‘ฮับบา’ สู้ศึกโควิด ดัน ‘ออนไลน์คอมมูนิตี้’ ช่วยเอสเอ็มอีฝ่าวิกฤติ

‘ฮับบา’ สู้ศึกโควิด ดัน ‘ออนไลน์คอมมูนิตี้’ ช่วยเอสเอ็มอีฝ่าวิกฤติ

“ฮับบา” โคเวิร์คกิ้งสเปซแห่งแรกของไทยเร่งปรับแผนธุรกิจ รับมือสถานการณ์โรคโควิด-19 เผยมุ่งลดต้นทุน เล็งเปิดตลาดใหม่และสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ในรูปแบบ 'คอมมูนิตี้ออนไลน์' พร้อมเป็นพี่เลี้ยงช่วยเอสเอ็มอีฝ่าวิกฤติ และมอบแพ็กเกจพิเศษให้แก่สมาชิก

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สร้างผลกระทบต่อภาคธุรกิจในเซกเตอร์ต่างๆ ซึ่งรวมถึงธุรกิจโคเวิร์คกิ้งสเปซ และส่งผลต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีโดยตรง โดยเฉพาะภาคบริการซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 44% ของจีดีพีได้รับผลกระทบมากที่สุด เช่น โรงแรมที่อัตราการเข้าพักเหลือเพียง 6% จากเดิมที่มีอัตราการเข้าพักอยู่ที่ 40% หรือแม้กระทั่งการขนส่ง และอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งธุรกิจเหล่านี้ได้รับผลกระทบทางอ้อมจากประชาชนขาดความมั่นใจในระบบเศรษฐกิจ จึงไม่ใช้บริการหรือลงทุนเพิ่ม

“โควิด” ฉุดเอสเอ็มอีร่วง

ชาล เจริญพันธ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฮับบา จำกัด (HUBBA) กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ทำให้รายได้ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีลดลง หากยังไม่มีรายได้เข้ามาคาดว่าจะสามารถอยู่ได้เพียง 3 เดือนเท่านั้น จากนั้นภายในเดือน พ.ค.นี้ หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น เศรษฐกิจยังแย่ประกอบกับไม่มีเงินอัดฉีดในระบบ อาจจะส่งผลให้ 1 ใน 3 ของเอสเอ็มอีไทยล่มสลาย ซึ่งผลกระทบเหล่านี้จะส่งผลต่อธุรกิจอื่นๆ ตามมา รวมถึงธุรกิจโคเวิร์คกิ้งสเปซ เนื่องจากกลุ่มลูกค้าหลักคือ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีสัดส่วนกว่า 90%

158540904443

ดังนั้น ผู้ประกอบการโคเวิร์คกิ้งสเปซต้องปรับแผนธุรกิจเพื่อรับมือโควิด-19 โดยเร่งลดต้นทุน อาทิ ค่าน้ำ ค่าไฟ จำนวนพนักงาน หรือแม้กระทั่งต่อรองกับเจ้าของพื้นที่เพื่อลดหรือผ่อนผันการเช่า และเลือกปิดบางสาขา พร้อมทั้งมุ่งเจาะตลาดใหม่ เตรียมอัดแคมเปญเพื่อให้ผู้บริโภคกล้าที่จะเข้ามาจองพื้นที่ใช้งาน และที่สำคัญคือต้องมีการบริหารจัดการเงินทุนอย่างถูกวิธี ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็นอีกหนึ่งชาเลนจ์ของการทำธุรกิจโคเวิร์คกิ้งสเปซในยุคที่โควิด-19 ระบาด และส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจทั่วโลก

ชาล อธิบายเสริมว่า ฮับบาในฐานะผู้ประกอบการธุรกิจโคเวิร์คกิ้งสเปซรายแรกๆ ที่เปิดให้บริการในกรุงเทพฯ นับเป็นขวบปีที่ 8 ของการทำธุรกิจ ได้รับผลกระทบไม่มาก เนื่องจากโมเดลธุรกิจได้แตกไลน์ธุรกิจที่หลากหลาย ทั้งโคเวิร์คกิ้งสเปซ รวมพื้นที่ประมาณ 2 พันตารางเมตรใน 3 ทำเลย่านเอกมัย สาทรและวิภาวดี ส่วนการบริการมีตั้งแต่ราย 2 ชั่วโมง รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน ไปจนถึงรายปี ราคาขึ้นอยู่กับแต่ละแพ็คเกจ ฐานลูกค้าของฮับบา แบ่งเป็น เอสเอ็มอีประมาณ 90% และอีก 10% เป็นสตาร์ทอัพ ฟรีแลนซ์ ที่มีทั้งแบบสมาชิกและผู้ใช้บริการทั่วไปแบบครั้งคราว

สินค้ามีมากกว่าพื้นที่ให้เช่า

สมาชิกของฮับบาส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ด้านเทคโนโลยี นักออกแบบ และผู้ที่ทำงานอิสระแล้ว ทั้งยังมีนักลงทุนหรือเจ้าของบริษัทเทคโนโลยีมานั่งทำงาน คอยจับตามอง เพื่อที่จะได้ค้นพบดาวดวงใหม่เป็นคนแรกด้วย

อีกหมวกของฮับบายังทำโปรเจคด้านนวัตกรรมให้กับบริษัทใหญ่ๆ ทั้งการให้คำปรึกษา การอบรม เวิร์คช็อป 5-10 งานต่อเดือนร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เช่น เวิร์คช็อปการเรียนรู้ภาษาไทยอย่างง่ายๆ ที่เปิดให้ชาวต่างชาติที่เป็นสมาชิกได้เรียนรู้คำศัพท์สำหรับการใช้ชีวิตในประเทศไทย เวิร์คช็อปสำหรับเทคสตาร์ทอัพที่ต้องการพัฒนาทักษะด้านไอเดีย การวางแผนกลยุทธ์ การตลาด และการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้ ตลอดจนเรียนรู้พื้นฐานด้านการเงินและการเริ่มต้นธุรกิจ สอนเขียนโปรแกรม การดีไซน์ 

158540905828

ทั้งยังทำอะคาเดมี่และทำงานอีเว้นท์ใหญ่ Techsauce งานสำคัญที่คนในวงการสตาร์ทอัพและเทคโนโลยีในเมืองไทยต้องมารวมตัวกัน ซึ่งเริ่มครั้งแรกเมื่อปี 2558 ซึ่งก็ประสบความสำเร็จทันที ทั้ง Techsauce และงาน Techsauce Summit ฉะนั้น การที่มีสินค้าและบริการที่หลากหลาย จึงทำให้ภาพรวมผลประกอบการของฮับบาไม่ได้รับผลกระทบมากนัก 

ดัน“ออนไลน์คอมมูนิตี้”

อย่างไรก็ตาม ฮับบาได้มีการวางแผนปรับกลยุทธ์ใหม่เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเดินหน้าทำการตลาดเต็มรูปแบบมีการปรับลดต้นทุนที่ไม่จำเป็น ทั้งการชะลอการเปิดสาขาใหม่ที่วิภาวดี ซึ่งเป็นโซนสเปซอีเว้นท์ พร้อมทั้งมีแผนการที่จะสนับสนุนสมาชิกด้วยแพ็คเกจส่งเสริมการเข้าใช้บริการ แต่ขณะเดียวกันคาดว่าตั้งแต่เดือน เม.ย.เป็นต้นไป จะได้รับผลตอบรับมากขึ้นจากสถานการณ์ที่ผู้บริโภคต้องการพื้นที่ทำงานเพิ่มขึ้น ถึงแม้ว่าจะมีมาตรการ Work from home แต่บางครั้งประชาชนยังมีความจำเป็นที่ต้องมีการพบปะ เนื่องด้วยประสิทธิภาพการทำงานที่ลดลงถึง 50% จึงต้องมีการหาวิธีเพื่อให้การทำงานสำเร็จมากขึ้น และ Face to work ถือเป็นสิ่งสำคัญ

158557188062

นอกจากนี้ ทางฮับบาเตรียมเปิดตัวโปรเจคใหม่ในรูปแบบ "ออนไลน์คอมมูนิตี้" ที่ร่วมกับหลากหลายบิ๊กธุรกิจ ภายใต้ชื่อ "Founders Square" เพื่อเป็นศูนย์กลางส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่กำลังประสบปัญหา ผ่านการสร้างคอมมูนิตี้นี้ โดยมีวัตถุประสงค์คือ 1.ส่งเสริมองค์ความรู้ในการสร้างธุรกิจใหม่ที่แตกต่างในตลาด 2.ส่งเสริมกลยุทธ์ทรานส์ฟอร์มที่เอสเอ็มอีจำเป็นต้องรู้ โดยจะมีทั้งเรื่ององค์ความรู้ด้านธุรกิจ และการปรับเปลี่ยนวิธีคิดเพื่อความสำเร็จในการทำงาน โดยเปิดเป็นโซลูชั่นที่รองรับการวีดิโอคอนเฟอร์เรนซ์ ทำให้สามารถพูดคุยแชร์องค์ความรู้ให้กันและกันได้ คาดว่าจะพร้อมให้บริการภายในวันที่ 30 มี.ค.นี้