Kids Up แอพพลิเคชั่นแก้จราจรหน้าโรงเรียน
เอ็นไอเออุดหนุนทุนให้ภาคเอกชนพัฒนา Kids Up แอพพลิเคชั่นแก้ปัญหาจราจรหน้าโรงเรียนแบบยั่งยืน เผยระบบสามารถใช้งานได้บนสมาร์ทโฟนโรงเรียนไม่ต้องเสียเวลาและงบประมาณติดตั้งอุปกรณ์เครื่องมือใหม่
แผนรับมือ 'จราจรว้าวุ่น'
นางอัมภาพัตร ฉมารัตน์ ผู้ร่วมพัฒนา “คิดส์อัพ” แอพพลิเคชันแก้ปัญหาจราจรหน้าโรงเรียนแบบยั่งยืน บริษัท อาร์ติคูลัส จํากัด เปิดเผยว่า ได้รับทุนอุดหนุนจากสํานักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ เอ็นไอเอ ในโครงการ “แปลงเทคโนโลยีเป็นทุน” ภายใต้การสนับสนุนในโครงการนวัตกรรมแบบเปิด จํานวนไม่เกิน 1.46 ล้านบาท จากมูลค่าโครงการรวมทั้งสิ้น 1.97 ล้านบาทระยะเวลาดําเนินโครงการ 12 เดือนเพื่อพัฒนาแพลตฟอร์ม และแอพพลิเคชั่นสําหรับการแก้ไขปัญหาจราจรและทดสอบประสิทธิภาพการทํางาน
“ปัญหาจราจรหน้าโรงเรียนในช่วงรับส่งนักเรียน เป็นปัญหาเรื้อรังและสะสมมานาน ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของนักเรียน ผู้ปกครองและผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ในเรื่องความเครียดและปริมาณอากาศพิษในโรงเรียนและบริเวณโดยรอบที่สําคัญยังสร้างความสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจอย่างมหาศาลจากการเผาผลาญพลังงานอย่างไร้ประโยชน์ ตลอดจนการใช้จํานวนเจ้าหน้าที่ทั้งตํารวจจราจรครูอาจารย์ และรปภ.เข้ามามีส่วนร่วมในการเข้ามาแก้ ปัญหาอีกเป็นจํานวนมาก”
ตอบโจทย์-ตรงใจผู้ปกครอง
ประเทศไทยมีโรงเรียนทั้งหมด 38,000 แห่งทั่วประเทศ มีนักเรียนทั้งหมดประมาณ 13.5 ล้านคน หากรวมจํานวนผู้ปกครองที่มารับส่งนักเรียนและบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด จะเห็นได้ว่ามีคนจํานวนมากที่ได้รับผลกระทบจากปัญหานี้การสร้างระบบที่สามารถช่วยให้ทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง มีความสูญเสียน้อยลงจะสร้างประโยชน์อย่างมากให้กับทุกคนและประเทศชาติ
บริษัทฯจึงได้นําเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องพัฒนาต้นแบบแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยผู้ปกครองสามารถแจ้งเตือนไปยังนักเรียนและโรงเรียนในระหว่างการเดินทางแอพพลิเคชั่นจะรู้ตําแหน่งผู้ปกครองผ่านจีพีเอส และการคํานวณเวลาเดินทางผ่านระบบข้อมูลการจราจร (real time traffic information) เมื่อนักเรียนทราบ เวลาที่คาดว่าผู้ปกครองจะมาถึงโรงเรียนก็จะเตรียมพร้อมก่อนผู้ปกครองจะมาถึงโรงเรียน
ระบุตำแหน่งแม่นยำสูง
นอกจากนั้นระบบยังใช้ความสามารถของเทคโนโลยีไร้สายส่วนบุคคลกําลังต่ํา (Bluetooth Low Energy หรือ BLE) เข้ามาช่วยระบุตําแหน่งเมื่อผู้ปกครองเข้ามาในบริเวณโรงเรียนเนื่องจากมีความแม่นยําสูง ทําให้นักเรียนทราบทันทีเมื่อผู้ปกครองเข้ามาในบริเวณโรงเรียน ทําให้การจัดการรับ นักเรียนเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูงสุด
วิธีการประยุกต์ในการใช้ความสามารถของ GPS และ BLE เป็นรูปแบบที่ผู้ใช้งานเข้าใจง่ายและเป็นเทคโนโลยีที่สามารถใช้งานได้บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ทําให้โรงเรียน ไม่ต้องเสียเวลาในการวางระบบหรือจัดหาอุปกรณ์เป็นเวลานาน