สุดล้ำ! สวทช.พัฒนาหุ่นยนต์ยูวีอบฆ่า ‘โควิด’ ไร้เคมีตกค้าง-ป้องกันติดเชื้อเพิ่ม
สวทช.จับมือ จุฬาฯ อวดโฉม “หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโรคด้วยแสงยูวี” สามารถเข้าถึงพื้นที่เฉพาะและจุดเสี่ยงโรคต่างๆ ได้ดี รัศมีทำการ 2 เมตรสั่งการผ่านรีโมทช่วยลดเสี่ยงอันตรายต่อผู้ใช้ ผลทดสอบชี้ทำลายเชื้อโรคบนธนบัตรตลอดจนหน้ากากอนามัยได้ เตรียมนำร่องรพ.จุฬาภรณ์
“หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโรคด้วยแสงยูวี” สามารถเข้าถึงพื้นที่เฉพาะและจุดเสี่ยงโรคต่างๆ ได้ดี รัศมีทำการ 2 เมตร สั่งการผ่านรีโมทช่วยลดเสี่ยงอันตรายต่อผู้ใช้ ต่อยอดมาจากสิ่งประดิษฐ์ดีไอวาย “กล่องยูวีอบฆ่าเชื้อโรค” หรือยูวีบ็อกซ์ ผลทดสอบชี้สามารถทำลายเชื้อโรคบนธนบัตรตลอดจนหน้ากากอนามัย ช่วยบรรเทาปัญหาหน้ากากป้องกันเชื้อโรคขาดแคลน ทั้งนี้ทีมนักวิจัยเตรียมส่งหุ่นยนต์เข้า รพ.จุฬาลงกรณ์ ทดสอบประสิทธิภาพการทำงาน
รังสีอัลตราไวโอเล็ตหรือแสงยูวี เป็นสเปกตรัมของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในช่วง 10 นาโนเมตรถึง 400 นาโนเมตร ซึ่งมีความถี่สูงกว่าการมองเห็นด้วยตาเปล่า มีประสิทธิภาพสูงในการทำลายดีเอ็นเอของสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กอย่างไวรัส แบคทีเรีย เชื้อราและเชื้อโรคชนิดต่างๆ หยุดยั้งประสิทธิภาพในการแพร่พันธุ์และฆ่าพาหะเหล่านี้ในที่สุด ขณะเดียวกันก็มีอันตรายต่อร่างกายได้อย่างรุนแรง อาจทำให้ผิวแดงไหม้เกรียม หรือ เยื่อบุตาอักเสบ จึงต้องใช้ความระมัดระวังโดยหลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรง
ส่ง รพ.จุฬาฯ ทดสอบประสิทธิภาพ
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ (เอ็นเอสดี) ร่วมกับ สถาบันวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพและวิศวกรรมพันธุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนาและทดสอบ “หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโรคด้วยแสงยูวี” หรือ Germ Saber Robot สามารถเข้าถึงพื้นที่เฉพาะและจุดเสี่ยงโรคต่างๆ ได้ดี สั่งการผ่านรีโมทลดเสี่ยงอันตรายต่อผู้ใช้งาน
ศิวรักษ์ ศิวโมกษธรรม ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ (NSD) สวทช. เปิดเผยว่า หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ด้วยแสงยูวี หรือ “Germ Saber Robot” ที่พัฒนาขึ้นนี้ประกอบด้วยหลอดยูวี-ซี ขนาดพลังงานรวม 300 วัตต์ พร้อมชุดควบคุมไฟ มีความพิเศษตรงที่สามารถบังคับให้ขับเคลื่อนไปยังจุดต่างๆ ผ่านอุปกรณ์ควบคุม “รีโมทคอนโทรล” เพื่อสั่งการให้หุ่นยนต์เดินหน้า ถอยหลัง เลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวาและหมุนตัวแบบ 360 องศา เพื่อประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อโรคทุกสภาพพื้นที่
“หุ่นยนต์ติดตั้งแสงยูวี-ซี (ความยาวคลื่นอยู่ในย่านความถี่ประมาณ 250 นาโนเมตร) พัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้ประโยชน์ในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 จะช่วยให้สถานที่ต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนประหยัดค่าใช้จ่ายจากน้ำยาฆ่าเชื้อ ช่วยลดการตกค้างหรือปนเปื้อนของสารเคมีในน้ำยาฆ่าเชื้อ ที่สำคัญหุ่นยนต์ยูวีสามารถฆ่าละอองฝอยของเชื้อที่ลอยในอากาศ และยังสามารถใช้ฆ่าเชื้อบนพื้นผิวของอุปกรณ์เฉพาะ เช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์การแพทย์ ที่ไม่สามารถทำความสะอาดด้วยน้ำหรือน้ำยาเคมี เป็นต้น”
ในการพัฒนาหุ่นยนต์ Germ Saber Robot ทีมวิจัยต้องการช่วยบรรเทาสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในยามที่ขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ ทั้งหน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อและน้ำยาฆ่าเชื้อโรคต่างๆ จึงเร่งผลิตหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อก่อโรคโควิด-19 เพื่อเป็นอุปกรณ์เสริมที่ใช้งานได้สะดวกทุกที่และตลอดเวลา โดยการฆ่าเชื้อโรคในรัศมีโดยรอบ 1-2 เมตร เป็นระยะเวลา 15-30 นาทีต่อจุด จะช่วยฆ่าเชื้อโรคบนพื้นผิวต่างๆ ได้
ทั้งนี้ ทีมวิจัยเตรียมความพร้อมของหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อก่อโรคโควิด-19 ด้วยแสงยูวี โดยวางแผนนำร่องทดสอบการใช้งานที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สำหรับหน่วยงานอื่นๆ หรือผู้ที่สนใจให้ทีมวิจัยทำการผลิต หรือนำไปทดลองใช้งานสามารถติดต่อได้ที่ศูนย์เทคโนโลยีฯ
กล่องอบดีไอวายสู่หุ่นยนต์
หุ่นยนต์ Germ Saber Robot พัฒนาต่อยอดมาจาก “กล่องอบฆ่าเชื้อโรคด้วยแสงยูวี” สิ่งประดิษฐ์แบบดีไอวาย ด้วยการนำสิ่งของที่มีในท้องตลาดทั่วไปมาดัดแปลงเป็นกล่องอบฆ่าเชื้อ อย่างเช่น กล่องคุกกี้ที่มีคุณสมบัติเป็นโลหะ ติดตั้งหลอดเปล่งแสงที่เรียกว่าหลอดยูวี-ซี ช่วงความยาวคลื่น 100-280 นาโนเมตร ขนาด 6 วัตต์ จำนวน 2 หลอด มีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อโรค โดยในโรงพยาบาลใช้สำหรับฆ่าเชื้อโรคบนอุปกรณ์การแพทย์ จากนั้นนำมาประกอบต่อสายไฟและทำการอบฆ่าเชื้อ
จากการทดสอบโดยการนำธนบัตรที่มีเชื้อโควิด-19 ปนเปื้อนใส่ลงไปในกล่องดีไอวายประมาณ 10 นาที พบว่าสามารถฆ่าเชื้อโรคที่ติดอยู่บนธนบัตรได้จริง ส่วนสิ่งของประเภทอื่นๆ จะต้องพิจารณาถึงการทำปฏิกิริยากับแสงยูวีด้วยเช่นกัน เนื่องจากแสงยูวีทำความสะอาดเฉพาะพื้นผิวเท่านั้น หากนำวัตถุอื่นๆอย่างเช่น หน้ากากอนามัยที่มีหลายชั้น ประกอบกับรอยพับของหน้ากากฯ เป็นส่วนที่แสงเข้าไม่ถึงและเป็นส่วนสะสมของเชื้อโรค ก็จะทำให้ไม่สามารถฆ่าเชื้อโรคได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ส่วนระยะเวลาในการอบฆ่าเชื้อนั้นก็จะแตกต่างกันไปตามแต่ละคุณสมบัติของวัตถุที่นำมาอบ