Plant Factory โรงปลูกผักอัจฉริยะ ธุรกิจแห่งอนาคตอาเซียน

Plant Factory โรงปลูกผักอัจฉริยะ ธุรกิจแห่งอนาคตอาเซียน

วิศวกรไอทีผันตัวเองมาเป็นเกษตรกร ปลูกผักด้วยเทคโนโลยี Plant Factory โรงปลูกผักระบบปิด 100% เรียนรู้จากอินเทอร์เน็ตและเครือข่ายสตาร์ทอัพทั่วโลก ที่แชร์ความรู้แบบไม่ 'กั๊ก' ในแบบ open innovation ที่ทำให้ธุรกิจรายหลายประสบความสำเร็จมาแล้ว

โรงเรือนปลูกผักระบบปิด 100% ของ “วังรี เฮลท์ แฟคตอรี่” ได้รับคัดเลือกจากสมาคมเอสเอ็มอีอาเซียนในญี่ปุ่น ให้เป็น “ธุรกิจที่เป็นอนาคตของอาเซียน” และถ่ายทอดเรื่องราวความสำเร็จทางธุรกิจในหนังสือ Future of ASEAN 50 Success Story ร่วมกับธุรกิจสาขาอื่นๆ รวม 50 ราย ทั้งยังเป็น 1 ใน 3 ผู้ประกอบการไทยที่มีโอกาสร่วมงานจับคู่การลงทุนกับนักธุรกิจเกาหลี โดยการพิจารณาคัดเลือกของกระทรวงแห่งกิจการสตาร์ทอัพและเอสเอ็มอีของเกาหลี

158436852851

Plant Factory หรือการปลูกพืชในระบบปิด เป็นการนำนวัตกรรมมาผสมผสานกับเทคโนโลยีการเกษตร เพื่อที่จะแก้ปัญหาต่างๆ และพัฒนาระบบเกษตรกรรมให้มีคุณภาพสูงขึ้นในเชิงปริมาณและคุณภาพ เพราะสามารถควบคุมปัจจัยการผลิตเรื่อง น้ำ อากาศและความชื้นในปริมาณที่เหมาะสม ทำให้ประหยัด ทรัพยากรทางธรรมชาติและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผลผลิตที่ได้มีความแน่นอนในเชิงปริมาณในแต่ละรอบปลูกสูงถึง 95% ทั้งยังปราศจากสารเคมีอันตราย

นอกจากนี้ยังสามารถนำเทคโนโลยีสมาร์ทฟาร์ม มาปรับใช้เพื่อลดขนาดพื้นที่เพาะปลูก ซึ่งสามารถกระจายเข้าสู่ชุมชนได้ทุกพื้นที่โดยไม่มีข้อจำกัด ช่วยลดค่าขนส่ง รักษาคุณภาพของผลผลิตให้มีความสดใหม่ ลดปัญหาแรงงานและความเสียหายของผลผลิต ขณะเดียวกันยังมีการจัดเก็บข้อมูลกายภาพของพืชและข้อมูลผู้บริโภคในรูปแบบบิ๊กดาต้า เพื่อนำมาพัฒนาการปลูกโดยการใช้ข้อมูลที่จัดเก็บที่เที่ยงตรงแม่นยำมากขึ้นด้วย

เริ่มธุรกิจจากโจทย์วิจัย

กฤษณะ ธรรมวิมล ซีอีโอบริษัท วังรี เฮลท์ แฟคตอรี่ จำกัด ในเครือวังรี รีสอร์ท จ.นครนายก ผันตัวเองจากผู้ประกอบการไอทีคอมพิวเตอร์ใน จ.เชียงใหม่ มาเป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ได้ประมาณ 5 ปี เริ่มจากการมีโอกาสได้เรียนหลักสูตรพิเศษสำหรับผู้บริหาร จัดโดยอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ ที่กำหนดโจทย์โครงงานวิจัยให้นำวิชาชีพของตนเองมาผนวกกับสาขาเศรษฐกิจอันดับ 1 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (จีพีพี) ซึ่งก็คือด้านการเกษตร อีกทั้งได้รับการชี้แนะจากผู้ใหญ่ในหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่

เมื่อนำเสนอแนวคิดโครงการให้กับทางหลักสูตร ปรากฏว่า ทางกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ในอดีต) ได้สนับสนุนทุนวิจัยให้ดำเนินโครงการต่อ จึงตัดสินใจตั้งธุรกิจสตาร์ทอัพและอาศัยการเสิร์ชข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต พร้อมทั้งเข้าร่วมเครือข่ายสตาร์ทอัพด้านการเกษตรในต่างประเทศ ซึ่งสมาชิกมีทั้ง ไต้หวัน เกาหลี ยุโรป ที่ให้ความช่วยเหลือในรูปแบบ open innovation ถือว่ากว่า 90% ของข้อมูลความรู้ในเทคโนโลยีนี้มาจากอินเทอร์เน็ต ประกอบกับมีพื้นฐานด้านวิศวกรรมศาสตร์จึงสามารถประกอบโรงเรือนและระบบอัตโนมัติได้โดยต้นทุนไม่สูงมาก

158436855466

“ผมใช้เวลาทดลองวิจัยอีก 3 ปี เช่น ซื้อหลอดไฟหลากหลายชนิดและสีมาทดลองปลูกพืชแต่ละชนิดรวมประมาณ 50 ชนิด ส่วนใหญ่จะเป็นไม้ใบ ส่วนไม้ผลก็จะเป็นชนิดที่ไม่มีความซับซ้อนในการเจริญเติบโต เช่น มะเขือเทศ แล้วจดบันทึกการเจริญเติบโตของพืช กระทั่งสามารถปลูกได้ในราคาต้นทุนไม่ต่างจากผักออร์แกนิคทั่วไป แต่เมื่อตัดสินใจจะลงทุนทำเป็นธุรกิจพบว่า ขนาดตลาดในเชียงใหม่ไม่ใหญ่มาก และการปลูกผักในลักษณะเช่นนี้น่าจะอยู่ในพื้นที่ประชากรหนาแน่น จึงตัดสินใจมาลงทุนทำที่กรุงเทพฯ โดยวังรีรีสอร์ทให้การสนับสนุนพื้นที่และงบประมาณ”

นอกจากนี้ยังได้จัดทำหลักสูตรถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับเกษตรกรและผู้สนใจทั่วไป โดยร่วมกับ NSTDA Academy ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็นสถาบันพัฒนาบุคลากรเพื่ออนาคต สวทช. มีผู้มาเรียนด้วยแล้วประมาณ 100 คน ซึ่งบางส่วนเริ่มสร้างเป็นธุรกิจ

“ผู้ที่จะมาทำด้าน Plant Factory ต้องมีทักษะหลัก 3 ด้านคือ วิศวกรรม การเกษตรและงานศิลปะ ซึ่งการปลูกพืชเป็นงานศิลปะชนิดหนึ่งที่ต้องการการเอาใจใส่และสังเกตในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้น เราต้องอยู่กับมันจนมองออกถึง คาแรคเตอร์หรือสรีรวิทยาของผัก ฉะนั้น เวลาจะสร้างคนขึ้นมาจึงต้องมีองค์ประกอบเหล่านี้ด้วย 

จึงเป็นเรื่องไม่ง่าย แต่ก็ไม่ยากเพราะสามารถเรียนรู้ได้ ยกตัวอย่างตัวผมเองไม่รู้เรื่องเกษตรก็ขวนขวาย ส่วนเรื่องศิลปะก็ใช้วิธีการคลุกคลีเป็นเวลานานแล้วก็จะเข้าใจ เช่น เฉดสีของผักที่เพี้ยนไปนิดเดียวก็สามารถรู้ได้ ขณะที่คนอื่นจะไม่เห็นความแตกต่างนั้น นี่คือความเป็นศิลปะ ถ้าทำจริงก็จะไม่รู้เรื่องพวกนี้ ผมจึงต้องฝึกคนขึ้นมา พยายามที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้ซึ่งเป็นเรื่องใหม่มาก”

วิจัยปลูกผักรับเทรนด์ฟังก์ชั่นนัลฟู้ด

“เมื่อประเมินการพัฒนาเทคโนโลยีของไทยกับต่างประเทศแล้วแทบจะไม่แตกต่างกันด้าน productivity (ผลิตภาพ) แต่ต้นทุนไทยถูกกว่าทั้งค่าแรง ค่าวัสดุอย่างรางปลูก ค่าที่ดิน โดย ญี่ปุ่นต้นทุนโรงเรือนประมาณ 30,000 ดอลลาร์ต่อตารางเมตร แต่ของผมแค่ 1,000 ดอลลาร์ต่อตารางเมตร บ้านเรากลัวในเรื่องของการก๊อปปี้ แต่ผมคิดว่าการที่จะปลูกผักให้คนไทยได้กินแบบปลอดภัย 100% ทั้งประเทศ ต้องใช้คนปลูกเป็นล้านคนแค่คิดว่าจะสอนคนล้านคนก็เป็นเรื่องยากและเป็นไปไม่ได้ ขณะเดียวกันการแบ่งปันความรู้ให้กับทุกคน ก็ทำให้มีความสุขและมีรายได้ตามมา”

เมื่อมีความพร้อมด้านเทคโนโลยีแล้วก็มาถึงการทำโมเดลทางธุรกิจ วังรีเฮลท์ฯ มีกำลังการผลิตประมาณวันละ 100 กิโลกรัม เป็นการปลูกตามออเดอร์ และมีอีกส่วนหนึ่งที่ปลูกเพื่อการศึกษาวิจัย ประกอบกับข้อมูลขององค์การอนามัยโลกที่แนะนำให้บริโภคผักผลไม้อย่างน้อยวันละ 400 กรัม จึงนำมาเป็นข้อมูลการจัดทำบรรจุภัณฑ์ขนาดน้ำหนักดังกล่าวส่งให้ลูกค้า เพื่อที่จะรับประทานผักสดที่สะอาด ปลอดภัย มีคุณค่า ได้ตามที่องค์การอนามัยโลกแนะนำทันที ส่วนบรรจุภัณฑ์ก็ใช้วัสดุพิเศษสามารถกักเก็บสารอาหารได้นาน ฉะนั้น วิธีการบรรจุจึงมีขั้นตอนที่แตกต่างและรายละเอียดมาก โดยเทคโนโลยีก็ได้มาจากคอนเนคชั่นในกลุ่มสตาร์ทอัพ

158436858530

“กลุ่มเครือข่ายสตาร์ทอัพสำคัญอย่างมาก เราแชร์ข้อมูลกันอย่างเป็นพี่เป็นน้อง เช่น เนเธอร์แลนด์อยากปลูกผักบุ้ง ซึ่งแพงมาก เราก็สอนให้ปลูกผักบุ้ง เป็นการแลกเปลี่ยนกัน หรือแม้กระทั่งตอนนี้ภาครัฐกำลังบูมเรื่องกัญชา ผมก็ได้โอกาสเข้าไปช่วยวิจัยเรื่องการปลูกกัญชาในระบบปิดที่เป็น medical grade เพราะฉะนั้น จึงไม่ใช่แค่เรื่องผักแต่ยังรวมถึงสมุนไพรและในอนาคตผมจะผลิตสมุนไพรทางการแพทย์ด้วย ทั้งยังสนใจจะปลูกผักสำหรับกลุ่มฟังก์ชั่นนัลฟู้ด เช่น ผักโปแตสเซียมต่ำสำหรับผู้ป่วยโรคไต ผักที่มีน้ำตาลมากเพื่อให้มีรสชาติหวานกรอบสำหรับเด็กซึ่งมีปัญหาไม่กินผัก ผักไฟเบอร์สูงเพื่อการดีท็อกซ์"

ส่วนในปีนี้จะลงทุนทำ Plant Factory  14 แห่งกระจายทั่วกรุงเทพฯ จะเริ่มแถวบางบอนซึ่งมีหมู่บ้านจัดสรรจำนวนมาก โดยจะทำเป็นเอาต์เล็ตให้มาดูงานและชอปปิง แต่โดยหลักแล้วจะผลิตตามพรีออเดอร์ ผักที่ปลูกจะเป็นกลุ่มผักสลัดทั่วไปรวมถึงผักไทยอย่างคะน้า กวางตุ้ง คาดว่าผลผลิตล็อตแรกจะออกมาราวเดือน พ.ค.นี้ ส่วนในอนาคตจะเป็นขนาด 40 ตารางวา กระจายให้ได้ 50-60 จุดทั่วกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นตลาดใหญ่และที่สำคัญคือประชากรเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ต่างจังหวัดอาจจะลงทุนทำในส่วนของหัวเมืองใหญ่ๆ เท่านั้น