'กาแฟอัยเยอร์เวง' ปรับภาพลักษณ์ใหม่
'กาแฟอัยเยอร์เวง' คุณภาพเยี่ยมจากป่าชุมชน คั่วด้วยกรรมวิธีที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นมากว่า 100 ปี รุกหน้าใช้ช่วงเวลาวิกฤติโควิดสร้างสรรค์มูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า ปรับโฉมภาพลักษณ์บรรจุภัณฑ์ 'เปลี่ยนสีซอง-ปรับรูปแบบฉลาก' ดึงดูดผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น
ปฏิเสธไม่ได้ว่าวิกฤติโควิด! ที่เริ่มต้นตั้งแต่เดือน ม.ค.จนถึงการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงในเดือน มี.ค. ส่งผลให้ทุกภาคส่วนได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เคยทำรายได้เข้าประเทศประมาณ 3 ล้านล้านบาทในปีที่ผ่านมา (รวมนักท่องเที่ยวชาวไทย และชาวต่างประเทศ) หนุนตัวเลขจีดีพีให้ขยายตัวไม่ต่ำกว่า 3% แม้ว่าจะมีมาตรการผ่อนปรนบางประการในต้นเดือน พ.ค. แต่ก็ยังไม่มีใครกล้าฟันธงว่าวิกฤติโควิดจะจบลงเมื่อไร และวันไหนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะกลับมาหายใจได้ดีดังเดิม คำถามที่ตามมาคือ “ชุมชนท่องเที่ยวตามพื้นที่ต่างๆ ควรทำอะไรในช่วงนี้?”
ผมขอตอบในมุมมองของนักออกแบบว่า ช่วงเวลานี้เหมาะสมในการหันกลับมาดูผลิตภัณฑ์ชุมชนว่า มีจุดใดที่ควรปรับ บรรจุภัณฑ์ใดที่ควรนำมาพัฒนาเพื่อสร้าง “แบรนด์ชุมชนท่องเที่ยว” ให้มีภาพลักษณ์ที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ชุมชน แต่อย่าเพิ่งตกใจว่า เราจะต้องลงทุนมากมายนะครับ ผมมั่นใจว่า เราสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ และ บรรจุภัณฑ์โดยใช้งบประมาณที่สมเหตุสมผล เพื่อไม่เป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายในช่วงวิกฤติโควิดเช่นนี้
วันนี้ผมขอนำตัวอย่างการปรับภาพลักษณ์บรรจุภัณฑ์กาแฟอัยเยอร์เวง อ.เบตง จ.ยะลา ที่ผมมีโอกาสไปพัฒนาผ่านรายการคาราวาน สำราญใจ จากการลงพื้นที่ และพูดคุยกับ คุณมาลีกี เจ๊ะบู ประธานกลุ่มกาแฟอัยเยอร์เวงพบว่า เรื่องราวของแบรนด์คือ “กาแฟอัยเยอร์เวงผลิตจากเมล็ดกาแฟโรบัสต้าคุณภาพเยี่ยมจากป่าชุมชน คั่วด้วยกรรมวิธีที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นมากว่า 100 ปี” ในส่วนของบรรจุภัณฑ์ คุณมาลีกีเลือกใช้ถุงซิปล็อกแบบฟอยล์ ส่วนฉลากก็เป็นสติกเกอร์ติดทับบนซองอีกที ดังนั้น โจทย์ของการทำงานคือ เราจะใช้กระบวนการผลิต และการบรรจุแบบเดิมทั้งหมดเพื่อให้ชุมชนสามารถทำงานได้ง่าย
ในส่วนของการออกแบบ ผมได้นำเสนอแนวทางดังนี้ 1.ตราสัญลักษณ์ ปรับรูปแบบจากเดิมที่อ่านยากให้มีความชัดเจนขึ้น โดยนำเมล็ดกาแฟมาแทนเครื่องหมายยติภังค์ (Hyphen) ขั้นกลางระหว่างตัวอักษร I และ YERWENG ตามรูปแบบการสะกดชื่อเมืองที่ถูกต้อง (I-YERWENG) และใช้ตัวอักษรประเภท Serif แบบโบราณ มีความหนาบางของเส้นเพื่อสื่อถึงความเก่าแก่ของผลิตภัณฑ์ที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นมากว่า 100 ปี
2. คู่สีที่เลือกใช้ นำจุดเด่นของกาแฟอัยเยอร์เวง มาเป็นคู่สีหลักของงานออกแบบ สีแดงหมายถึงกาแฟคั่วแบบดั้งเดิม และสีเขียวหมายถึงกาแฟคั่วเคลือบผิวด้วยน้ำตาลแว่น ในขณะที่สีดำสื่อถึงสีของเครื่องดื่มกาแฟ 3. ลายเส้นภาพวาดของใบกาแฟ และเมล็ดกาแฟ เป็นลักษณะการวาดด้วยมือเพื่อสื่อถึงการคั่วมือด้วยกรรมวิธีที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น 4. เครื่องหมายการันตี ใส่ภาพครกโบราณการันตีรูปแบบการบดแบบดั้งเดิม
นอกจาก 4 หัวข้อที่เป็นองค์ประกอบหลักของบรรจุภัณฑ์แล้ว ผมยังเพิ่มสติกเกอร์อีกหนึ่งชิ้นเพื่อแบ่งประเภทผลิตภัณฑ์ให้เข้าใจง่าย เช่น กาแฟคั่วแบบดั้งเดิมพร้อมภาพเมล็ดกาแฟ, กาแฟแบบซองชาพร้อมภาพซองกาแฟ, กาแฟดริปแบบซองพร้อมภาพถ้วยกาแฟและซองดริป เป็นต้น เป็นการสื่อสารผ่านภาพเพื่อให้ผู้ขาย และผู้ซื้อเข้าใจง่าย ไม่หยิบสินค้าผิด และท้ายที่สุดกับการออกแบบกระดาษล็อกปากแก้วกาแฟแบบซองชา ให้เป็นรูปภูเขาและก้อนเมฆ เวลารินน้ำร้อนใส่แก้วกาแฟ ควันที่ลอยขึ้นมาจากแก้วจะคล้ายกับหมอกที่ลอยอยู่ในเทือกเขาไมโครเวฟ เป็นการตอกย้ำถึงจุดท่องเที่ยวที่สำคัญของอัยเยอร์เวง
ทั้งหมดนี้เป็นการปรับรูปแบบบรรจุภัณฑ์โดยใช้รูปแบบการผลิตแบบเดิมทั้งหมด ทีมงานปรับเปลี่ยนเพียงแค่สีของซองกาแฟ และรูปแบบฉลากเท่านั้น โดยใช้ต้นทุนการผลิตที่ไม่แตกต่างจากรูปแบบเดิมมากนัก คุณมาลีกีเจ้าของแบรนด์ กล่าวว่า บรรจุภัณฑ์ที่ปรับปรุงใหม่ทำให้ผู้บริโภคเห็นคุณค่าของกาแฟอัยเยอร์เวงผ่านเรื่องราวที่เขียนไว้บนฉลาก ชื่อแบรนด์เด่นชัดอ่านง่าย งาน Corporate Identity บนบรรจุภัณฑ์ทำให้เวลาวางขายสินค้ามีพลังมากขึ้น เป็นการสร้างคุณค่า และมูลค่าเพิ่มให้กับกาแฟอัยเยอร์เวงได้อย่างตรงจุด
อย่าลืมนะครับ ใช้ช่วงเวลานี้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์เพื่อรอต้อนรับนักท่องเที่ยวที่กำลังกลับมาหลังวิกฤติโควิดกันครับ