‘คอนเสิร์ตออนไลน์’ ทางรอดของธุรกิจดนตรี
“คอนเสิร์ตออนไลน์” หนึ่งในทางรอดจากการนำเสนอของผู้ก่อตั้ง “ฟังใจ” ธุรกิจสตาร์ทอัพสายอีเว้นต์ดนตรีและค่ายเพลงอินดี้ หวังที่จะทำลายข้อจำกัดการเว้นระยะห่างทางสังคมจากพิษโควิด-19 บุกเบิกให้เกิด “ประชาธิปไตยทางดนตรี” ทั้งสร้างรายได้-ขยายฐานแฟนคลับ
“ฟังใจ”ลงมือทดลองบิซิเนสโมเดลฟรีคอนเสิร์ตออนไลน์ “At Home Festival” เมื่อ 4 เม.ย.ที่ผ่านมา ใช้วิธี Live ต่อเนื่อง 7 ชั่วโมงผ่าน Facebook Page และ YouTube Channel มีศิลปินเข้าร่วม 10 วงดนตรี เพื่อช่วยแก้ปัญหาการว่างงานนักดนตรี สนองความต้องการของแฟนเพลงอีกด้วย พร้อมทั้งเปิดให้แฟนเพลงร่วมกันสนับสนุนศิลปินขณะทำการไลฟ์อีกด้วย
เนรมิตคอนเสิร์ตผ่านออนไลน์
ศรัณย์ ภิญญรัตน์ ผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการบริษัท ฟังใจ จำกัด (Fungjai) กล่าวในงานสัมมนาออนไลน์ Techsauce Virtual Conference 2020 Episode2 ภายใต้หัวข้อ PAUSE MUSIC หาทางออกรูปแบบใหม่ให้เทศกาลดนตรี ว่า การจัดคอนเสิร์ตออนไลน์สามารถทำได้หลายบิซิเนสโมเดล เพื่อหาทางออกรูปแบบใหม่ให้กับเทศกาลดนตรี โดยหลักคือ 1.การขายบัตรคอนเสิร์ตออนไลน์ในราคาที่ต่ำ แต่การแสดงในรูปแบบนี้จะต้องใช้เงินทุนในด้านระบบภาพ เสียง และบรรยากาศ พร้อมกับเชิญศิลปินมาเล่นดนตรีในสถานที่ที่กำหนด เพราะผู้บริโภคที่จ่ายเงินเข้าชม ส่วนใหญ่คาดหวังจากการชมคอนเสิร์ต
2.คอนเสิร์ตดูฟรีที่จะดึงดูดผู้ชมเพื่อเข้ามาช่วยสนับสนุนศิลปิน ซึ่งฟังใจเลือกใช้คิวอาร์โค้ดที่ปรากฏบนหน้าจอในขณะไลฟ์ เมื่อสแกนก็จะเข้าไปที่พร้อมเพย์และผู้ชมก็จะสามารถเลือกได้เลยว่าจะสนับสนุนจำนวนเงินเท่าไร 3.คอนเสิร์ตที่ถูกจัดขึ้นมาเพื่อดูฟรี และไม่ได้มีเรื่องของรายได้แต่อย่างใด เพราะบางครั้งศิลปินต้องการที่จะสร้างการมีส่วนร่วมกับแฟนเพลงเท่านั้น
สำหรับอุตสาหกรรมดนตรีในปัจจุบัน รายได้ส่วนใหญ่มาจากการขายเพลงผ่านแผ่นเสียง เทป ซีดี เอ็มพีสาม และสตรีมมิ่ง แต่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาการซื้อเพลงเพื่อฟังลดลง พฤติกรรมผู้บริโภคหันเหไปสนับสนุนศิลปินที่ชื่นชอบผ่านช่องทางการชมดนตรีสดเพิ่มขึ้น ทั้งในแง่ของงานที่เป็นสเกลเล็กๆ อย่าง ผับ บาร์ ร้านอาหาร และสเกลใหญ่ๆอย่างเฟสติวัล รายได้ของศิลปินและค่ายเพลงจึงมาอยู่ที่แสดงสดดนตรี
ต่อยอด“แฟนคลับ”ทุนในมือ
แต่เมื่อเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถจัดงานได้ตามปกติ จึงส่งผลกระทบกับรายได้หลักของอุตสาหกรรมดนตรีเป็นอย่างมาก ทั้งศิลปินค่ายเล็กและค่ายใหญ่ เนื่องจากศิลปินไม่สามารถเดินทางมาห้องอัด และไม่สามารถออกเล่นคอนเสิร์ต ประชาสัมพันธ์ ทำการตลาด และการออกอัลบัม ด้วยข้อจำกัดตรงจุดนั้น จึงถือได้ว่าวิกฤติในครั้งนี้ทำให้ทุกเซกเมนต์ต่างได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้าอย่างเท่าเทียมกัน
“นักดนตรีส่วนใหญ่เกิน 90% ของนักดนตรีในประเทศไทยทั้งหมด ไม่ได้หาเลี้ยงชีพด้วยดนตรีอย่างเดียว เพราะฉะนั้นอาจจะประกอบอาชีพอื่นควบคู่ไปด้วยเช่นกัน อาทิ พนักงานประจำ ดังนั้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง หากงานหลักนั้นถูกผลกระทบไปด้วย ส่งผลให้รายได้หดหายทั้งสองด้าน ส่วนนักดนตรี 100% ไม่สามารถรับงานได้เลย”
อย่างไรก็ตาม ศิลปินมีฐานแฟนเพลงอยู่แล้ว ถือเป็นทุนที่มีอยู่ในมือ ซึ่งสามารถสร้างรายได้จากฐานแฟนคลับที่มีอยู่จากธุรกิจใหม่ๆ ได้เช่นกัน จุดนี้กลายเป็นโอกาสในการทดลองโมเดลการหารายได้และรูปแบบการจัดงานแบบใหม่ จากการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ในอุตสาหกรรมเพลงจากโควิด-19 ที่ผ่านมา เราเดินทางมาถึงจุดที่โรคระบาดทำให้แต่ละคนต้องกักตัวอยู่บ้าน ไม่ก็ Work From Home ยิ่งไปกว่านั้นสิ่งที่คอเพลงทรมานใจที่สุดก็ไม่พ้นหลายคอนเสิร์ตงดหรือเลื่อนไปแบบไม่มีกำหนด “ฟังใจ” ได้ลองสร้างบิซิเนสโมเดลใหม่ๆ ในวงการเพลงผ่านโลกดิจิทัลดังกล่าว
ปฏิวัติวงการเพลงไทย
ปฏิภาณ สุวรรณสิงห์ ศิลปินวง S.O.L.E. กล่าวเสริมว่า อุตสาหกรรมดนตรีหลังจากสถานการณ์โควิดต่อจากนี้อาจจะเป็นไปในรูปแบบของออนไลน์มากขึ้น ทำให้เกิดแนวทางใหม่ๆ ในวงการเพลงผ่านโลกดิจิทัล ดังนั้น จึงควรมีโซลูชั่นใหม่ที่จะมาสนับสนุน อาจจะใช้เทคโนโลยี VR สร้างบรรยากาศชมคอนเสิร์ตผ่านโลกเสมือนได้ หรือบางครั้งศิลปินจะได้ไอเดียในการโปรโมทเพลงที่น่าสนใจ เช่น การสร้างสรรค์ท่อนเพลงสั้นๆโปรโมทผ่านอินสตาแกรม (Instagram) หรือการทำเป็นชาเลนจ์ในแอพพลิเคชั่น ติ๊กตอก (TikTok) ที่จะกลายเป็นกระแสไวรัลจนติดเทรนด์ ซึ่งจะก่อให้เกิดความหลากหลายขึ้นอย่างมหาศาลในวงการเพลงไทย
ด้วยเหตุนี้ แพลตฟอร์ม และแอพพลิเคชั่น “ฟังใจ (Fungjai)” จึงถูกวางโพสิชันให้เป็นพื้นที่ทางดนตรีที่มีความหลากหลายสูง ด้วยระบบ Music Streaming ออนไลน์สำหรับดนตรีนอกกระแสรายแรกของเมืองไทย ที่รวบรวมดนตรีของศิลปินและค่ายเพลงโดยไม่จำกัดค่ายไม่จำกัดแนวจากทั่วประเทศไทย ให้ทุกคนได้ฟังผ่านเว็บไซต์และโมบายแอพพลิเคชั่นโดยผู้ฟังเป็นผู้เลือกและตัดสินใจฟังด้วยตัวเอง ผลงานเพลงมีสิทธิ์ถูกค้นพบเท่าๆ กัน ไม่ว่าจะค่ายเล็ก ค่ายใหญ่ หรือศิลปินอิสระ ผู้ฟังเท่านั้นที่มีอำนาจประชาธิปไตยในการเลือกฟังโดยสมบูรณ์ ปัจจุบันฟังใจมีเพลงกว่า 16,000 เพลง จาก 5,711 ศิลปิน มีผู้เข้าเยี่ยมชมเฉลี่ยเดือนละ 2 ล้านครั้งต่อเดือน