'เกาหลีใต้' ปราบ 'โควิด-19' อย่างไรถึง เอาอยู่!
ถอดบทเรียน "เกาหลีใต้" ควบคุมการแพร่ระบาด "โควิด-19" ได้อย่างไร หลังเผชิญภาวะ super spreader จากผู้ป่วยหญิงวัย 61 มีผู้ป่วยสะสมกว่า 5 พันคน จนล่าสุดผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดเหลือหลักสิบ และน่าจะลดเหลือเลขตัวเดียวในเร็วๆ นี้
นักวิจัยวิเคราะห์ปัจจัยความสำเร็จ เกาหลีใต้ ควบคุมโรคระบาด โควิด-19 ระบุเรียนรู้จากความผิดพลาดกรณีรับมือโรคเมอร์สล่าช้าเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เผยยกระดับการป้องกันเข้าสู่ชั้นสูงสุดทันที เตรียมพร้อมอุปกรณ์ทางการแพทย์เสริมศักยภาพโรงพยาบาลรองรับผู้ป่วยโรคติดต่อรุนแรง พร้อมทั้งดำเนินมาตรการเชิงรุกพัฒนาเทสต์คิตตรวจคัดกรองฟรีประชาชนจำนวนมากตั้งแต่ไม่ปรากฏอาการ ม.นเรศวรชี้ไทยตั้งรับล่าช้าเหตุเป็นประสบการณ์ครั้งแรกของประเทศ ซ้ำด้วยข้อจำกัดของเทคนิคพีซีอาร์ตรวจหาเชื้อ ส่งผลการคัดกรองไม่ทั่วถึง
นางสาวขวัญแก้ว วงษ์เจริญ อาจารย์ประจำสาขาการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร หรือ มน. นำเสนอผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยนเรศวร เปิดเผยว่า รัฐบาลเกาหลีใต้ประสบความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องมีมาตรการปิดประเทศ และกลายเป็นกรณีศึกษาของอีกหลายๆ ประเทศในเวลาต่อมา โดยจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่มีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ ล่าสุดในช่วง 4-5 วันที่ผ่านมา ตัวเลขอยู่หลัก 20 ต้นๆ ต่อวัน คาดว่าจะเหลือเลขตัวเดียวในเร็วๆ นี้หากไม่มีเหตุสุดวิสัยเกิดขึ้น
- 3 ปัจจัยความสำเร็จเกาหลีใต้
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 18 ก.พ.ที่ผ่านมา เกิดกรณีที่ถือว่าเป็น super spreader จากผู้ป่วยหญิงรายที่ 31 ของประเทศ ต่อมาในระยะเวลาเพียง 10 วัน ยอดผู้ป่วยสะสมเพิ่มขึ้นถึงกว่า 5,000 คน โดยมีรายงานอย่างเป็นทางการว่า ในช่วงที่แย่ที่สุดของเดือน ก.พ. มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มกว่า 900 คนต่อวัน
ทั้งนี้ ความสำเร็จของเกาหลีใต้เกิดจากปัจจัยหลัก 3 อย่าง คือ
- การสุ่มตรวจประชาชนจำนวนมากโดยไม่จำกัดว่าจะต้องมีอาการ หรือมีความเสี่ยงในการสัมผัสโรคหรือไม่
- การทำระบบติดตามผู้ติดเชื้ออย่างเคร่งครัดโดยใช้แอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ รวมทั้งระบบกักกันผู้ที่สัมผัสผู้ติดเชื้อ
- การเตรียมความพร้อมของรัฐและประชาชนกรณีเกิดโรคระบาดร้ายแรงในประเทศ
เมื่อ 2 ปีที่แล้ว เกาหลีใต้ เผชิญโรคระบาดรุนแรงครั้งใหญ่ที่ชื่อว่า เมอร์ส (MERS) ครั้งนั้นมีการจัดการที่ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง มีผู้ติดเชื้อสูงถึง 136 คน เสียชีวิต 38 คน และเป็นผลทำให้องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ระบุว่า เป็นประเทศเดียวนอกเขตตะวันออกกลางที่มีอัตราการติดเชื้อสูงพิเศษ แต่รัฐบาลเกาหลีในตอนนั้นถือว่าเป็นประสบการณ์ที่เจ็บแล้วต้องจำ และจะไม่ยอมให้ประเทศเข้าสู่สถานการณ์แบบนั้นอีก จึงเป็นที่มาให้เกิดการปฏิรูประบบการจัดการโรคติดต่อทางระบบหายใจครั้งใหญ่
โดยมีการทำแนวทางการผลิตอุปกรณ์ตรวจเชื้อโรค เพิ่มจำนวนอุปกรณ์ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อในโรงพยาบาล สร้างหอผู้ป่วยสำหรับโรคติดเชื้อ และห้องควบคุมแรงดันลบเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อในโรงพยาบาลต่างๆ มีการให้ความรู้ประชาชน การจัดโครงการรณรงค์เพื่อทดสอบว่าประชาชนมีความรู้และทักษะในการป้องกันตัวเองจากโรคติดต่อแค่ไหน เรียกว่า มีความพร้อมตั้งแต่อยู่ในมุ้ง
- เรียนรู้วิธีรับมือจากโรคเมอร์ส
“ตอนที่ประเทศจีนประกาศการระบาดของไวรัสโคโรนาเป็นครั้งแรก ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคติดต่อของเกาหลีก็สั่งการทดลองและผลิตชุดทดสอบเชื้อไวรัสโคโรนาก่อโรคโควิด-19 ของตัวเองเรียบร้อยแล้ว เพราะเกาหลีใต้เชื่อว่าการใช้มาตรการกักกันผู้ที่มีความเสี่ยงและผู้ติดเชื้ออย่างจีน ถึงแม้จะช่วยควบคุมการแพร่กระจายของโรคได้ แต่การระบุว่าคนไหนที่มีเชื้อไวรัสอยู่และทำการกักกันคนคนนั้นตั้งแต่แรก น่าจะเป็นวิธีการป้องกันการแพร่เชื้อที่มีประสิทธิภาพมากกว่า”
จึงเป็นที่มาของการสุ่มตรวจเชื้อเป็นวงกว้าง มีการจัดเต็นท์ตรวจโรคให้ประชาชนที่ขับรถผ่านไปมาสามารถแวะเข้าไปตรวจเชื้อได้เลยโดยที่ไม่ต้องเข้าไปในโรงพยาบาล และที่สำคัญไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจด้วย ประหยัดทั้งเวลา ลดการใช้อุปกรณ์ป้องกันโรคของเจ้าหน้าที่ ลดการแพร่กระจายเชื้อในโรงพยาบาล และยังเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนมาเข้ารับการตรวจโดยไม่ต้องกังวลถึงจำนวนเงินที่ต้องใช้ในการตรวจ ทำให้จนถึงวันที่ 19 มี.ค.ที่ผ่านมา สามารถตรวจคัดกรองโรคได้ถึงกว่า 307,000 คน ซึ่งเป็นสถิติการตรวจคัดกรองที่สูงที่สุดในโลกในขณะนี้
นางสาวขวัญแก้ว กล่าวอีกว่า ทุกคนที่ถูกตรวจจะถูกลงทะเบียนเข้าไปในฐานข้อมูลส่วนกลาง หากตรวจพบว่าได้รับเชื้อเข้าไปแล้ว จะต้องเข้ารับการตรวจซ้ำที่โรงพยาบาลทันที และหากใครที่มีผลตรวจเป็นบวก (ได้รับเชื้อไวรัส) แต่ไม่มีอาการเจ็บป่วยรุนแรงจนต้องเข้าโรงพยาบาล คนเหล่านี้จะถูกให้กักกันตัวเองที่บ้าน โดยมีเจ้าหน้าที่ของรัฐส่งอาหารและสิ่งของจำเป็นไปให้ถึงหน้าบ้านทุกวัน รวมทั้งยังมีแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือ “Corona 100m” ทำหน้าที่รายงานให้ประชาชนทราบว่าในระยะ 100 เมตรโดยรอบ มีผู้ติดเชื้ออยู่ในบริเวณนั้น เป็นการเตือนให้หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังบริเวณดังกล่าว จึงลดการสัมผัสเชื้อไวรัสได้
ประกอบกับประชาชนส่วนใหญ่เคยรับมือกับสถานการณ์โรคระบาดอย่างโรคเมอร์สมาแล้ว ดังนั้น แนวโน้มในการเชื่อฟังคำแนะนำของรัฐบาล และรับเอาวิธีการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ เช่น การใส่หน้ากากอนามัย การล้างมือ การไม่จับต้องสิ่งของที่คนส่วนใหญ่สัมผัสโดยไม่ระวัง การกักกันตนเองโดยการปิดโรงเรียน การทำงานจากบ้าน และการไม่อยู่รวมกันเพื่อสังสรรค์เป็นกลุ่มใหญ่ จึงกลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ของเกาหลีใต้ในยามที่เกิดสถานการณ์ของโควิด-19 ประชาชนส่วนใหญ่พร้อมใจกันปฏิบัติไปแล้ว
- เทคนิคพีซีอาร์ตรวจคัดกรองมีข้อจำกัด
นอกจากนี้ ขณะที่ประเทศไทยเน้นใช้เทคนิค RT-PCR ทำการตรวจคัดกรอง แต่เกาหลีใต้มองว่าเป็นวิธีที่ซับซ้อน ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญในการวิเคราะห์ผลตรวจภายในห้องแล็บที่มีอุปกรณ์เฉพาะ ทำให้มีห้องแล็บที่สามารถตรวจด้วยวิธีนี้ได้อยู่เพียงไม่กี่แห่งในไทย รวมทั้งสารที่ใช้ในการตรวจต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ ทำให้มีค่าใช้จ่ายในการตรวจที่แพงมาก เมื่อมีคนที่ต้องการตรวจหาเชื้อไวรัสเป็นจำนวนมากขึ้น ก็ทำให้เกิดภาวะคอขวด เพราะห้องแล็บไม่สามารถตรวจวิเคราะห์ผลได้ทันกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างล้นหลาม
“เทคนิค RT-PCR ก็ใช่ว่าจะให้ผลแน่นอน 100% เพราะหากเก็บสารคัดหลั่งจากตำแหน่งที่ไม่เหมาะสม ไม่สัมพันธ์กับโรค หรือระหว่างขนส่งสารคัดหลั่งเหล่านี้ไปยังห้องแล็บด้วยวิธีที่ไม่ได้มาตรฐาน ก็สามารถทำให้เกิดความผิดพลาดในการอ่านผลได้ มีการศึกษาที่บอกว่าวิธี RT-PCR มีความแม่นยำ 66-80% เท่านั้น นั่นหมายความว่า อาจมีคนมากถึง 34% ที่ผลตรวจบอกว่าไม่ติดเชื้อ แต่จริงๆ อาจได้รับเชื้อไปแล้วก็ได้”
ในขณะที่เกาหลีใต้พัฒนาการตรวจสารภูมิคุ้มกันโดยใช้เลือดที่เจาะจากปลายนิ้ว โดยมีหลักการคือ เมื่อร่างกายได้รับเชื้อไวรัสก็จะสร้างสารภูมิคุ้มกันซึ่งเป็นโปรตีนชื่อ IgM หากใครได้รับเชื้อเข้ามาในร่างกายในระยะแรกก็จะตรวจเจอ IgM นี้ และถ้าใครที่เคยได้รับเชื้อนี้มาแล้ว แต่ปัจจุบันหายแล้ว และร่างกายก็สร้างภูมิต้านทานต่อเชื้อนี้ได้ ก็จะตรวจเจอสารภูมิคุ้มกันที่ชื่อว่า IgG การตรวจนี้สามารถรู้ผลอย่างรวดเร็ว หรือประมาณ 30 นาที สามารถทำได้โดยไม่ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญ
รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขของ เกาหลีใต้ บอกว่า วิธีนี้มีความแม่นยำสูงกว่า 90% เพราะชุดตรวจนี้ผลิตขึ้นในประเทศ ทำให้รัฐสามารถทำการตรวจให้แก่ประชาชนได้ฟรี แม้ว่าจะยังไม่มีอาการเลยก็ตาม ในขณะที่ประเทศไทย ถ้าใครไม่มีอาการ และไม่เป็นกลุ่มเสี่ยง โควิด-19 ก็ต้องเสียเงินหลายพันบาทเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการตรวจเอง
“แม้การตรวจนี้แบบรู้ผลเร็วนี้จะไม่สมบูรณ์ที่สุด และใครที่ตรวจพบว่ามีการสร้างสารภูมิคุ้มกันขึ้นแล้วจะต้องเข้ารับการตรวจ RT-PCR ซ้ำอีกครั้ง แต่จุดเด่นของการตรวจเชิงรุกแบบนี้ก็ทำให้คนที่มีความเสี่ยงในการแพร่เชื้อได้รับรู้สถานะของตน ก็จะยิ่งให้ความร่วมมือ รวมทั้งปฏิบัติตามวิธีต่างๆ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อให้กับผู้อื่น เป็นการคืนพลังอำนาจให้แก่คนๆ นั้นโดยที่ไม่ต้องอาศัยมาตรการ หรือบทลงโทษจากรัฐมากนัก”
- ไทยประสบการณ์ด้านโรคระบาดครั้งแรก
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยเพิ่งเคยมีประสบการณ์ด้านโรคระบาดใหญ่เป็นครั้งแรก ก็ต้องยอมรับว่าทั้งภาครัฐและประชาชนมีความพร้อมในการรับมือที่ช้ากว่าเกาหลีใต้อยู่มาก รวมทั้งประชาชนบางส่วนก็ยังไม่เห็นถึงความร้ายแรงและผลกระทบที่อาจตามมาจากไวรัสนี้ จึงยังไม่มีทั้งระบบการติดตามผู้ติดเชื้อที่เคร่งครัด ทั้งยังไม่สามารถจูงใจให้ประชาชนบางส่วนให้ความร่วมมือกับการปฏิบัติตามแนวทางการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อได้อย่างเต็มที่
"เราคงต้องยอมรับว่าการเผชิญสถานการณ์โควิด-19 นี้เป็นเรื่องใหม่ของทุกฝ่าย ประเทศไทยคงต้องทดลองวิธีการรับมือแบบต่างๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งวิธีที่เหมาะสมกับลักษณะบ้านเมืองของเรามากที่ สิ่งที่เราทุกคนพอจะทำได้ ก็คือการไม่ตื่นตระหนก ปฏิบัติตามแนวทางการรักษาระยะห่างทางสังคม และกักกันตัวเองเมื่อมีอาการคล้ายไข้หวัดเกิดขึ้น สิ่งเล็กๆ เหล่านี้จะช่วยเป็นส่วนหนึ่งในการต่อสู้กับเจ้าไวรัสตัวร้ายนี้ได้ และที่สำคัญโปรดอย่าลืมว่าโควิด-19 เป็นปัญหาที่เราทุกคนเผชิญร่วมกัน ดังนั้น การให้ความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจผู้ติดเชื้อและผู้ที่ได้รับผลกระทบข้างต้น ถือเป็นสิ่งเล็กๆ ที่พอจะทำได้ เพื่อรอเวลาให้วิกฤตการณ์ครั้งนี้ผ่านพ้นไปด้วยกัน” นางสาวขวัญแก้ว กล่าว