เซรามิก ‘ละมุนละไม’
แบรนด์ “ละมุนละไม” ผู้ประกอบการขนาดเล็กที่นำทักษะงานช่างฝีมือมาสร้างเอกลักษณ์บนงานเซรามิก ผ่านรูปทรงที่อาศัยความละเอียดอ่อนในการขึ้นรูป เทคนิคการตกแต่งพื้นผิวจากเครื่องมือที่คิดค้นขึ้นเอง
สิ่งที่ผู้ประกอบการขนาดเล็กมักเสียเปรียบคู่แข่งที่เป็นองค์กรขนาดใหญ่ คือ การแข่งขันโดยมี “ราคา” เป็นตัวกำหนด อาจเป็นเพราะกำลังการผลิตที่มีจำนวนน้อย อำนาจการต่อรองต่ำ การกระจายสินค้าอยู่ในวงจำกัด ฯลฯ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า ผู้ประกอบการขนาดเล็กจะเป็นฝ่ายแพ้เสมอไป เพราะ “ความสำเร็จ” ไม่ได้วัดกันที่ยอดขายเพียงอย่างเดียว ขึ้นอยู่กับว่าคุณตั้งเป้าในการทำธุรกิจไว้จุดใด ด้วยกลยุทธ์ทางการตลาดแบบไหน และใช้อะไรเป็นจุดสร้างเอกลักษณ์ความแตกต่างของธุรกิจเพื่อมัดใจกลุ่มเป้าหมายที่ตั้งไว้
เช่นเดียวกับแบรนด์ “ละมุนละไม” ผู้ประกอบการขนาดเล็กที่นำทักษะงานช่างฝีมือมาสร้างเอกลักษณ์บนงานเซรามิก ผ่านรูปทรงที่อาศัยความละเอียดอ่อนในการขึ้นรูป เทคนิคการตกแต่งพื้นผิวจากเครื่องมือที่คิดค้นขึ้นเอง เช่น การใช้ผ้าลูกไม้สร้างลวดลายบนชิ้นงาน การใช้เปลือกหอยสร้างมิติบนพื้นผิว รวมไปถึงจุดเด่นของสีสันบนน้ำเคลือบที่มีความหวานสดใส
ที่สำคัญ “นล เนตรพรหม” และ “ณพกมล อัครพงศ์ไพศาล” สองคู่หูนักออกแบบเจ้าของแบรนด์ “ละมุนละไม” ค้นหาเทคนิคใหม่ๆ ผ่านการทดลองบนชิ้นงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อเปิดโอกาสให้ตนเองได้เรียนรู้ พร้อมสร้างสรรค์ผลงานที่สดใหม่อยู่เสมอ นอกจากผลิตภัณฑ์ของใช้บนโต๊ะอาหาร ของตกแต่งบ้าน และของที่ระลึกแล้ว ทีมงานยังสร้างโอกาสทางธุรกิจด้วยการรับออกแบบ และผลิตชิ้นงานเซรามิกให้กับร้านอาหารขนาดเล็ก ของที่ระลึกสำหรับบริษัท รวมไปถึงของชำร่วยสำหรับงานแต่งงานอีกด้วย
ทั้งยังเปิดเวิร์คช้อปอบรมสำหรับผู้สนใจ เพื่อให้เขาและเธอได้ทดลองสร้างสรรค์ชิ้นงานเซรามิกด้วยตนเอง ทีมงานจะเป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำตั้งแต่การขึ้นรูปด้วยดิน การตกแต่งพื้นผิว การเคลือบผิว เป็นต้น ทุกครั้งที่เปิดเวิร์คช้อปก็จะมีเทคนิคใหม่ๆ มาแนะนำผู้เข้าอบรม ทำให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้าเรียนได้อย่างต่อเนื่อง
อีกหนึ่งแนวคิดในการทำธุรกิจที่นำทักษะงานช่างฝีมือของตนเองมาสร้างเอกลักษณ์ให้กับธุรกิจ โดยไม่ได้มุ่งหวังที่จะแข่งขันกับธุรกิจขนาดใหญ่ แต่เป็นการเดินตามเป้าหมายของตนเองโดยการสร้างตลาดใหม่ กลุ่มเป้าหมายใหม่ ที่หลงใหลในงานเซรามิกแบบมีเอกลักษณ์สไตล์ “ละมุนละไม”