‘เอคเซนเชอร์’ เปิด วิชั่นเทคโนโลยี ชี้ไทยตื่นตัวสูง ‘ปฏิวัติดิจิทัล’
ไม่มีใครหนีพ้นผลกระทบของดิจิทัล
สู่ยุคใหม่การใช้ ’เอไอ’
การสำรวจพบว่า 87% ของผู้บริโภคชาวไทยเชื่อว่า การจะแข่งขันได้ในโลกหลังยุคดิจิทัล องค์กรจำเป็นต้องยกระดับความสัมพันธ์ที่มีกับลูกค้าให้กลายเป็นพันธมิตรที่มาร่วมมือกัน 85% เห็นด้วยว่าองค์กรจำเป็นต้องปรับโครงสร้างประสบการณ์ใหม่หมด เชื่อมโยงเทคโนโลยีและคนเข้าด้วยกัน โดยเน้นคนเป็นศูนย์กลางมากขึ้น
สำหรับแนวโน้มด้านเทคโนโลยีที่จะเข้ามามีบทบาทต่อธุรกิจช่วง 3 ปีข้างหน้า ปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ จะเป็นปัจจัยที่มีบทบาทต่อการทำงาน ไม่ใช่เพียงส่วนสนับสนุนระบบอัตโนมัติ ขณะนี้องค์กรชั้นนำต่างนำเอไอมาใช้ปรับเปลี่ยนเนื้องานไม่ใช่แค่ปรับวิธีการทำงาน ปัจจุบัน 77% ขององค์กรในไทยได้นำร่องในการใช้เอไอหรือปรับใช้ในองค์กรแล้ว
ที่น่าสนใจ 95% ของผู้บริหารชาวไทยยอมรับว่า การทำงานประสานกันระหว่างคนและเครื่องจักรจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนานวัตกรรมในอนาคต
โดย 25% ขององค์กรในไทย ระบุว่า กำลังเตรียมให้พนักงานมีความพร้อมในการทำงานประสานกับระบบเอไอ โดยต้องมีปฏิสัมพันธ์และอธิบายเหตุผลในการทำงานได้
‘5จี’ตัวจักรหนุนโรโบติกส์
เอคเซนเชอร์เผยว่า 80% ของผู้บริโภคชาวไทย เชื่อว่าเทคโนโลยีหุ่นยนต์จะทำให้บริการในยุคหน้าเกิดขึ้นและนำมาใช้จริง 60% คาดว่าองค์กรจะใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ในสภาพแวดล้อมที่ควบคุมไม่ได้ในช่วงสองปีข้างหน้า ผู้บริหาร 50% กล่าวว่าพนักงานของพวกเขาจะประสบความท้าทายให้คิดหาทางทำงานร่วมกับหุ่นยนต์ อีก 50% เชื่อว่าพนักงานจะทำงานร่วมกันได้อย่างง่ายดาย
“เทคโนโลยีหุ่นยนต์หรือ จะไม่ได้อยู่แค่ในคลังสินค้าหรือในสายการผลิตอีกต่อไป ด้วย 5จี จะยิ่งทำให้เกิดการเติบโตที่รวดเร็วและยิ่งรุดหน้ามากขึ้น”
อีกเทรนด์ที่ส่งผลกระทบ พบว่าดีเอ็นเอเพื่อการสร้างสรรค์ (Innovation DNA) จะสร้างกลไกขับเคลื่อนนวัตกรรมใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย 90% ระบุว่า พัฒนาการที่รวดเร็วของเทคโนโลยีใหม่ๆ และนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์จะเข้ามาดิสรัปอุตสาหกรรมของพวกเขา
ทั้งนี้ 82% เชื่อว่านวัตกรรมยุคถัดไปจะขับเคลื่อนด้วยการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ ที่มุ่งสร้างความยั่งยืนในการพัฒนา การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พลังงาน การแก้ปัญหาด้านสุขภาพและคุณภาพชีวิต อาหารและน้ำ
แนะปรับโมเดล-เปลี่ยนกรอบแนวคิด
จากการสำรวจผู้บริโภค 2 พันคนทั่วโลก พบด้วยว่าผู้บริโภค 70% คาดว่าความสัมพันธ์ของมนุษย์กับเทคโนโลยีจะยิ่งทวีความเข้มข้นและเด่นชัดมากขึ้นในช่วง 3 ปีข้างหน้า ทุกวันนี้เริ่มได้เห็นภาวะความขัดแย้งด้านเทคโนโลยีที่เป็นผลมาจากแรงกดดันระหว่างความคาดหวังของผู้บริโภค ศักยภาพของเทคโนโลยี และเป้าหมายของธุรกิจ ซึ่งทำให้เกิดจุดเปลี่ยนสำคัญของภาวะผู้นำ ที่จำเป็นต้องเปลี่ยนกรอบแนวคิดจากการสร้างประสบการณ์ดิจิทัลเพียงเพราะ ”เราทำได้” เป็น “ทำอย่างไรให้น่าเชื่อมั่นและเชื่อถือ” แทน
ที่ผ่านมา ด้วยความเชื่อมั่นในศักยภาพของเทคโนโลยี หลายๆ องค์กรสร้างผลิตภัณฑ์และบริการด้านดิจิทัลขึ้นมา เพียงเพราะมีความสามารถที่จะทำได้ แต่ไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อมนุษย์ องค์กรและสังคมเท่าที่ควร มากกว่านั้นการใช้โมเดลเดิมๆ อาจมีความเสี่ยงในการไปรบกวนลูกค้าหรือทำให้พนักงานไม่อยากมีส่วนร่วม และอาจส่งผลไปถึงการจำกัดศักยภาพขององค์กรในการสร้างสรรค์นวัตกรรมและการเติบโตในอนาคต
โดยภาพรวมของการสำรวจจะพบได้ว่า ค่าเฉลี่ยในประเทศไทยสูงกว่าตัวเลขทั่วโลกในแทบทุกมิติ เหตุผลสำคัญมาจากการที่ผู้บริโภคชาวไทยมีความพร้อมและเปิดรับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ดังนั้นสำหรับภาคธุรกิจใครก็ตามที่ไม่เร่งปรับตัวหรือปรับตัวไม่ทัน ย่อมมีผลต่อการเติบโตของธุรกิจ และอาจถูกทิ้งไว้ข้างหลังได้อย่างรวดเร็ว
สำหรับผลพวงการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด-19 แม้จะเกิดผลเสียต่อธุรกิจ เศรษฐกิจ แต่บางมุมได้ส่งผลดีเช่น การทำงานรูปแบบเวอร์ชวล การใช้งานวีดิโอคอนเฟอเรนซ์ เกิดแนวคิดใหม่ๆ ของการใช้งานไอที ผลักดันการเติบโตแพลตฟอร์มการทำงานร่วมกัน การแชร์ข้อมูลระหว่างกันบนคลาวด์ ทำให้ผู้คนรู้สึกว่าการลงทุนเพื่อใช้งานเทคโนโลยี รวมถึงอินฟราสตรักเจอร์ไอทีมีความสำคัญและทำให้การทำงานเป็นไปอย่างต่อเนื่อง