วช.หนุนสร้างมาตรฐานเครื่องวัดฝุ่นพีเอ็มฝีมือไทย

วช.หนุนสร้างมาตรฐานเครื่องวัดฝุ่นพีเอ็มฝีมือไทย

วช. ร่วมกับ หน่วยงานภาครัฐ ผนึกกำลังสร้างมาตรฐานเครื่องตรวจวัดฝุ่นพีเอ็ม 2.5 แบบ Low Cost Sensor ที่เป็นผลงานสิ่งประดิษฐ์จากมหาวิทยาลัยทั้ง ม.เชียงใหม่ ม.สงขลาฯ และ มทร.ล้านนา เพื่อให้ค่าฝุ่นที่รายงานมีความน่าเชื่อถือ เป็นที่ยอมรับร่วมกัน

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) และสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) เร่งสร้างมาตรฐานเครื่องตรวจวัดฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (พีเอ็ม 2.5) แบบ Low Cost Sensor จากงานวิจัย เพื่อให้ค่าฝุ่นพีเอ็ม 2.5 รายงานผลมีค่ามาตรฐานน่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับร่วมกัน สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนในการรับทราบสถานการณ์ฝุ่นในพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ซึ่งมีประชากรกลุ่มเสี่ยงอยู่หนาแน่น

158454200239

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาได้เริ่มดำเนินการตรวจวัดเทียบ ระหว่างเครื่องตรวจวัดฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอนแบบ Low Cost Sensor จากงานวิจัย กับ เครื่องตรวจวัดฝุ่นละอองพีเอ็ม 2.5 อ้างอิง (Reference Monitor) ของ มว. และเครื่องวัดค่าฝุ่นละอองพีเอ็ม 2.5 เทคนิคการกระเจิงของแสง (Light Scattering) ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานจากองค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งประเทศสหรัฐอเมริกาหรือ US EPA ของ คพ. ณ สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศในบรรยากาศ จ.อุบลราชธานี

วช.ขับเคลื่อนการสร้างมาตรฐานเครื่องตรวจวัดฝุ่น Low Cost Sensor โดยการตรวจวัดเทียบครั้งนี้ เป็นงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (Dust Boy) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (AeroSURE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (Air Envir) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เน้นการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการแสดงค่าฝุ่นพีเอ็ม 2.5ของแต่ละเครื่องตรวจในแต่ละเทคนิค เพื่อให้ค่าฝุ่นที่รายงานมีความน่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับร่วมกัน

158454201791

เครื่องวัดปริมาณมวลฝุ่นละอองที่พัฒนาขึ้นในมหาวิทยาลัยนี้ ใช้หลักการวัดกระแสไฟฟ้าสถิตของอนุภาคผ่านตัวกรองฝุ่นละอองประสิทธิภาพสูง สามารถตรวจวัดและเก็บตัวอย่างฝุ่นละอองในอากาศทั้งพีเอ็ม 10 และพีเอ็ม 2.5 ได้อย่างรวดเร็ว ใช้เวลาในการประมวลผลเร็วถึง 0.1 วินาที มีการรายงานผลการวัดแบบเรียลไทม์ผ่านเว็บไซต์ https://app.nrct.go.th หรือ ติดตามข้อมูลจาก https://pm2_5.nrct.go.th ข้อมูลในการตรวจวัดค่าพีเอ็ม 2.5 และ พีเอ็ม 10 ยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในโมเดลคำนวณหรือพยากรณ์คาดการณ์ปริมาณและการเคลื่อนที่เชิงพฤติกรรมของฝุ่นแบบใกล้เรียลไทม์ในอนาคตได้ด้วย

การรับรองมาตรฐานเครื่องตรวจวัดฝุ่นฯ เป็นอีกหนึ่งเป้าหมายที่สำคัญในการสร้างฐานข้อมูลบิ๊กดาต้า เพื่อคาดการณ์การเกิดค่าฝุ่นพีเอ็ม 2.5 เกินมาตรฐาน เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนในแต่ละพื้นที่ พร้อมรับมือกับสถานการณ์ค่าฝุ่นจิ๋วในอนาคต ประชาชนทราบค่าสถานการณ์ฝุ่นที่มีมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งการดำเนินการเรื่องนี้จะช่วยเสริมความเข้มแข็งให้งานวิจัยที่พัฒนาขึ้นภายในประเทศ งานวิจัยที่ต่อยอดนำองค์ความรู้ของคนไทยสู่การสร้างสิ่งประดิษฐ์ และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในมิติต่าง ๆ ได้อย่างเป็นรูปธรรม

158454204294