สกสว.ผนึก 58 หน่วยงานประกาศเริ่มแผน 'งบวิจัยใหม่'
สกสว.จับมือ 58 หน่วยงานริเริ่มระบบงบวิจัยรูปแบบใหม่ 4,170 ล้านบาท เดินหน้าสร้างนวัตกรรมเพิ่มศักยภาพการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนและเศรษฐกิจฐานราก ด้าน มทร.พระนครได้รับจัดสรรเกือบ 30 ล้านบาทมุ่งวิจัยพัฒนาเชิงพื้นที่ ลดความเหลื่อมล้ำ
ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เปิดเผยว่า หน่วยงานด้านการวิจัย 58 แห่งทั้งในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และหน่วยงานนอก อว.ประกาศความร่วมมือเริ่มต้นการทำงานของ “ระบบงบประมาณวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.)” ให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม
ทั้งนี้ คณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ กสว. ได้พิจารณาอนุมัติให้ สกสว. จัดสรรงบประมาณวิจัยแผนงานปกติ (Non- Flagship Program) 12,555 ล้านบาท ประจำปีงบประมาณ 2563 ไปยัง หน่วยงานส่วนอุดมศึกษา ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏ 36 แห่ง มหาวิทยาลัยของรัฐ 7 แห่ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 9 แห่ง และสถาบันวิทยาลัยชุมชน 1 แห่ง
ส่วนหน่วยบริหารจัดการทุน ได้แก่ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. และหน่วยงานส่วนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้แก่ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ สอวช. และหน่วยงานภาคีเครือข่าย รวมทั้งสิ้น 58 หน่วยงาน เป็นจำนวนเงิน 4,170.78 ล้านบาท ส่วนงบประมาณอีกกว่า 8 พันล้านบาท จะจัดสรรในอีกรูปแบบหนึ่งโดยส่งตรงไปที่หน่วยงานบริหารจัดการทุนวิจัย (พีเอ็มยู) 7 หน่วยงาน
“การจัดสรรงบประมาณในครั้งนี้ 4,170.78 ล้านบาท จะมีการติดตามผลทุก 90 วัน เพื่อให้การทำงานนั้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะมีระบบติดตามประเมินผล ตลอดจนระบบติดตามการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์อย่างครบวงผ่านระบบไอทีกลาง คาดว่าสามารถสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมให้กับประเทศสูงถึง 30%” ศ.นพ.สุทธิพันธ์ กล่าว
ขณะเดียวกัน รัฐบาลได้ให้กรอบการปรับเปลี่ยนได้ในอัตรา 10% ในการจัดสรรงบประมาณที่ได้มากับโครงการเร่งด่วนเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาสถานการณ์โควิด-19 หรือแม้แต่ปรับการทำงานของโครงการบางส่วนให้เข้ากับสภาวะเศรษฐกิจ โดยจะเริ่มกระจายงบประมาณสู่หน่วยงานต่างๆ ภายในวันที่ 17 มี.ค.นี้
ด้าน รศ.สุภัทรา โกไศยกานนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) พระนคร กล่าวว่า มหาวิทยาลัยฯ ดำเนินงานด้วยการวิจัยเชิงพื้นที่ในส่วนของภาคกลางตอนล่างอย่างต่อเนื่อง โดยการส่งเสริมโครงการต่างๆ อาทิ การวิจัยขนมหวานเพื่อสุขภาพ จ.เพชรบุรี ซึ่งเป็นการบูรณาการความรู้หลากหลายสาขา ทำให้ผู้ประกอบการในชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น 10-15%
ส่วนงบประมาณกองทุน ววน.ที่ได้รับจัดสรรมานี้ จะจัดทำโปรแกรมตามแผนผ่าน 4 แพลตฟอร์ม 8 โครงการ ภายใต้งบประมาณ 29.9 ล้านบาท อาทิ การสร้างอัตลักษณ์สู่การออกแบบบรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์จากบริบทวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่ถือเป็นนวัตกรรมสำหรับเศรษฐกิจฐานรากและชุมชนนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ อีกทั้งในปีนี้จะมีดำเนินงานส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง เช่น ราชบุรี สมุทรสาคร จึงถือได้ว่าการทำวิจัยในปีนี้จะลงลึกถึงชุมชนเพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำอย่างแท้จริง