โรงเรือน รวมถึงตั้งเป้าขยายองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรกว่า 100 กว่าครัวเรือนทั่วทั้ง จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อปูทางก้าวสู่การเป็น “มหานครแหล่งเกษตรปลอดภัยสูง” ในอนาคต” จิตรกร กล่าว