มข.ตอบโจทย์สมาร์ทซิตี้ดึง 'เอไอ' พยากรณ์โควิดระดับจว.
มข.ตอบโจทย์ขอนแก่นเมืองอัจฉริยะ ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศประเมินสถานการณ์โควิด-19 ระดับจังหวัด ดึงเอไอวิเคราะห์ประมวลผลข้อมูล สร้างโมเดลคณิตศาสตร์พยากรณ์ล่วงหน้า 30 วัน ช่วยฝ่ายบริหารสร้างกลยุทธ์กำหนดนโยบายเมืองและมาตรการรับมือโรคระบาดได้รวดเร็ว
https://smartcity.kku.ac.th เป็นแพลตฟอร์มภายใต้โครงการการพัฒนาขอนแก่นให้กลายเป็นเมืองอัจฉริยะ ที่มีความสะดวกสบาย เดินทางง่าย มีเทคโนโลยีนวัตกรรมที่ชาญฉลาดรองรับไลฟ์สไตล์ของผู้อยู่อาศัย โดยในเว็บไซต์ประกอบด้วยข้อมูลสำคัญ 6 ด้าน ได้แก่ สมาร์ทโมบิลิตี้ สมาร์ทลิฟวิ่ง สมาร์ทอิโคโนมี่ สมาร์ทซิติเซ่น สมาร์ทเอนไวรอนเมนต์ สมาร์ทกอฟเวอร์เมนต์ ต่อมาเมื่อประเทศไทยเผชิญสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ทีมวิจัยในโครงการฯ จึงได้พัฒนาเพิ่มข้อมูลเกี่ยวกับโรคโควิด-19 เพื่อที่จังหวัดขอนแก่นจะสามารถประเมินความเสี่ยง และ วางแผนการกำหนดนโยบายได้อย่างรัดกุมที่สุด
เอไอทำนายล่วงหน้า 30 วัน
รศ.วนิดา แก่นอากาศ ผู้อำนวยการสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) และนักวิจัยในโครงการ KKU Smart City เปิดเผยว่า แพลตฟอร์มออนไลน์ดังกล่าวเปิดใช้อย่างเป็นทางการในช่วงปี 2561 มีข้อมูลการใช้ชีวิตใน จ.ขอนแก่น ต่อมาในช่วงที่มีความเสี่ยงเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 คณะทำงานจึงคิดว่าควรจะมีข้อมูลว่า ขณะนี้ในจังหวัดอยู่ในระดับใดรวมอยู่ด้วย
ปัจจุบันแพลตฟอร์มออนไลน์นี้จึงเป็นแหล่งสารสนเทศที่รวบรวมทุกแหล่ง และทุกปัจจัยที่น่าจะเกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19 ประกอบด้วย ข้อมูลเป็นสถิติโลก ข้อมูลประเทศไทย ข้อมูลระดับภูมิภาค ข้อมูลขอนแก่น ระบบพยากรณ์ล่วงหน้า 30 วันด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) บุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาลจังหวัดขอนแก่น นวัตกรรมต้านภัยโควิด-19 ข้อมูลกลุ่มเสี่ยง เส้นทางบินทั่วโลก การบินภายในประเทศ
“ลักษณะการทำข้อมูลแบบนี้ เราได้ความรู้พื้นฐานที่ดีมาจากสิงคโปร์ เช่น จาก 1 เคสเขาจะแตกรายละเอียดว่าคนนี้มีกิจกรรมในแต่ละช่วงเวลาไปสัมผัสกับใคร เป็นก้อนเน็ตเวิร์กที่ทำให้เราเห็นว่า เคสที่ต้องเฝ้าระวัง 1 คนได้ไปสถานที่นี้ ซึ่งมีจำนวนคนอยู่เท่าไหร่ จะเป็นซูเปอร์สเปรดเดอร์หรือเป็นแค่คนที่หลงเข้าไปบริเวณนั้นแล้วติด หรือว่าอยู่ๆ ก็เป็น ซึ่งตรงนี้ยังไม่มีที่ไหนทำ"
ฉะนั้น การที่จะเป็นเมืองอัจฉริยะได้นั้นต้องมีสารสนเทศที่ทำให้ประเมินสถานการณ์ได้ว่า ตอนนี้ขอนแก่นอยู่ในสถานการณ์ที่รับได้หรือไม่ คณะทำงานจึงพยายามนำข้อมูลสารสนเทศมาประมวลผลให้มากที่สุด ไม่ใช่แค่ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น แต่ยังมีหัวข้อที่น่าสนใจ เช่น การพยากรณ์สถานการณ์ล่วงหน้า 30 วันโดยใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ในการวิเคราะห์ประมวลผลข้อมูลที่ผ่านมา แม้ว่าเว็บไซต์นี้จะเป็นข้อมูลด้านสถิติ แต่การนำเสนอจะออกแบบมาให้เข้าใจง่าย โดยการสร้างภาพ แผนผังหรือภาพเคลื่อนไหว ที่คนทั่วไปสามารถอ่านเข้าใจได้ว่า แนวโน้มที่จะโค้งลงหรือจะพุ่งขึ้น
หวังแชร์โมเดลให้ จว.อื่นๆ
ในการรวบรวมข้อมูล คณะทำงานจะรวบรวมข่าวในแต่ละวันจากทั่วโลกและทั่วประเทศ มาสกัดและใส่ในเว็บไซต์เป็นประจำทุกวันเพื่อให้ทันต่อเหตุการณ์ แม่นยำเมื่อนำไปใช้ ฉะนั้น การทำเว็บไซต์นี้จึงไม่ได้มุ่งหวังการเป็นเพียงนวัตกรรมของการรวบรวมข้อมูล แต่การส่งต่อและการถูกเผยแพร่นำไปใช้จริง คือ ประโยชน์สูงสุดที่เกิดจากการแบ่งปันข้อมูลที่มีประโยชน์ร่วมกัน
“ในอนาคตเราจะต้องเพิ่มข้อมูลเรื่องผู้ประกอบการ ที่มีผลกระทบที่ถูกปิดมีจำนวนเท่าไหร่ ซึ่งสักพักอาจจะคาดการณ์ได้ว่าอาจจะมีเรื่องของอาชญากรเกิดขึ้น หรือ อาจจะมีเรื่องของโรคซึมเศร้า ฆ่าตัวตายและอาจจะมีเรื่องพวกนี้ให้ตัดสินใจว่า ถ้าสมมติว่ามีการปิดกิจการยาว จะมีความปลอดภัยหรือไม่ อย่างไร"
"การทำแพลตฟอร์มนี้จึงเป็นการแชร์ข้อมูลความรู้ ไม่ใช่แค่เรื่องการใช้นวัตกรรมให้ได้ผลงานแต่เพียงอย่างเดียว แต่ คือการที่จังหวัดอื่นสามารถนำแนวคิดนี้ไปใช้ได้ ถ้าเมืองเราแชร์องค์ความรู้กัน เราไปช่วยกันใช้ ช่วยกระจาย เมืองเราก็ปลอดภัย เพราะฉะนั้นนอกจากจะเป็นประโยชน์กับประชาชนแล้ว ยังมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อระดับผู้บริหาร ผู้กำหนดนโยบาย ผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจถ้าตัดสินใจถูกทางก็จะไปถูกทาง การจะเป็นเมืองอัจฉริยะได้จะต้องมีกลยุทธ์ในด้านการใช้ข้อมูลที่ชัดเจนเอาไว้วางแผนนั่นเอง” รศ.วนิดา กล่าว