วิจัยหาโควิดใน 'น้ำโสโครก' บ่งชี้การระบาดในพื้นที่

วิจัยหาโควิดใน 'น้ำโสโครก' บ่งชี้การระบาดในพื้นที่

สกสว.เสนอแนวทางใหม่ประเมินการแพร่ระบาดโควิด-19 ในพื้นที่และจำนวนผู้ติดเชื้อแต่ละชุมชน อ้างอิงนักวิจัยทั่วโลกมากกว่า12 กลุ่มสนใจวิเคราะห์หาเชื้อไวรัสก่อโรคในน้ำเสียครัวเรือน นักวิจัยจุฬาฯ-ม.นเรศวรเห็นตรงเหมาะใช้เฝ้าติดตามหลังมาตรการเว้นระยะห่างลดระดับ

ตรวจหาโควิดในน้ำโสโครก

จุฑาทิพ บุญสมบัติ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ นักวิจัยโครงการสนับสนุนข้อมูลวิจัยเชิงลึกด้านเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า จากการศึกษารวบรวมข้อมูลจากวารสารวิจัยนานาชาติ พบว่า ปัจจุบันมีนักวิจัยทั่วโลกมากกว่า 12 กลุ่ม เริ่มศึกษาการวิเคราะห์น้ำเสียที่ถูกปล่อยทิ้งจากครัวเรือน เพื่อตรวจหาไวรัสโคโรนา ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีการประมาณการจำนวนผู้ติดเชื้อในแต่ละชุมชน และมีความแม่นยำกว่าการทดสอบด้วยชุดทดสอบทางคลินิก เพราะการใช้น้ำเสียจะรวมผลจากคนที่ไม่ได้ตรวจเชื้อและมีอาการเล็กน้อยหรือไม่มีอาการเข้ามาด้วย

158756145869

ตัวอย่างเช่น กลุ่มวิจัยของ de Roda Husman นักวิจัยด้านโรคติดเชื้อ สถาบันสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้ตรวจพบเชื้อโควิด-19 ในปริมาณเล็กน้อยในน้ำเสียจากสนามบิน Schiphol ในเมือง Tilburg ในเวลาเพียง 4 วัน หลังจากที่ทางการเนเธอร์แลนด์ยืนยันผู้ติดเชื้อรายแรกจากวิธีการตรวจเชื้อทางคลินิก ปัจจุบันกลุ่มวิจัย de Roda Husman มีแผนที่จะขยายการตรวจสอบไปยังเมืองใหญ่ทั้ง 12 จังหวัดในประเทศ รวมถึงอีก 12 แห่งที่ยังไม่มีการยืนยันผู้ป่วยติดเชื้อ

ข้อดีของวิธีการประเมินการระบาดของโควิด-19 จากน้ำเสียครัวเรือน คือ หากมาตรการ social distance ที่มีอยู่ในปัจจุบันลดระดับความเข้มงวดลง ก็มีโอกาสกลับมาของการระบาด ดังนั้น การเฝ้าติดตามด้วยการวิเคราะห์น้ำเสีย จึงเป็นวิธีการที่ช่วยในการเฝ้าระวังและเพื่อเตือนภัยในกรณีที่โควิด-19 กลับมาระบาดในชุมชน เนื่องจากไวรัสโควิด-19 จะปรากฏในอุจจาระภายใน 3 วันหลังติดเชื้อ ซึ่งเป็นเวลาที่เร็วกว่าเวลาที่กว่าผู้ติดเชื้อจะแสดงอาการเข้าข่ายต้องสงสัยแล้วไปรับการการตรวจหาเชื้อทางคลินิค

ดังนั้น การเฝ้าติดตามด้วยการวิเคราะห์น้ำเสีย จึงเป็นวิธีการที่ช่วยบ่งชี้สถานการณ์ได้เร็ว ทำให้การออกมาตรการอื่นๆ เพิ่มเติมทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น การระบุได้อย่างรวดเร็วว่ามีผู้ติดเชื้อในชุมชน จะช่วยจำกัดความเสียหายจากการระบาดได้มาก โดยเฉพาะหากมีการระบาดกลับมาในอนาคตข้างหน้า วิธีการนี้ยังสามารถช่วยในการประเมินประสิทธิภาพของมาตรการต่างๆ ที่มีในช่วงของการระบาดได้ด้วย 

วิจัยช่วยเปิดเมืองเร็วขึ้น

ด้าน ผศ.ธนพล เพ็ญรัตน์ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) กล่าวว่า การตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัสโคโรนาในน้ำโสโครกหรือน้ำเสียของสิ่งปฏิกูลจากมนุษย์ ได้แก่ อุจจาระหรือปัสสาวะ เพื่อทำการคัดกรองจะทำให้สามารถตรวจการติดเชื้อโดยไม่ต้องตรวจประชากรให้ครบทุกคน อีกทั้งประหยัดงบประมาณและเวลาอย่างมากมาย

158756148517

“วันๆ หนึ่ง คนเราขับถ่ายอุจจาระเฉลี่ยประมาณ 128 กรัมต่อคน มีน้ำเสียจากสุขาที่รวมกิจกรรมชำระล้างการขับถ่ายอีกประมาณ 25-50 ลิตรต่อคนต่อวัน ผู้ติดเชื้อนั้นมีรายงานว่ามีสารพันธุกรรมของไวรัสโคโรนาสูงตั้งแต่ 6.30 แสน-30 ล้านก๊อปปี้ต่อมิลลิลิตรของอุจจาระ งานวิจัยจากสหรัฐตรวจเจอได้ต่ำที่สุดคือ 10 ก๊อปปี้ต่อมิลลิลิตรของน้ำเสีย"

158756152599

นักวิจัยระบุว่า สามารถใช้เทคนิคการเก็บตัวอย่างน้ำแบบผสมรวมในการเก็บตัวอย่างน้ำเสียที่เป็นตัวแทนของคน 1,000 คนได้ เช่น ถ้ามีคอนโด 200 ห้อง ผู้อยู่อาศัย 400 คน ให้เก็บตัวอย่างน้ำโสโครกรวมของคอนโดนั้นๆ มาผสมกับคอนโดอื่นในบริเวณข้างเคียง ทยอยตรวจไปทีละโซนทีละพื้นที่ หรือหากมีจุดที่มีน้ำเสียรวมของตำบลหนึ่งไหลมารวมกันก็เก็บตรงจุดนั้นเป็นตัวแทนของตำบลนั้นได้ หากตรวจแล้วพบก็สืบหากันต่อไป โดยอาจจะต้องแยกตรวจน้ำเสียรายตึก รายคอนโด หรือโซนของหมู่บ้าน จะทำให้เข้าถึงตัวผู้ติดเชื้อได้เร็วขึ้น

158756153863

ด้วยเหตุนี้จังหวัดที่มีการล็อกดาวน์จนไม่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มมาระยะหนึ่งแล้วการตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัสโคโรนาในน้ำโสโครกอาจช่วยให้เราเปิดเมืองได้เร็วขึ้น ทั้งยังช่วยให้เฝ้าระวังการกลับมาของไวรัสด้วยหลักการและตรรกะแนวคิดเดียวกัน การตรวจน้ำเสียในโรงพยาบาลหรือโรงแรมที่มีขาจรจากต่างจังหวัดเข้ามาพักหลังเปิดเมือง จะทำให้เราเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงได้ ในทำนองเดียวกันการตรวจน้ำโสโครกจากห้องน้ำในสนามบิน หรือแม้แต่จากห้องน้ำของเครื่องบินเองก็จะช่วยเฝ้าระวังได้อีกทางหนึ่ง นอกเหนือจากการวัดอุณหภูมิแบบปัจจุบัน”