KBTG เชื่อมสมาร์ทวอทช์ส่งแอพวัดไข้-แผนที่ชี้พิกัดพื้นที่เสี่ยง COVID
KBTG พัฒนาแอพเช็คเสี่ยงโควิดเบื้องต้นและแผนที่ระบุจำนวนผู้มีไข้ อ้างอิงโครงการวิจัยของสถาบันการแพทย์สหรัฐประยุกต์ใช้ประโยชน์จากข้อมูลตรวจวัดสุขภาพเบื้องต้นบนสมาร์ทวอทช์ที่จัดเก็บบนคลาวด์ เผยช่วยคัดกรองผู้มีความเสี่ยง แบ่งเบาภาระเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์
นายภาคย์ อรัญวัฒน์ ผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์นวัตกรรม บริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป หรือ KBTG เปิดเผยว่า ประเทศไทยเป็นอีกประเทศหนึ่งที่กำลังเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 และคาดว่าจะคงอยู่ไปอีกระยะใหญ่ อย่างน้อยคือถึงปีหน้า จึงจำเป็นต้องมีเครื่องมือที่เข้ามาช่วยคัดกรองผู้มีความเสี่ยง เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ ตลอดจนทำให้สามารถเร่งรัดฟื้นฟูการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพให้กลับมาโดยเร็ว จึงได้พัฒนาไลน์บอทชื่อ “ป่วยมั้ยนะ” ประเมินความเสี่ยงการติดเชื้อด้วยตัวเองโดยอาศัยข้อมูลสุขภาพจากสมาร์ทวอทช์ที่สวมใส่
“ฟิตบิท”วิเคราะห์อาการเสี่ยงมีไข้
KBTG โดย กลุ่มโคอาล่า แล็บ (Koala Lab) ทำการศึกษาพัฒนาต่อยอดมาจากโครงการศึกษาวิจัยสมาร์ทวอทช์และอุปกรณ์สวมใส่ต่างๆ ของสถาบันวิจัยทางการแพทย์ Scripps Research Translational Institute ที่ทำร่วมกับบริษัท ฟิตบิท (Fitbit) จำกัด ผู้ผลิตสมาร์ทวอทช์ ทำให้เห็นข้อมูลที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ผลการวิจัยแสดงให้เห็นถึงการที่หน่วยงานภาครัฐสามารถได้รับข้อมูลการระบาดของไข้หวัดใหญ่ในอเมริกาได้ทันที แทนที่จะต้องรอผลจากโรงพยาบาลทั่วประเทศซึ่งมีความล่าช้า 1-3 สัปดาห์ โดยการนำข้อมูลของผู้ใช้งานที่สวมใส่สมาร์ทวอทช์ มาทำเป็นแผนที่ของการระบาดไข้หวัดใหญ่ ทั้งยังมีงานวิจัยของสถาบันวิจัยการแพทย์สแตนฟอร์ดที่ทำร่วมกับฟิตบิท ในการพัฒนาอัลกอริทึมสำหรับตรวจจับการติดเชื้อไวรัสโคโรนาผ่านอุปกรณ์สวมใส่หรือสมาร์ทวอทช์
“เรานำมาประยุกต์ใช้โดยสร้างเครื่องมือสำหรับคนที่มีสมาร์ทวอทช์ ที่เป็นในรูปแบบของการใช้งานบนแอพพลิเคชั่นโดยแอดไลน์ @KoalaLab เชื่อมต่อกับสมาร์ทวอทช์ทั้งการ์มิน (Garmin) และฟิตบิท ก็สามารถตรวจสอบได้ทันทีว่า ผู้ใช้มีท่าทีจะเป็น “ไข้” หรือไม่ โดยพิจารณาจากข้อมูลการนอนหลับและอัตราการเต้นของหัวใจขณะพัก หรือ RHR (Resting Heart Rate) ว่าปกติหรือไม่ ถ้าพบค่าสูงกว่าปกติแสดงว่าร่างกายทำงานไม่ปกติ ซึ่งรวมถึงว่าอาจจะมีความเสี่ยงที่เริ่มจะเป็นไข้ เนื่องจากอาการไข้เป็นอาการเริ่มต้นของผู้ติดเชื้อโดยส่วนใหญ่ (อ้างอิงจากองค์การอนามัยโลก) ก็จะมีคำแนะนำให้ปรึกษาแพทย์โดยทันที อีกทั้งนำเสนอวิธีใช้งานไลน์บอทนี้ในเฟซบุ๊ค Koala Lab”
ทั้งนี้ KBTG อยู่เบื้องหลังการพัฒนาแอพพลิเคชั่นและซอฟต์แวร์ต่างๆ รวมกว่า 500 แอพฯ ให้กับธนาคารกสิกร มีพนักงานราว 2,000 คน ทั้งยังมีภาพลักษณ์ของการเป็นองค์กรนวัตกรรมที่โดดเด่น
รู้พิกัดเสี่ยงแบบเรียลไทม์
นายภาคย์ กล่าวอีกว่า ไลน์บอทป่วยมั้ยนะยังมีฟีเจอร์ RHR Flu Map คือการจำลองแผนที่การระบาดของไข้หวัดผ่าน crowdsource ข้อมูลของคนไทยที่ใส่สมาร์ทวอทช์โดยนำข้อมูลอัตราการเต้นของหัวใจขณะพัก มาคำนวณหาความเป็นไปได้ที่ผู้สวมใส่นาฬิกาอาจเป็นไข้หวัดหรือกำลังมีไข้ แล้วแสดงพิกัดบนแผนที่ (www.koalalab.io) โดยไม่ระบุตัวตนและสามารถยุติการส่งข้อมูลได้ตลอดเวลา เพียงแค่ระบุพิกัดพื้นที่ตำบลหรือแขวงของที่อยู่อาศัยหรือที่ทำงาน จึงไม่ได้เป็นการปักหมุดที่ชี้ชัดตำแหน่งอย่างชัดเจน และจะไม่เป็นการแชร์ตำแหน่งที่อยู่จริงๆ ทั้งนี้ การออกแบบเครื่องมือติดตามเชิงพื้นที่ในลักษณะนี้ จำเป็นต้องตระหนักถึง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
“แผนที่ดังกล่าวนี้จะสำเร็จได้นั้นจำเป็นต้องอาศัยความช่วยเหลือของทุกคน เพื่อสร้างโอเพ่นดาต้าให้หน่วยงานทางสาธารณสุขใช้เฝ้าระวัง และออกมาตรการลดการระบาดของโควิด-19 ภายในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงนำไปวิจัย ต่อยอดทางการแพทย์ โดยแผนที่นี้จะเป็นอีกเครื่องมือที่ช่วยหน่วยงานทางด้านสาธารณสุขรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ดียิ่งขึ้น”
สำหรับข้อมูลทั้งหมดจะถูกเก็บไว้เป็นความลับและถูกนำมาวิเคราะห์แบบไม่ระบุตัวตน ไม่นำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ แต่จะเปิดให้เฉพาะหน่วยงานหรือองค์กรที่สนใจนำข้อมูลมาแก้ปัญหาด้านสาธารณสุขเท่านั้น ปัจจุบันมีจำนวนผู้ใช้งานกว่า 200 ราย คาดว่าวิกฤติโควิดทำให้เริ่มเห็นงานในลักษณะนี้มากขึ้น ทั้งจากสมาร์ทวอทช์และ smart ring จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นของเทรนด์การติดตามและสังเกตการณ์สุขภาพผ่านสมาร์ทดีไวซ์ต่างๆ มากยิ่งขึ้น