‘ดิจิทัล’ ดันธุรกิจปรับ ‘กรอบคิด’ รับ ‘แนวโน้มใหม่’
ปัจจุบัน องค์กรล้วนแล้วแต่เล็งเห็นความสำคัญของการเติบโตอย่างยั่งยืน
กรอบแนวคิดที่เปลี่ยนไปเหล่านี้มีปัจจัยเร่งคือเทคโนโลยีดิจิทัล ได้ผลักดันให้ผู้นำองค์กรต่าง ๆ ต้องหันกลับไปทบทวนหลักการพื้นฐานที่องค์กรของตนยึดถือร่วมกันเสียใหม่
รายงานชี้ว่า ปัจจัยด้านเศรษฐกิจกับการเมือง แนวคิดแบบทุนนิยมกับทรัพยากรโลก ตลอดจนเทคโนโลยีกับสังคม ล้วนแล้วแต่เกี่ยวพันใกล้ชิดอย่างแยกไม่ออกและมีผลเกี่ยวเนื่องซึ่งกันและกัน และในตอนนี้ สังคมปัจจุบันเริ่มตระหนักและให้ความสำคัญกับประเด็นนี้แล้ว
“ปัจจุบัน องค์กรล้วนแล้วแต่เล็งเห็นความสำคัญของการเติบโตอย่างยั่งยืน”
“นนทวัฒน์ พุ่มชูศรี” กรรมการผู้จัดการ เอคเซนเชอร์ ประเทศไทย กล่าวพร้อมเสริมว่า “ค่านิยมเช่นนี้ จะเปลี่ยนมุมมองและตัวชี้วัดความสำเร็จและการเติบโตของธุรกิจในทศวรรษหน้าอย่างมีนัยยะสำคัญ แต่สิ่งหนึ่งที่จะเห็นได้อย่างชัดเจนคือ ผู้ชนะจะเป็นองค์กรที่มีโมเดลธุรกิจที่ยั่งยืน และมีวิสัยทัศน์ยาวไกล มองเห็นภาพขององค์กร จุดยืนและบทบาทของตนที่มีต่อโลกและสังคมทั้งมวล”
เขากล่าวว่า เริ่มเห็นลูกค้าหลายองค์กรปรับทิศทางให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์เช่นนี้ ในทศวรรษหน้า เราจะเห็นทั้งความท้าทายและโอกาสสำหรับธุรกิจในปรับเปลี่ยนสินค้าหรือบริการให้มีความหมาย ให้ใส่ใจต่อผู้บริโภคและสังคม และยั่งยืนยิ่งขึ้น
การเปลี่ยนมุมมองของผู้บริโภคจาก “เพื่อตัวฉัน” เป็น “เพื่อพวกเราทุกคน” ส่งผลให้การออกแบบต้องเปลี่ยน จากที่เคยเน้นตัวผู้ใช้งาน (user-centered) มาเน้นความยั่งยืนสำหรับทุกชีวิต (life-centered) มากขึ้น
รายงาน Fjord Trends 2020 ได้บ่งชี้แนวโน้มใหม่ 7 ด้านที่คาดว่า จะมีบทบาทในการกำหนดทิศทางธุรกิจในทศวรรษหน้าที่จะยิ่งมุ่งเน้นการให้ประสบการณ์ดีเลิศและมีความหมายต่อลูกค้า รานงานฉบับนี้ยังให้แนวทางปฏิบัติที่องค์กรนำไปปรับใช้ได้ เพื่อรับมือกับยุคหน้าที่จะมาถึง ดังนี้
1.เติบโตหลากรูปแบบ (Many faces of growth) แนวคิดแบบทุนนิยมกำลังเผชิญกับวิกฤตที่เป็นจุดเปลี่ยน ผลกำไรของธุรกิจไม่ได้นับเป็นตัวชี้วัดการเติบโตเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป องค์กรจะต้องทบทวนเจตนารมณ์ บทบาทและจุดยืนของตนที่ยั่งยืนและคำนึงถึงสังคมโลก
2.มองเงินเปลี่ยนไป (Money changers) มุมมองที่เราเคยมีต่อเงินตราและวิธีการจ่ายเงินเพื่อแลกซื้อสิ่งต่าง ๆ เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว การทวีบทบาทของเงินดิจิทัล เช่น การอนุมัติจ่ายด้วยลายนิ้วมือหรือเลนส์ม่านตา ก่อให้เกิดโอกาสอีกมหาศาลสำหรับผลิตภัณฑ์การเงินใหม่ ๆ รวมทั้งผู้เล่นหน้าใหม่ในตลาด
3.บาร์โค้ดเดินได้ ปัจจุบัน ตัวจริงของเราสามารถถูกระบุตัวตนและติดตามได้ง่ายพอๆ กับ ‘ตัวตนในโลกดิจิทัล’ ราวกับบาร์โค้ดเดินได้ ด้วยเทคโนโลยีการรู้จำใบหน้าและร่างกาย ซึ่งนำมาสู่ภาวะที่ต้องเลือกระหว่างความเป็นส่วนตัวและความสะดวกที่ได้รับ
4.ผู้คนเปลี่ยนไป (Liquid people) พฤติกรรมผู้บริโภคจะเปลี่ยนแปลงไปโดยจะคำนึงถึงสังคมกับบทบาทของตน และค้นหาความหมายในทุกสิ่งที่ตนทำมากขึ้น สิ่งนี้นำมาซึ่งโอกาสอีกมากในการมอบประสบการณ์แบบใหม่ที่ตอบโจทย์ผู้คนเหล่านี้ได้
5.ปัญญาออกแบบได้ (Designing intelligence) ประสบการณ์ของมนุษย์มีความซับซ้อนขึ้นเรื่อย ๆ ก้าวต่อไปของการพัฒนาเอไอ (Artificial Intelligence) คือ การออกแบบให้ก้าวไกลไปกว่าการใช้เป็นเพียงระบบอัตโนมัติ ไปเป็นระบบที่ผสานทั้งภูมิปัญญาของมนุษย์และปัญญาประดิษฐ์ และทำให้สองส่วนนี้ทำงานร่วมกันได้ดียิ่งขึ้น
6.แฝดเสมือนในโลกดิจิทัล (Digital doubles) แฝดเสมือนในโลกดิจิทัลกำลังจะเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น เช่น ดาต้าโมเดลที่รวมเอาข้อมูลส่วนตัวของเราทั้งหมดในโลกดิจิทัล ช่วยให้เราเข้าถึงความบันเทิงและมอบประสบการณ์เฉพาะตนต่าง ๆ ได้อย่างตรงใจ ในขณะเดียวกันก็จะทำให้เราสามารถควบคุมได้ดียิ่งขึ้นว่าจะให้ใครเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวได้บ้างและมากน้อยเพียงใด
7.ออกแบบอย่างยั่งยืนเพื่อ ‘เราทุกคน’ (Life-centered design) แนวคิดของผู้คนกำลังเปลี่ยนไป จากการใช้ชีวิตที่มุ่งตอบสนองเพียงความต้องการของ “ตัวฉัน” ไปเป็นการคำนึงถึงสังคมส่วนใหญ่ หรือ “พวกเราทุกคน”
"คำถามคือ การออกแบบในอนาคต จะเปลี่ยนแนวทางจากเน้นที่ตัวผู้ใช้หรือตัวบุคคลเป็นศูนย์กลาง (User-centered design) ไปเป็นการออกแบบโดยคำนึงถึงชีวิตของคนในสังคมเป็นศูนย์กลาง (Life-centered design) ได้หรือไม่"