อว.จัดคอร์ส 'สารพัดอาชีพ' เพิ่มทักษะแรงงานท่องเที่ยว
ครม.อนุมัติงบ 143.5 ล้านบาทให้กระทรวงการอุดมศึกษาฯออกมาตรการช่วยเหลือแรงงานภาคการท่องเที่ยว7.66 ล้านคนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จับมือ 80 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เปิดหลักสูตรเรียนฟรี 10 วันยกระดับทักษะเดิม-สร้างอาชีพใหม่ พร้อมจ่ายค่าอบรมวันละ 200 บาท
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาคาดว่า ผลกระทบจากโควิด-19 จะทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวลดลง 3 แสนล้านบาท จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงกว่า 4.8 ล้านคน ส่งผลกระทบต่อแรงงานภาคการท่องเที่ยว 7.66 ล้านคนในธุรกิจโรงแรม ขนส่งโดยสาร บริษัททัวร์ ร้านสปา ร้านอาหาร ตลอดจนร้านขายของที่ระลึกและร้านขายสินค้าชุมชน ถือเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง
พัฒนาทักษะ-สร้างรายได้
ศ.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า กระทรวง อว. ได้ดำเนินการโดยให้ 80 มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นหน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจในสถาบันอุดมศึกษา (ยูบีไอ) ร่วมกับภาคีเครือข่ายในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ในการจัดอบรมหลักสูตรพิเศษ ได้แก่ การพัฒนาด้านภาษา ด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น และทักษะที่เป็นเทคโนโลยียุคใหม่
โดยมีลำดับความสำคัญคือ กลุ่มคนที่ตกงานไม่สามารถหางานทำได้ รวมถึงกลุ่มคนที่ต้องการเปลี่ยนงาน ทั้งบัณฑิตจบใหม่และยังไม่มีงานทำก็จะสามารถเข้ารับการอบรมได้เช่นกัน โดยมีวัตถุประสงค์คือ 1.ต้องการลดจำนวนคนตกงานจากสถานการณ์โควิด-19 2.ลดปัญหาการว่างงานจากสภาวะเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น
ผู้ที่สามารถเข้ารับการอบรมได้นั้น แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรง อาทิ มัคคุเทศก์ พนักงานโรงแรม ประกอบด้วย หลักสูตรการพัฒนาภาษาต่างประเทศเพื่อการทำธุรกิจ หลักสูตรการจัดการท่องเที่ยวชุมชน หลักสูตรการใช้สื่อดิจิทัลเพื่อการท่องเที่ยว หลักสูตรการจัดการประชุมสมัยใหม่ หลักสูตรเทคนิคการเล่าเรื่องสู่การสร้างสังคมออนไลน์เชื่อมโยงการท่องเที่ยว
2. กลุ่มที่ได้รับผลกระทบทางอ้อมและประชาชนทั่วไป จะมีทั้งบุคคลที่ต้องการเปลี่ยนงาน กลุ่มบัณฑิตจบใหม่ จะมีการอบรม 2 ด้าน แบ่งเป็น กลุ่มหลักสูตรส่งเสริมการท่องเที่ยว ได้แก่ หลักสูตรการตลาดผ่านโซเชียลมีเดีย หลักสูตรการเป็นผู้ค้าในอีคอมเมิร์ซ หลักสูตรการพัฒนาเกมส์และแอพพลิเคชั่น หลักสูตรการทำสมาร์ทฟาร์มเมอร์ หลักสูตรการบริการหลังการค้าผ่านออนไลน์ หลักสูตรการออกแบบกราฟฟิกดีไซน์เพื่อธุรกิจ การใช้ภาษาอังกฤษและภาษาอื่นๆ เพื่อธุรกิจ
กลุ่มหลักสูตรส่งเสริมการประกอบอาชีพใหม่ ได้แก่ หลักสูตรการทำธุรกิจสร้างสรรค์ เช่น ศิลปะ ของที่ระลึก หลักสูตรการทำอาหารต่างประเทศ และอาหารสุขภาพ หลักสูตรการทำสมาร์ทฟาร์มเมอร์ หลักสูตรการทำฟาร์มแมลง หลักสูตรการแปรรูปสิ่งเหลือทิ้งทางการเกษตร หลักสูตรการทำเกษตรอินทรีย์ หลักสูตรการออกแบบอาหาร หลักสูตรการผลิตผักเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงให้คำปรึกษาแนะนำแหล่งทุน หรือเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อให้การประกอบอาชีพเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
“เว้นระยะห่าง” ไม่เอื้อเปิดคลาส
ศ.ศุภชัย กล่าวอีกว่า แต่ละมหาวิทยาลัยจะเปิดสอน 2-3 หลักสูตรตามความพร้อม ขณะนี้อยู่ระหว่างการแจ้งความประสงค์ว่า จะมีหลักสูตรอะไรบ้าง ส่วนสถานที่จัดการเรียนการสอนจะใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยนั้นๆ ผู้ให้การอบรมก็จะเป็นคณาจารย์และนักวิชาการของแต่ละมหาวิทยาลัย ระยะเวลาการอบรมหลักสูตรละ 10 วันต่อเนื่อง จำนวน 400 รุ่น รุ่นละ 100 คน รวมได้รับการฝึกอบรม 40,000 คน กระจายทั่วประเทศ
ทั้งนี้ งบประมาณโครงการ 143.5 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ 1.งบฯ สนับสนุนการเรียนให้กับผู้เข้าอบรมวันละ 200 บาท รวม 2,000 บาทต่อคน 2.ค่าบริหารจัดการทั้งในส่วนของวิทยากร และค่าอาหารของผู้เข้าอบรมที่จะจัดสรรให้กับทางมหาวิทยาลัย
“จากเดิมที่คาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการอบรมได้ภายในเดือน พ.ค.2563 แต่เนื่องจากสถานศึกษาประกาศสั่งปิดพื้นที่ เพื่อยับยั้งการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ตั้งแต่วันที่ 18 มี.ค.ที่ผ่านมา จนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง อีกทั้งมาตรการเพิ่มระยะห่างระหว่างบุคคลในการเข้าสังคม (social distancing) ทำให้โครงการฝึกอบรมอาชีพใหม่ จำเป็นต้องรอการประกาศมาตรการใหม่จากรัฐบาลอีกครั้ง เนื่องจากการอบรมจำเป็นต้องใช้สถานที่” ศ.ศุภชัย กล่าว