เทคโนโลยีที่รอคอย 'Restart ชีวิตหลังโควิด'

เทคโนโลยีที่รอคอย 'Restart ชีวิตหลังโควิด'

เราจะ Restart ธุรกิจรวมถึงระบบเศรษฐกิจของโลกกันใหม่อีกครั้ง ได้เร็วที่สุดเมื่อไร คงเป็นคำถามที่เราทุกคนอยากรู้มากที่สุดในเวลานี้ แต่การจะกลับมาอนุญาตให้ภาคธุรกิจเปิดดำเนินการอีกครั้งหรือ “เปิดเมือง” ในประเทศเราก็คงต้องค่อยเป็นค่อยไปตามแต่ละความจำเป็น

ตามที่ได้เห็นข่าวประกาศจาก ศบค. กันแล้ว ในเพื่อนบ้านเราอย่างมาเลเซียก็เพิ่งประกาศอนุญาตให้ภาคธุรกิจส่วนใหญ่กลับมาเปิดดำเนินการได้ตามปกติอีกครั้งเมื่อวันที่ 4 พ.ค.ที่ผ่านมาท่ามกลางความเสี่ยง ในสหรัฐอเมริกาก็ออกมาประท้วงให้ยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ หรือ การกักตัวอยู่ในบ้านและหยุดกิจกรรมทางธุรกิจที่เสี่ยงทั้งหมด ในไม่ช้าทุกประเทศก็ต้องกลับมาเปิดประเทศอีกครั้ง แต่ก็ยังคงมีมาตรการควบคุมโรคระบาดที่เข้มงวดและรักษาระยะห่างทางสังคมต่อไปอีกระยะ

แต่ก็มีข้อโต้แย้งและความกังวลจากฝั่งบุคลากรผู้ดูแลสาธารณสุขว่า ถ้าเราเลิกล็อกดาวน์กันเร็วเกินไป อาจจะเกิดการระบาดระลอกที่ 2 หรือ Second Wave ก็เป็นไปได้และจะระบาดรุนแรงกว่าเดิมอีก ดังนั้น เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่า ถ้าเปิดเมืองและเปิดประเทศแล้วจะไม่เกิดวิกฤติอีกครั้ง บางคนคงบอกว่า ต้องรอจนกว่าการค้นพบวัคซีนสำเร็จและใช้ได้ผล รวมถึงผลิตได้เป็นจำนวนมากเพียงพอให้ทุกคนบนโลกได้ใช้มัน แต่อย่างเร็วที่สุดก็ต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 12-18 เดือน ซึ่งถ้าทำได้สำเร็จก็ถือว่าเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์แล้ว หรือไม่ก็ต้องค้นพบยารักษาที่ได้ผล เพราะว่าการล็อกดาวน์ไม่ใช่การเอาชนะโรคโควิด-19 ร้ายนี้ได้ เป็นเพียงการหยุดการแพร่ระบาดเท่านั้น 

158868996867

องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ก็ได้ออกมาบอกว่า สิ่งที่ทำได้ดีที่สุดในการจะกลับมาหยุดการแพร่ระบาดโดยให้เศรษฐกิจและธุรกิจกลับมาเดินต่อไปได้ก็คือ “Test, Test and Test” นั่นหมายถึงการตรวจหาผู้ติดเชื้อให้ได้รวดเร็ว แม่นยำและตั้งแต่ระยะเริ่มแรกที่สุดก่อนจะไปแพร่เชื้อให้ผู้อื่น โดยต้องตรวจหาเชื้อในร่างกายเราโดยตรง ไม่ใช่ตรวจหาภูมิต้านทานต่อโรคหลังจากได้รับเชื้อไปแล้วระยะหนึ่งซึ่งไม่ทันการณ์

เราจึงต้องหาวิธีการตรวจแบบ Mass Screening หรือการคัดกรองขนานใหญ่ เพื่อแยกผู้ติดเชื้อไปกักกันไว้ให้มากที่สุดและเร็วที่สุด ปัจจุบันสหรัฐอเมริกาซึ่งถือว่ามีระบบสาธารณสุขที่พร้อมที่สุดในโลก สามารถตรวจหาผู้ติดเชื้อได้มากถึง 200,000 คนต่อวัน แต่ก็ยังไม่เพียงพอ มีการคาดการณ์ว่า ถ้าสหรัฐอเมริกาจะดำเนินการทางเศรษฐกิจตามปกติได้ ต้องสามารถตรวจคัดกรองได้มากถึง 20 ล้านคนต่อวัน หรือประมาณ 100 เท่าของจำนวนการตรวจในปัจจุบันที่ทำได้ และรวมไปถึงการที่เราสามารถตรวจคัดกรองได้เองที่บ้านได้อีกด้วย

158869002141

ดังนั้น สหรัฐอเมริกาเพิ่งอนุมัติงบประมาณ 25,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 800,000 ล้านบาท เพื่อการตรวจหาเชื้อไวรัสให้กับพลเมืองในประเทศให้ได้มากที่สุด นับว่าเป็นความท้าทายต่อวงการวิทยาศาสตร์และวิจัยอย่างมาก มีการระดมสมองกันถึงแนวทางการลดขั้นตอนการตรวจหาเชื้อให้น้อยและง่ายที่สุด มีตั้งแต่วิธีการบริหารจัดการง่ายๆ เช่น ลดการเชื่อมต่อข้อมูลบุคคลซึ่งต้องกรอกข้อมูลด้วยมือ เป็นการใช้คิวอาร์โค้ดบนโทรศัพท์มือถือ การตรวจแบบรวมกลุ่ม (Pooled sample screening) การวิจัยและพัฒนาหาวิธีการตรวจคัดกรองอย่างง่ายด้วยการใช้น้ำมูกหรือน้ำลายแทนการเก็บเสมหะจากลำคอ

158869005934

การผลิตชุดตรวจที่ผู้สงสัยหรือมีความเสี่ยงให้สามารถใช้ตรวจได้เองที่บ้านหรือที่ทำงานโดยไม่ต้องอาศัยบุคลากรเชี่ยวชาญทางการแพทย์ ไปจนถึงการหาทางปรับใช้เทคโนโลยีการตรวจหาลำดับพันธุกรรมดีเอ็นเอในยีนของมนุษย์ที่มีหลายล้านคู่ในเวลาอันรวดเร็วด้วยเครื่องมือที่ทันสมัยที่เรียกว่า DNA Sequencing Machine ที่มีอยู่ทั่วโลกมาใช้ในการนี้

"หวังว่านักวิจัยจะประสบความสำเร็จในเร็ววัน เพื่อให้ชีวิตของเรากลับมาเหมือนเดิมเป็นปกติอีกครั้ง"

โดย : ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ สวทช.,เมธีวิจัยอาวุโส สกว.