‘โลจิสติกส์' รื้อกลยุทธ์ ส่อง 3 รายใหญ่ดึงเทค หนุนชิงผู้นำ
โควิด19-ช้อปออนไลน์’ สร้างปรากฏการณ์ ดัน 3 รายใหญ่ ปรับแผนยกระดับบริการ ปณท เคอรี่ ดีเอชแอล อีคอมเมิร์ซฯ ถอดบทเรียน ‘โควิด’ ทุ่มลงทุนเทคฯ กระจายศูนย์ส่ง ผุดโมบายแอพสู้
‘ธุรกิจขนส่งพัสดุด่วน’ สะพัด หนุนอุตฯ โลจิสติกส์แข่งเดือด ‘อีไอซี’ ชี้ตลาดปี 63 พุ่ง 35% หนุนตลาดโต 6.6 หมื่นล้าน ยอดขนส่งทะลุ 4 ล้านชิ้นต่อวัน ‘โควิด19-ช้อปออนไลน์’ สร้างปรากฏการณ์ ดันพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนสั่งของผ่านเน็ตล้น ผู้ค้าปรับแผนมุ่งสู่ออมนิแชนนัล จุดพลุ ‘นิว นอร์มอล’ โลกการค้า จับตารายใหญ่ขนส่งพัสดุด่วนได้อานิสงส์ ‘ปณท เคอรี่ ดีเอชแอลฯ พลิกกลยุทธ์ ทุ่มดึงเทคฯ ยกระดับบริการ เร่งกระจายศูนย์ขนส่งคลุมทุกตารางนิ้ว
ศูนย์วิจัยอีไอซี ของธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์ธุรกิจขนส่งพัสดุในปี 2563 มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องท่ามกลางการแข่งขันที่เข้มข้นจากแรงกดดันด้านราคา คาดว่า จะเติบโตราว 35% ปีต่อปี เป็น 6.6 หมื่นล้านบาท จากการขยายตัวของตลาดอีคอมเมิร์ซ ตามพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมาซื้อขายสินค้าผ่านออนไลน์ แพลตฟอร์มมากขึ้น ส่งผลให้ยอดจัดส่งพัสดุโดยรวมมีแนวโน้มสูงขึ้นเป็นกว่า 4 ล้านชิ้นต่อวัน
อีไอซีประเมินว่า การเติบโตที่สูงต่อเนื่อง ดึงดูดผู้เล่นหน้าใหม่ โดยเฉพาะผู้เล่นรายใหญ่จากต่างประเทศ ส่งผลให้การแข่งขันด้านราคามีแนวโน้มรุนแรงขึ้น สะท้อนจากอัตราค่าบริการขนส่งพัสดุเริ่มต้นเฉลี่ยที่ 35 บาทต่อชิ้นช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ลดลงเป็น 19 บาทต่อชิ้นในปัจจุบัน
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการทั้งหมดต้องเผชิญการแข่งขันด้านคุณภาพการบริการ ความรวดเร็วการจัดส่งสินค้าที่เข้มข้นมากขึ้นด้วยที่ ขณะที่ ความท้าทายใหญ่ๆ ที่ผู้ประกอบการขนส่งพัสดุควรให้ความสำคัญเพื่อวางแผนธุรกิจในอนาคต คือ การลงทุนด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ ความต้องการบุคลากรด้านโลจิสติกส์ และกฎระเบียบข้อบังคับที่เปลี่ยนไป
อย่างไรก็ตาม ช่วงสถานการณ์ โควิด ที่เกิดขึ้น 1-2 เดือนที่ผ่านมา เป็นตัวแปรใหม่ และสำคัญมากในการดันยอดการส่งพัสดุด่วนเติบโตขึ้นหลายเท่าตัว มูลค่าตลาดอาจจะสะพัดมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้
ผู้ค้าปรับโมเดล-ผู้ส่งพลิกกลยุทธ์รับ
นายเกียรติชัย พิตรปรีชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดีเอชแอล อีคอมเมิร์ซ โซลูชั่นส์ (ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) บริษัทในเครือ Deutsche Post DHL Group ผู้นำธุรกิจโลจิสติกส์รายใหญ่ของโลก เปิดเผยกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ช่วงวิกฤติโควิด ภาพรวมการจัดส่งพัสดุมีการขยายตัวรวดเร็วมาก โดยเฉพาะตลาดออนไลน์ที่เติบโต เนื่องจากมาตรการรัฐในการป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นปัจจัยเร่งสำคัญทำให้คนมีความจำเป็นสั่งซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์ นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญอนาคตธุรกิจโลจิสติกส์
“ร้านค้าปลีกทั้งมีแบรนด์ และไม่มีแบรนด์ ได้ปรับรูปแบบสู่ออมนิแชนนัล รีเทลโมเดล ผู้ขายต้องเพิ่มช่องทางการจำหน่ายจากออฟไลน์ สู่ออนไลน์ ขณะที่ผู้ซื้อที่ไม่เคยซื้อของออนไลน์ เริ่มจับจ่ายผ่านออนไลน์มากขึ้น ทำให้ อีคอมเมิร์ซ อดอปชั่น เรท หรืออัตราการซื้อขายผ่านอีคอมเมิร์ซเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งก่อนเกิดวิกฤติโควิด การซื้อขายออนไลน์มียอดที่สูงอยู่แล้ว และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ปัจจัยสำคัญ คือ ความเคยชิน พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยน และมองว่าการซื้อของออนไลน์ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด ทำให้ทุกแบรนด์ ทุกผู้ประกอบการต้องปรับตัว เปิดช่องทางขายให้หลากหลายเพิ่มขึ้น ออมนิแชนนัล จะกลายเป็นความจำเป็น เป็น นิว นอร์มอล ของโลกการค้าขาย"
ขณะที่ ช่วงล็อกดาวน์ ได้เห็นความหลากหลายสินค้าที่ขายผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น สินค้าที่โดยปกติมักต้องซื้อผ่านทางหน้าร้านกลายเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมบนออนไลน์
กลยุทธ์ดีเอชแอล อีคอมเมิร์ซฯ ก่อนหน้านี้เติบโตในกลุ่มมาร์เก็ตเพลส แบรนด์สินค้า เน้นลูกค้าออนไลน์ตั้งแต่ขนาดกลางและใหญ่เป็นหลัก แต่ปีนี้จะมุ่งขยายฐานไปที่รายเล็ก รายย่อย เอสเอ็มอี ไมโครเอสเอ็มอี ทั้งในกรุงเทพฯ และในต่างจังหวัด รวมถึงบุคคลทั่วไปที่ต้องการส่งพัสดุแม้เพียง 1-2 ชิ้น ไปให้ผู้รับในประเทศ
ดีเอชแอลฯ ผุดแอพ-เพิ่มสาขาบริการ
“ไม่เกินกลางปีนี้ ดีเอชแอล อีคอมเมิร์ซฯ จะเปิดตัวโมบาย แอพ ให้ดาวน์โหลดบนมือถือ จากปัจจุบันเน้นใช้บริการผ่านหน้าเว็บเป็นหลัก โมบาย แอพ ใช้งานง่าย ไม่เสียเวลา นัดรับพัสดุได้ถึงหน้าบ้านลูกค้า ชำระค่าบริการผ่านออนไลน์ เพย์เม้นท์ อีกเทรนด์สำคัญสำหรับความเป็นแคชเลส โซไซตี้"
นอกจากนี้ ยังมีแผนขยายเครือข่ายร้านรับส่งพัสดุ ดีเอชแอล เซอร์วิสพอยท์ ในแบบ ฟูล ฟอร์แมต เจาะพื้นที่ทั่วประเทศ และเปิดให้ผู้ประกอบการที่สนใจร่วมลงทุน ซื้อแฟรนไชน์ภายใต้แบรนด์ดีเอชแอล ปัจจุบัน ดีเอชแอล อีคอมเมิร์ซฯ มีร้านรับส่งพัสดุในรูปแบบ shop-in-shop มากกว่า 700 สาขา ขณะที่ร้านรับส่งพัสดุ ดีเอชแอล เซอร์วิสพอยท์ รูปแบบใหม่จะเริ่มเปิดให้บริการ 17 สาขาแรกในเขตกรุงเทพ และปริมณฑลภายในเดือนพฤษภาคม และจะขยายไปในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศภายในสิ้นปีนี้
ปัจจุบัน ดีเอชแอล อีคอมเมิร์ซฯ มีศูนย์กระจายพัสดุทั่วประเทศ 135 แห่ง โดยพร้อมเดินแผนลงทุนเทคโนโลยี ในการยกระดับการบริการให้สะดวก รวดเร็ว และง่ายสำหรับลูกค้า
เคอรี่เพิ่มกำลังคน-ตั้งทีมพิเศษสู้
นายอเล็กซ์ อึ้ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) เปิดเผยกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ยอดจัดส่งพัสดุช่วงนี้เพิ่มสูงขึ้นกว่าช่วงปกติมาก ทำให้เคอรี่ต้องเพิ่มกำลังคนเพื่อรองรับความต้องการของลูกค้า และจัดตั้งทีมพิเศษขึ้นมาเพื่อบริหารจัดการในช่วงวิกฤต พร้อมจ้างงานเพิ่มอีกกว่า 1,000 อัตรา เข้ามาช่วยบริหารจัดการทั้งในฝ่ายปฏิบัติการ และคอล เซ็นเตอร์
ขณะที่ ภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบที่เห็นได้ชัดเจน คือ ธุรกิจการจัดการคลังสินค้า และธุรกิจการขนส่งระหว่างประเทศ เนื่องจากปริมาณการค้าระหว่างประเทศลดลงอย่างเห็นได้ชัด แต่ เขาเชื่อว่า จะฟื้นตัวอย่างรวดเร็วเมื่อสถานการณ์โควิดผ่านไป
"สำหรับการขนส่งพัสดุด่วนในไทย ช่วงโควิด-19 ความต้องการในตลาดได้เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก จากการมีมาตรการล็อกดาวน์และเคอร์ฟิว แต่เชื่อว่า ความต้องการที่เพิ่มขึ้นขณะนี้ เป็นแค่ความต้องการในระยะสั้น สุดท้ายคาดว่า ความต้องการของตลาดจะกลับมาปกติหลังโควิด-19 คลี่คลายลง"
นายอึ้ง กล่าวว่า เคอรี่ มีแผนลงทุนเพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะความต้องการของลูกค้าจะสูงสุดช่วงปลายปี ไตรมาสที่ 4 แต่ปีนี้เนื่องด้วยเหตุการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น ทำให้ความต้องการในการส่งพัสดุเพิ่ม จึงได้มีการอนุมัติงบพิเศษเพิ่มกำลังคน การขนส่งเพื่อรองรับความต้องการของลูกค้า
ปัจจุบัน เคอรี่ มีจุดบริการมากกว่า 16,000 จุด ศูนย์กระจายสินค้ามากกว่า 1200 แห่ง รถขนส่ง มากกว่า 25,000 คัน พนักงานกว่า 22,000 คน และมี ยอดการจัดส่งกว่า 1 ล้านชิ้น มีรายได้รวมเมื่อปี 2561 ราว 13,667 ล้านบาท
เคอรี่ เอ็กซ์เพรส เข้าสู่ตลาดขนส่งพัสดุด่วนในปี 2549 ด้วยภาพลักษณ์ที่ทันสมัย และบริการจัดส่งที่สะดวก รวดเร็ว การร่วมพันธมิตรค้าปลีกในเครือเซ็นทรัล รีเทล อย่าง แฟมิลี่มาร์ท บีทูเอส เป็นต้น ทำให้จุดรับพัสดุเคอรี่ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยปี 2561 เคอรี่ เอ็กซ์เพรสได้ขายหุ้นให้บริษัท วี จี ไอ โกลบอล มีเดีย จำกัด (มหาชน)ในเครือบีทีเอสกรุ๊ปในสัดส่วน 23% ทำให้เป็นแบรนด์เดียวในตลาดขนส่งพัสดุที่สามารถจัดส่งและเปิดจุดรับพัสดุผ่านรถไฟฟ้าและสถานีของบีทีเอสได้รวมถึงสามารถใช้แรบบิท ไลน์เพย์ ชำระบริการได้
ปณท เดินเกมรุกบริการทุกมิติ
นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) กล่าวว่า วิกฤติโควิดทำให้คนไทยต้องหลีกเลี่ยงการออกนอกบ้าน รวมถึงร้านค้าที่มีหน้าร้านต้องปิดชั่วคราว ส่งผลให้การซื้อขายสินค้าออนไลน์เติบโตขึ้นด้วยความรวดเร็ว ทำให้มีสิ่งของฝากส่งเข้าสู่เส้นทางไปรษณีย์เพิ่มขึ้นกว่า 60% จากปริมาณงานปกติ
ขณะที่ ยุทธศาสตร์ไปรษณีย์ไทยจากนี้ จะเน้นการทำงานให้ตรงกับพันธกิจของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) คือ การขับเคลื่อนตามดิจิทัล อีโคโนมี และ โซไซตี้ คือ ใช้ดิจิทัลขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และบริการทางสังคม ซึ่งปัจจุบันปณท ได้ให้บริการส่งยาโรคความดัน เบาหวาน จากโรงพยาบาล ไปยังร้านขายยา ตามนโยบายของรัฐที่อำนวยความสะดวกให้คนไข้สามารถไปรับยาตามร้านขายยาได้
“เรามีแผนธุรกิจ เพื่อให้มีรายได้และกำไรไม่ลดลงกว่านี้ ใช้เครื่องดิจิทัลเป็นแต้มต่อ แต่ต้องไม่ลืมว่าการให้บริการภาคสังคมเพื่อประชาชน บางบริการที่เอกชนไม่สามารถทำได้ ก็เป็นหน้าที่ของไปรษณีย์ไทยด้วย ต้องวางแผนว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้บริการกับประชาชนได้มากที่สุด"
นายก่อกิจ กล่าวว่า ปณท เป็นองค์กรที่ท้าทาย เพราะมีมิติการให้บริการภาคสังคม บางบริการต้นทุนไม่ได้ ส่งไกล แต่คิดแพงไม่ได้ เอกชนไม่ทำ แต่ ปณท ต้องทำ เพราะเป็นบริการสังคม ขณะที่ในด้านการแข่งขันมิติของการส่งพัสดุ ที่ต้องแข่งกับเอกชนก็ต้องวางแผนด้วย
รายได้ของ ปณท เมื่อปี 2562 อยู่ที่ 27,531 ล้านบาท ลดลง จากปี 2561 ที่มีรายได้รวม 29,728 ล้านบาท รายได้ที่ลดลงส่วนใหญ่เป็นรายได้ จดหมาย ไปรษณีย์บัตร ของตีพิมพ์ เนื่องจากผู้ใช้บริการเปลี่ยนการใช้กระดาษเป็นการจัดส่งผ่านช่องทางอื่นแทน และมีจำนวนผู้ประกอบการในประเทศ และต่างประเทศเข้ามาแข่งในธุรกิจขนส่งจำนวนมาก
โดยเฉพาะการส่งแบบด่วนพิเศษ (Express) รวมถึงการขยายตลาดของคู่แข่งรายเก่า ทั้งยังต้องเผชิญการแข่งขันในอุตสาสาหกรรมโลจิสติกส์ที่สูง พฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนไป
ลงทุนเครื่องคัดแยกอัจฉริยะ
อย่างไรก็ตาม จากการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ โดยตัวเลขเมื่อปี 2562 ยอดสิ่งของฝากส่งผ่าน ปณท มีมากถึง 3,000 ล้านชิ้น คาดว่าปีนี้ยอดจัดส่งยังคงเติบโตสูงมาก ปีที่แล้วปณท ใช้งบกว่าพันล้านติดตั้งเครื่องคัดแยกพัสดุแบบกล่องอัจฉริยะ (Cross Belt Sorter) คัดแยกสิ่งของได้กว่า 6,500,000 ชิ้นต่อเดือน ปีนี้จะติดตั้งเครื่องดังกล่าวที่ศูนย์ไปรษณีย์อีก 7 แห่ง รวมเป็น 9 เครื่อง รองรับปริมาณงานได้ 60,000,000 ชิ้นต่อเดือน และจะติดตั้งให้ครบ 18 เครื่องในปี 2566 รองรับปริมาณงานกว่า 120 ล้านชิ้นต่อเดือน
การนำเครื่อง Cross Belt Sorter มาใช้ เพื่อรับมือปริมาณงานที่เพิ่มขึ้น สอดรับการสำรวจของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ หรือเอ็ตด้า ที่ระบุว่ามูลค่าตลาดธุรกิจอีคอมเมิร์ซปีมีแนวโน้มโตขึ้นทุกปี และคาดว่าจากนี้จนถึงปี 2565 อีคอมเมิร์ซไทยจะเติบโตขึ้นเฉลี่ยปีละ 22% งานขนส่งโลจิสติกส์จึงเป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อนการค้าขายออนไลน์ ซึ่งคาดการณ์ว่าปริมาณสิ่งของที่เข้าสู่ระบบจะเพิ่มสูงขึ้น
อีคอมเมิร์ซ ล้านล้าน ดันโลจิสติกส์โต
อีไอซี ยังระบุด้วยว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจโลจิสติกส์น่าจับตาเป็นพิเศษ คือ การสนับสนุนหลักจากการซื้อขายสินค้าผ่านอีคอมเมิร์ซที่มูลค่าตลาดยังเติบโตต่อเนื่อง ตลาดธุรกิจขนส่งพัสดุ (Parcel delivery) เติบโตมากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2560-2562) ขยายตัวได้เฉลี่ย 40% ต่อปี สอดคล้องกับตลาดอีคอมเมิร์ซไทยที่โตเฉลี่ย 18% ต่อปี ตัวเลขอีคอมเมิร์ซของไทยปี 2561 อยู่ที่ 3 ล้านล้านบาท ปีนี้ คาดว่า จะโตอย่างต่ำ 30% ขึ้นไป การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค ซื้อสินค้าผ่านออนไลน์ คาดว่าการขนส่งพัสดุปี 2563 จะมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 4 ล้านชิ้นต่อวัน
ด้านการแข่งขัน ธุรกิจขนส่งพัสดุมีแนวโน้มแข่งขันด้านราคารุนแรง การเข้ามาแย่งชิง ส่วนแบ่งตลาดของผู้ประกอบการรายใหม่ ในปี 2561 ตลาดขนส่งพัสดุประกอบด้วยผู้เล่นในรายใหญ่ 3 ราย ครองส่วนแบ่งตลาดรวมกันกว่า 80% ได้แก่ ไปรษณีย์ไทย เคอรี่ เอ็กซ์เพรส ลาซาด้า เอ็กซ์เพรส และผู้เล่นรายกลางอื่นๆ อีกหลายราย ขณะที่ 2 ปีที่ผ่านมา ผู้เล่นรายใหญ่หลายรายจากต่างประเทศ เริ่มเข้ามาลงทุนในตลาดขนส่งพัสดุของไทยด้วย
อีไอซี มองว่า 3 แนวทางหลักในการปรับตัวให้อยู่รอดในธุรกิจนี้ คือ 1.เป็นพันธมิตรกับออนไลน์ แพลตฟอร์มที่หลากหลายเพื่อเพิ่มปริมาณขนส่งพัสดุ 2.สร้างความต่างเน้นให้บริการลูกค้าเฉพาะกลุ่ม และยกระดับบริการเพื่อสร้างจุดแข็งให้แบรนด์ตัวเอง และ 3.สร้างความร่วมมือระหว่างผู้ให้บริการขนส่งพัสดุด้วยกันเอง เป็นเครือข่ายธุรกิจและร่วมทุนกับบริษัทขนส่งต่างชาติที่ต้องการเปิดตลาดในไทย
'ค่าบริการ'หนึ่งในตัวแปรดึงยอดผู้ใช้
ขณะที่ อีไอซี วิเคราะห์ว่า ผู้ให้บริการขนส่งพัสดุรายเดิมยังมีโอกาสเผชิญกับการแข่งขันจากผู้ให้บริการรับ-ส่งสินค้าตามความต้องการ ซึ่งให้บริการด่วนภายใน 1 ชั่วโมง ตลอด 24 ชั่วโมง เช่น ลาลามูฟ ไลน์แมน แกร็บเอ็กซ์เพรส แต่จะมีอัตราค่าบริการที่สูงกว่าการขนส่งพัสดุแบบเดิมราว 2 เท่า
ด้วยเหตุนี้ การลดราคาจึงเป็นวิธีหลักในการแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดของผู้ให้บริการรายใหม่สะท้อนได้จากอัตราค่าบริการขนส่งพัสดุเริ่มต้นที่ปรับลดลงจากราว 35 บาทในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเป็น 19 บาทในปัจจุบัน อีกทั้งในอนาคตอัตราค่าบริการมีโอกาสปรับลดลงอีก